“อะเฮด ตะมีมี” ไอดอลหญิงวัยทีน แห่งขบวนการต่อสู้ปาเลสไตน์

การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์และเด็กที่ถูกทารุณกรรมภายใต้การยึดครองของอิสราเอลได้เข้าสู่จุดสนใจระดับนานาชาติด้วยความช่วยเหลือของ “อะเฮด ตะมีมี” เด็กสาวผมบลอนด์หยิก วัย 16 ปี ที่ไล่ทหารอิสราเอล 2 นายซึ่งมายืนใกล้ทางเข้าบ้านของเธอ เธอทั้งผลัก ดัน และเตะทหารทั้งสองที่ดื้อด้านไม่ยอมไป แถมเธอยังคงตบและต่อยหน้าพวกเขาด้วย!!

“อะเฮด ตะมีมี” (Ahed Tamimi) เป็นเด็กสาวปาเลสไตน์วัย 16 ปี จากหมู่บ้าน “นาบี ซาและห์” (Nabi Saleh) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองรามัลเลาะห์ เขตเวสต์แบงก์

เธอคือสาววัยรุ่นผมบลอนด์หยิกที่เดินไปหาทหารอิสราเอล 2 นายที่มายืนใกล้ทางเข้าบ้านของเธอ -บางรายงานระบุว่าทหารจะขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเธอเพื่อยิงกระสุนยางไปยังผู้ชุมนุม-

เธอเอ่ยปากไล่ทหารอิสราเอลพร้อมทั้งจ้องมองพวกเขาด้วยสายตาอาฆาต จากนั้นเธอทั้งผลัก ดัน และเตะทหารทั้งสองที่ดื้อด้านไม่ยอมทำตาม แถมเธอยังคงตบพวกเขาด้วย!!

เมื่อคลิปเหตุการณ์นี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลจนกลายเป็นไวรัล ทหารอิสราเอลจึงได้บุกเข้าจับกุมตัวเธอในกลางดึก พร้อมตั้งข้อหา 12 กระทง

นักสู้โดยกำเนิด

การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์และเด็กที่ถูกทารุณกรรมภายใต้การยึดครองของอิสราเอลได้เข้าสู่จุดสนใจระดับนานาชาติด้วยความช่วยเหลือของ “อะเฮด ตะมีมี” เธอไม่ใช่คนแปลกหน้าในการต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์ ว่าไปแล้วเธอต้องเผชิญหน้ากับผู้กดขี่มากเกินไปด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับอายุอันน้อยนิดของเธอ

ตั้งแต่วัยเยาว์เธอได้รับการยกย่องจากนักเคลื่อนไหวและประชาคมระหว่างประเทศในเรื่องความกล้าหาญและหัวใจนักสู้ที่เผยให้เห็นในระหว่างเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล ในหมู่บ้านนาบี ซาและห์ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์มาเป็นเวลาหลายปี นับแต่ปี 2009

“นาบี ซาและห์” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ และงดงามท่ามกลางทิวเขา ถ้าเป็นโลกปรกติคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่ง แต่แทนที่จะได้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว หมู่บ้านแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์ของไซออนิสต์ที่โดดเด่น

อะเฮด ตะมีมี เริ่มเข้าร่วมการประท้วงตั้งแต่วัยเยาว์ เธออายุเพียง 8 ขวบก็กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ เมื่ออายุได้ 11 ปีเธอโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อนักกิจกรรมหนุ่มคนหนึ่งได้เผยแพร่วิดีโอและชุดรูปถ่ายขณะเธอพร้อมกับแม่และป้าของเธอพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยมูฮัมหมัด น้องชายที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกจับกุมโดยกองทัพอิสราเอล

อีกสองปีต่อมา อะเฮด ตะมีมี ได้รับรางวัล “Handala Courage Award” ในตุรกี

ภาพของอะเฮด ตะมีมี ที่กำลังยืนอยู่ประจันหน้ากับทหารอิสราเอลอย่างไม่สะทกสะท้าน นำไปสู่การได้รับคำเชิญให้ไปพบกับนายกรัฐมนตรีตุรกี นายเรเจบ ตอยยิบ เออร์โดกัน ในปี 2015

ภาพของหญิงสาวที่กัดมือของทหารอิสราเอลคนหนึ่งที่กำลังพยายามจับกุมพี่ชายของเธอกลายเป็นภาพสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ไปทั่วโลก

ชื่อเสียงของเธอในฐานะนักกิจกรรมวัยทีนไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ

เพราะครอบครัว “ตะมีมี” นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้านซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขาในฐานะผู้มีบทบาทนำในเรื่องการต่อต้านการยึดครองที่ทำกินและการล่าอาณานิคมของอิสราเอล

พ่อของเธอ บัสเซม ตะมีมี (Bassem Tamimi) ก็เคยถูกจับกุมและได้รับการสอบสวนหลายครั้งโดยกองทัพอิสราเอล  ในปี 2012 (พ.ศ. 2555) บัสเซมได้รับการเรียกว่า “นักโทษด้านมโนธรรม” (prisoner of conscience) โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ ในระหว่างที่เขาถูกขังครั้งหนึ่งจากหลายๆ ครั้งในคุกอิสราเอล

นอกจากนั้นทั้ง แม่ ป้า ลูกพี่ลูกน้อง และญาติคนอื่นๆ ขอเธอก็ล้วนเคยถูกทหารอิสราเอลจับกุมมาแล้ว แม้กระทั่งลุงของเธอคนหนึ่งก็ถูกทหารอิสราเอลยิงจนเสียชีวิต

การจับกุมฮีโร่แห่งปาเลสไตน์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลบุกเข้าจับกุมอะเฮด ตะมีมี  พร้อมมารดาและลูกพี่ลูกน้องของเธอจากบ้านพักที่หมู่บ้านนาบี ซาเลห์ ชานเมืองรามัลเลาะห์ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา หรือ 4 วันหลังปรากฏคลิปบนสื่อสังคมออนไลน์หลายแห่งและกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก

บัสเซม พ่อของอะเฮด บอกว่า ทหารอิสราเอล 30 คนบุกเข้าไปในบ้านตอนตี 3  อะเฮดถูกใส่กุญแจมือและนำขึ้นรถจี๊ปของกองทัพอิสราเอลออกไป ครอบครัวถูกขัดขวางไม่ให้ออกไปข้างนอก ในระหว่างการจู่โจมทหารอิสราเอลได้ยึดแล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ของครอบครัวไปด้วย

โฆษกกองทัพอิสราเอลกล่าวหาอะเฮดว่า มีส่วนร่วมในการประท้วงด้วยความ “รุนแรง” ที่ทำให้ “ทหารและเจ้าหน้าที่ไอดีเอฟ (IDF) ถูกทำร้าย” แต่กระนั้น บัสเซม ตะมีมี กล่าวว่า การเล่าเรื่องของอิสราเอลไม่ได้พูดการที่กองกำลังอิสราเอลได้ยิงกระสุนแก๊สน้ำตาที่บ้านของพวกเขาซึ่งมีวิดีโอที่ถูกถ่ายไว้ได้ทันที

ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ในการประท้วงเมื่อวันศุกร์ มูฮัมหมัด ลูกพี่ลูกน้องวัย 14 ปีของอะเฮด ก็ถูกยิงด้วยกระสุนยาง เขาต้องตกอยู่ในอาการโคม่าและอยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์ และฟื้นขึ้นมาหลังจาก 72 ชั่วโมงต่อมา

เธอและครอบครัวตะมีมีบอกว่า หนึ่งในสองทหารที่มายืนหน้าบ้านจนปะทะกับอะเฮดเป็นคนที่ยิงลูกพี่ลูกน้องเธอ หรืออยู่ในกลุ่มที่ยิง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโต้แทนสมาชิกในครอบครัว

อะเฮด ตะมีมี ถูกตั้งข้อหา 12 กระทงจากรัฐบาลไซออนิสต์

การจับกุมผู้เยาว์ปาเลสไตน์ของทหารอิสราเอล

ไฮไลท์ของการจับกุม อะเฮด ตะมีมี อยู่ที่การกักขังผู้เยาว์ชาวปาเลสไตน์โดยทหารของอิสราเอล

องค์กรเพื่อการปกป้องเด็ก นานาชาติ-ปาเลไสตน์ (Defense for Children International-Palestine) ซึ่งเป็นองค์กรในท้องถิ่นกล่าวว่า ตามสถิติล่าสุดที่ออกโดยหน่วยงานของอิสราเอล มีชาวปาเลสไตน์ 331 คนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีซึ่งถูกกักขังทางทหารเมื่อเดือนพฤษภาคม องค์กรปกป้องเด็กกล่าวว่า ในปี 2016 (พ.ศ.2569) มีผู้ต้องขังอยู่ในสถานกักกันเฉลี่ย 375 รายในแต่ละเดือน

การจับกุม กักขัง และตั้งข้อหาต่อ อะเฮด ตะมีมี แสดงถึงการละเมิดข้อผูกพันของอิสราเอลภายใต้ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” (Convention on the Rights of the Child) ของสหประชาชาติตามข้อ 37 “การจำคุกกักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม”

สำหรับทุกคนที่ได้เห็นวิดีโอ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงหรือเป็นการข่มขู่ต่อชีวิตหรือความเป็นอยู่ของทหาร กระบวนการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของนโยบายการเลือกปฏิบัติของอิสราเอลที่กระทำต่อเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์

อะเฮด ตะมีมี อยู่ในประเทศของเธอเอง ในบ้านของเธอเอง ตบของเธอไม่ได้ก่อให้เกิดอันตราย และเป็นเพียงความพยายามแสดงการต่อต้านการยึดครองเชิงสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่เด็กๆ ปาเลสไตน์จะทำได้

อะเฮด ตะมีมี และ มาลาลา ยูซัฟไซ?

ไม่นานหลังจากที่ อะเฮด ตะมีมี ถูกจับกุม นักวิชาการและนักวิเคราะห์บางส่วนได้ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า ทำไมโลกถึงได้ให้การสนับสนุน “มาลาลา ยูซัฟไซ” (Malala Yousafzai) แต่ไม่ใช่สำหรับ อะเฮด ตะมีมี??

ทั้งสองคนเป็นหญิงสาวที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและการกดขี่อันโหดร้าย และทั้งสองมีส่วนที่ต้องเผชิญเหมือนๆ กัน ความตั้งใจเดียวกัน และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม

แต่อะเฮดแตกต่างจากมาลาลา ที่ยังไม่ได้รับคำเชิญให้ไปพบกับผู้นำโลก หรือเพื่อไปยังสหรัฐฯ หรือสหประชาชาติ

มิหนำซ้ำ เพิ่งเมื่อปีที่แล้วนี่เองที่ อะเฮด ตะมีมี ถูกปฏิเสธการให้วีซ่าโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หลังจากที่เธอได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาในเรื่อง ‘No Child Behind Bars / Living Resistance’ เพื่อพูดถึงความอยุติธรรมที่ชาวปาเลสไตน์เผชิญอยู่ พ่อของเธอก็ถูกปฏิเสธวีซ่าเพื่อพูดในออสเตรเลีย

แม้อะเฮดไม่ต้องทนทุกข์ทรมานทางร่างกายเหมือนมาลาลาหรือถ้ามีก็น้อยกว่า แต่เธอก็ไม่มีความหรูหราเหมือนอย่างมาลาลาที่ได้รับการ “ช่วยเหลือ” โดยอดีตเจ้าอาณานิคม ที่ให้สัญชาติ, ได้รับรางวัลโนเบล. และถูกโปรโมทไปทั่วโลกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่สตรีมุสลิมสามารถทำได้และควรเป็น

หรือสาเหตุเพราะมาลาลาได้ต่อสู้กับกลุ่มตอลิบาน ศัตรูที่อเมริกาเกลียดชัง ขณะที่อะเฮดกำลังต่อสู้กับอิสราเอล ซึ่งเป็นสุดที่รักอเมริกา ??

และตราบเท่าที่โลกยังไม่มีความเข้าใจว่า “การปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลนั้นคือภาพสะท้อนถึงการปฏิบัติต่อผู้หญิงของตอลิบาน” ตราบนั้นก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็น อะเฮด ตะมีมี ได้รับการสนับสนุนจากโลกเหมือนเช่น มาลาลา ยูซัฟไซ!!

การกักขัง อะเฮด ตะมีมี เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการจับกุมชาวปาเลสไตน์เกือบ 600 คนโดยกองกำลังยึดครองของอิสราเอลหลังโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศรับรองเยรูซาเล็มว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลในวันที่ 6 ธันวาคม 2017 และการประท้วงก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

ในอิสราเอลเยาวชนเช่นเธออาจถูกมองว่าเป็นเด็กไร้เดียงสาที่ถูกครอบงำโดยผู้ใหญ่ แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์พวกเขายอมรับว่า วัยรุ่นเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในการยืนหยัดต่อสู้กับการปกครองของอิสราเอล

“เราจำเป็นต้องสร้างอำนาจให้แก่ลูกหลานของเรา และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาไม่ควรกลัวที่จะเผชิญหน้ากับผู้ยึดครอง” บัสเซม พ่อของอะเฮด ตะมีมี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า และกล่าวเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากไม่มีสถานที่ที่ปลอดภัยในปาเลสไตน์สำหรับเราในการส่งลูกไป เราจึงจำเป็นต้องสอนพวกเขาว่า จงเข้มแข็ง จงยำเกรง และจงต่อต้านเถิด”

อะเฮดเคยฝันถึงการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ตอนนี้เธออยากเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยบิร์ซีท (Birzeit University) แต่การกักกันและตั้งด่านตรวจอย่างต่อเนื่องในหมู่บ้านทำให้บ่อยครั้งที่เธอไม่สามารถไปโรงเรียน รวมทั้งการจับกุมคุมขังในช่วงสอบปลายภาคก็จะทำให้เธอไม่สามารถจบชั้นมัธยมปลายได้

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้ อะเฮด ตะมีมี คือฮีโร่และสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และเราหวังว่าคงจะได้เห็นเธอเป็นหนึ่งผู้นำขบวนการต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลในอนาคต!