“ลอรีอัล” สร้างประวัติศาสตร์ใช้บล็อกเกอร์มุสลิมสวมฮิญาบร่วมแคมเปญดูแลผม แต่ต้องยุติเพราะเธอวิจารณ์อิสราเอล

ลอรีอัล ปารีส (L’Oréal Paris) ประเทศอังกฤษ สร้างประวัติศาสตร์ของแบรนด์ด้วยการใช้บล็อกเกอร์สาวมุสลิมสวมฮิญาบ “อามีนา ข่าน” (Amena Khan) มาร่วมแคมเปญดูแลผม แต่เพียงไม่กี่วันเธอก็ได้ตัดสินใจยุติบทบาทหลังถูกโจมตีจากฝ่ายขวาจัด กรณีเธอวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลที่ทำสงครามต่อฉนวนกาซา ในปี 2014

แคมเปญใหม่นี้ของลอรีอัลดำเนินการภายใต้สโลแกน “โลกแห่งการดูแลเส้นผมของคุณ” (a world of care for your hair) โดยได้มีการใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียงและผู้มีอิทธิพลต่อสังคมชาวอังกฤษที่มีความหลากหลาย ทั้งนางแบบ ศิลปินหนุ่ม และบิวตี้บล็กเกอร์ มาโปรโมตผลิตภัณฑ์

แต่ที่สร้างความฮือฮาก็คือการนำ “อามีนา ข่าน” บิวตี้บล็อกเกอร์มุสลิมชาวอังกฤษมาร่วมแคมเปญ ซึ่งถือว่าเป็นการนำบุคคลสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมผม) มาร่วมแคมเปญเป็นครั้งแรกของแบรนด์ชื่อดัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีถึงสิทธิสตรีมุสลิมในอุตสาหกรรมความงาม เป็นการสร้างทัศนคติใหม่ๆ ในสังคมได้

อามีนา ข่าน นั้นเป็นผู้บุคคลผู้มีอิทธิพลต่อสังคม (Influencer) คนหนึ่ง เธอเป็นทั้งนางแบบ บล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ (Youtuber) ซึ่งในยูทูปนั้น (YouTube) เธอมีคนติดตามถึง 320,000 คน และในอินสตาแกรม (Instagram) มีผู้ติดตามถึง 570,000 คน นอกจากนั้นเธอยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เครื่องสำอาง Ardere Cosmetics และออกแบบชุดคลุมศีรษะที่มีสไตล์ของตัวเองขายแบบออนไลน์ด้วย

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้กับนิตยสารโว้ก (Vogue) อามีนา ข่าน กล่าวว่า “มีกี่แบรนด์กันเชียวที่-กล้า-ทำแบบนี้? คงไม่มากนัก”

“พวกเขาได้นำสาวในชุดคลุมศีรษะ -ผู้ที่คุณมองไม่เห็นเส้นผมของเธอ- มาใส่ในแคมเปญเกี่ยวกับผม เพราะสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างแท้จริงผ่านแคมเปญนี้ก็คือ “เสียง” ที่เรามี “เธอบอกกับนิตยสาร

ก้าวย่างดังกล่าวของลอรีอัลได้รับการยกย่องจากแฟชั่นบล็อกเกอร์ต่างๆ และถูกมองว่าเป็นวิธีที่ชาญฉลาดในการที่แบรนด์จะเข้าสู่ตลาดมุสลิมที่ใหญ่และเติบโตอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่ถึงสัปดาห์ กลุ่มแบ่งแยกเชื้อชาติและอิสลาโมโฟเบียก็ก่นด่าและเหยียดหยามเธอผ่านสื่อโซเชียล

โดยสื่อปีกขวาของสหรัฐฯ “เดอะ เดลี่ คอลเลอร์” (Daily Caller) ได้ค้นพบและเผยแพร่ทวีตของเธอในปี 2014 ที่เธอได้ประณามการทำสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 2,250 คนถูกสังหาร โดยส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

เรื่องนี้ถูกหญิบยกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางสื่อโซเชียลของพวกขวาจัด และในที่สุดเมื่อวันจันทร์ (22 ม.ค.) บล็อกเกอร์สาวมุสลิมก็ตัดสินใจยุติบทบาทในแคมเปญนี้ของลอรีอัล

“ฉันเสียใจอย่างยิ่งกับเนื้อหาในทวีตของฉันในปี 2014 และขอโทษอย่างจริงใจสำหรับความไม่พอใจและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น” อามีนา ข่าน ทวีต

“”การต่อสู้เพื่อความหลากหลายเป็นหนึ่งในความสนใจของฉัน ฉันจะไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ใด ฉันเลือกที่จะลบมันเพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้แสดงถึงความสามัคคีตามจุดยืนของฉัน”เธอกล่าวในแถลงการณ์

โฆษกของลอรีอัลกล่าวกับ เยรูซาเล็มโพสต์ สื่ออิสราเอลว่า บริษัท ยอมรับกับการตัดสินใจของ อามีนา ข่าน ที่จะออกจากแคมเปญ

วิพากษณ์วิจารณ์ประเทศใดๆ เป็นเรื่องเหยียดเชื้อชาติแล้วหรือ??

นักวิจารณ์ต่างรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่ลอรีอัลและอามีนา ข่าน ถูกตอบสนองอย่างรุนแรงจากการทวิตเตอร์ต่อต้านอิสราเอลของเธอ

นักข่าวชาวอังกฤษ “ซันนี่ ฮันดอล” ทวีตว่า “หญิงชาวมุสลิมชาวอังกฤษคนหนึ่งได้ถูกไล่ล่าจากแคมเปญโฆษณาเหตุเพราะวิจารณ์อิสราเอล ดังนั้น ขณะนี้การวิพากษณ์วิจารณ์ประเทศใดๆ กลายเป็นเรื่องเหยียดเชื้อชาติแล้วหรือ?”

“ตอนนี้ผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพในการพูด (free speech) ไปอยู่ที่ไหนกันหมด?”

ยัสมีนา (Yasmina) นักข่าวผู้ใช้ชื่อ @animsche กล่าวว่าเธอรู้สึกผิดหวังที่อามีนา ข่าน เสียใจกับข้อความของเธอ

นิตยสารออนไลน์ของอังกฤษ Media Diversified ทวีตว่า “อามีนา ได้ก้าวออกจากแคมเปญลอรีอัล หลังจากทวีตเก่า ๆ ของเธอซึ่งวิจารณ์ว่าอิสราเอลถูกค้นพบ”

“อีกสถานการณ์หนึ่งที่ผู้หญิงแห่งสีสันซึ่งมีดีพอที่จะไปยืนอยู่ในแคมเปญ… แต่แล้วนรกก็ทำลายมันไป”

นักข่าวอีกคน “อารีบ อุลลาห์ ตั้งข้อสังเกตว่า “สองมาตรฐาน” โดยเขากล่าวว่า นักแสดงหญิงชาวอิสราเอล “กัล กาด็อต” ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องขอโทษหลังจากสนับสนุนสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา

กาเร็ต ไอค์ นักดนตรี เขียนว่า “อามีนา ข่าน สูญเสียงานลอรีอัลของเธอ เพราะในปี 2014 เธอเรียกอิสราเอลว่า “ฆาตกรฆ่าเด็กๆ” ตรงนี้มีเด็กๆ ตระกูลบักร์ เด็ก 4 คนถูกสังหารโดยอิสราเอลขณะเล่นฟุตบอลบนชายหาด…ในปี 2014 ดูเหมือนว่าการบอกความจริงเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้กับ @จริยธรรมลอรีอัล”

ทั้งนี้ในปี 2014 ชาวปาเลสไตน์จากตระกูลบักร์สี่คนอายุระหว่าง 9 ถึง 11 ปีกำลังเล่นอยู่ที่ชายหาดในฉนวนกาซาและถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิสราเอลจนเสียชีวิต

อ้างอิง
https://www.alaraby.co.uk
http://www.aljazeera.com
http://jewishjournal.com
https://www.teenvogue.com