องค์กรเพื่อสันติภาพเเละสิทธิมนุษยชน นำองค์กรภาคีจัดเสวนากรณี “การประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล” พร้อมออกแถลงการณ์ประณามและคัดค้าน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล
วันนี้ (อาทิตย์ 10 ธ.ค. 60) เวลา 13.30-15.30 น. องค์กรเพื่อสันติภาพเเละสิทธิมนุษยชน หรือ “โอพีเอชอาร์” (OPHR) พร้อมด้วยองค์กรภาคีได้จัดประชุมเสวนาและแถลงการณ์กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ณ โรงแรมอัลมีรอซ ถนนรามคำแหง
วาระการเสวนาสำคัญของงานครั้งนี้อยู่ที่ประเด็น “การประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล” ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมี ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม และ อ.การุณ กูใหญ่ นักวิชาการมุสลิม เป็นผู้นำเสวนา พร้อมผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 30 คน
ก่อนปิดการเสวนาได้มีการอ่านแถลงการณ์คัดค้านและประณามการประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล” ด้วย 3 ภาษา ซึ่งลงนามโดย 4 องค์กร ได้แก่ องค์กรเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน, สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม, ศูนย์สารสนเทศอิสลาม และชมรมนักกฏหมายมุสลิม
โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเลขที่ 2334 วันที่ 23 ธันวาคม 2559 เกี่ยวกับความกังวลเรื่องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับชาวอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองตั้งแต่ ค.ศ.1967 ซึ่งรวมถึงด้านตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็มด้วย
“มติดังกล่าวมีรายละเอียดคือ การดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับชาวอิสราเอล เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรากฎชัด และไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย จึงมีความต้องการให้อิสราเอลยุติการกระทำดังกล่าว และปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นอำนาจที่เข้ายึดครองภายใต้การประชุมเจนีวาครั้งที่ 4” แถลงการณ์ของ “โอพีเอชอาร์” ระบุ
“ตามมตินี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับชาวอิสราเอลในเขตเยรูซาเล็มก็เป็นการละเมิดข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศ” แถลงการณ์ “โอพีเอชอาร์” ชี้ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “ดังนั้นการที่อิสราเอลประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของตนเอง โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุน จึงไม่เพียงเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
ด้วยเหตุนี้ “เครือข่ายองค์กรมุสลิมในประเทศไทย จึงขอคัดค้านและประณามการที่อิสราเอลจะประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล โดยการสนับสนุนของสหรัฐฯ เนื่องจากเยรูซาเล็มเป็นเมืองของนานาชาติ ซึ่งศาสนิกทั้งสามศาสนา คือ คริสต์ อิสลาม และยูดาย มีสิทธิ์ร่วมกันโดยบริบูรณ์ เป็นสิ่งที่นานาชาติให้การยอมรับ และสหประชาชาติก็มีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมากและตลอดมา” แถลงการณ์ระบุ