เรื่องเล่าจากห้องเรียนวิชาการเมืองการปกครองแห่งหนึ่ง (1)

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสสานเสวนากับเพื่อนอาจารย์ด้วยกันซึ่งสอนกันคนละมหาวิทยาลัย แน่นอนว่า ประเด็นการสนทนาหลักอันหนึ่งคงหนีไม่พ้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการ สอนของแต่ละคน 
ซึ่งหลังจากฟังเรื่องราวของหลายคนแล้ว บ่องตง ว่าผมถึงกับอึ้ง ทึ่ง และหวาดเสียวเป็นบ้า ในที่นี้จะยกตัวอย่างเรื่องราวของอาจารย์ A (นามสมมติ) มาให้อ่านกันนะครับ


อาจารย์ A ผู้สอนวิชาการเมืองการปกครองในมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งหนึ่งเล่าว่า เมื่อตอนเปิดเทอมล่าสุดนี้ แกเคยทดลองเล่นเกมกับนักศึกษา ให้นักศึกษาตัดสินใจโครงสร้างการเก็บคะแนนของวิชากันเอง 
โดยกำหนดให้มีวิธีการตัดสินใจ 3 วิธีด้วยกัน ตามลำดับ ดังนี้

วิธีที่ 1: โองการแห่ง 9 อรหันต์

เริ่ม แรกของเกม แกวางข้อแม้ไว้ว่า นักศึกษาที่จะมีอำนาจตัดสินใจโครงสร้างการเก็บคะแนนของวิชาได้นั้น ไม่ใช่ทุกคน หากแต่จำกัดอำนาจพิเศษนี้ให้เฉพาะกับคนพิเศษ ที่แม้แต่แฟนก็ทำแทนไม่ได้

นักศึกษา ผู้เป็น ‘คนพิเศษ’ ในที่นี้ คือ นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยเกิน 3.5 โดยหากนับถือพุทธ ก็จะต้องเข้าวัดเข้าวา ตักบาตรทำบุญ ปล่อยนกปล่อยปลา ฯลฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และหากนับถือคริสต์หรืออิสลามก็ยึดหลักคล้ายกัน คือ เข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ เข้ามัสยิดทุกวันศุกร์ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ

โชคดีของอาจารย์ A ที่ไม่มีนักศึกษานับถือศาสนาอื่นนอกจากที่กล่าวมา มิเช่นนั้น การตั้งเงื่อนไขของแกคงจะเหนื่อยขึ้นน่าดู

หลัง จากใช้เกณฑ์ 2 เรื่องข้างต้นคัดสรรนักศึกษาในคลาสทั้งหมดราวๆ 50 คนแล้ว ก็ปรากฏว่าได้นักศึกษาที่ต้องตามเกณฑ์จนจัดว่าเป็น ‘ผู้วิเศษ’ ออกมาได้เพียง 9 คน

นักศึกษา 9 คนนี้จัดว่าเป็น 9 อรหันต์ เพราะทั้ง ‘เก่ง’ (เกรดเฉลี่ยเกิน 3.5) และ ‘ดี’ (เกณฑ์ของการประกอบพิธี-กิจกรรมทางศาสนา) จึงเรียกได้ว่าสมควรเป็น ‘ตัวแทน’ ตัดสินใจแทนนักศึกษาอีก 41 คนที่เหลือซึ่งโง่กว่า ไม่เอาอ่าวกว่า และเลวกว่า

เมื่อ ผมกล่าวเช่นประโยคสุดท้ายนี้ ท่านผู้อ่านหลายคนก็คงเริ่มรู้สึกหมั่นไส้แล้วสินะครับว่า ทำไมถ้อยคำที่เขียนถึงดูจงใจเหยียดหยาม ดูถูกคนอื่นขนาดนี้ ซึ่งในคลาสของอาจารย์ A ก็เผชิญกับบรรยากาศลักษณะเดียวกัน พอแกกำหนดกติกาว่า จะให้นักศึกษา 9 คนนี้เป็นผู้ออกแบบโครงสร้างการเก็บคะแนนวิชาที่แกสอนสำหรับคนทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ 9 คนนี้ ฉลาดกว่าและมีศีลธรรมมากกว่า จึงอนุมานได้ว่า จะเป็นผู้ตัดสินใจทางเลือกที่ชาญฉลาด มีคุณธรรม ยุติธรรม และเป็นทางเลือกที่ ‘ดี’ ต่อส่วนรวม และในทางกลับกัน หากปล่อยให้ทุกคนที่เหลือซึ่งโง่กว่า และมีศีลธรรมด้อยกว่า ได้มีโอกาสตัดสินใจทางเลือกแล้วล่ะก็ ก็ไม่ต่างอะไรจากการโยนแก้วให้ฝูงวานร

อาจารย์ A พูดเช่นนี้ ก็เดือดสิครับ ในคลาสเริ่มถกเถียงกันวุ่นวาย และยิ่ง ‘อรหันต์ทั้ง 9’ ของเราลงมติเอกฉันท์เลือกวิธีการเก็บคะแนนโดยการสอบกลางภาค 40% สอบปลายภาคอีก 40% และรายงานเดี่ยว 20% (ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะนักศึกษากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกรดเฉลี่ยสูง จึงมีแนวโน้มจะมั่นใจกับการสอบและไม่นิยมงานประเภทที่ต้องแบกภาระของเพื่อน อย่างงานกลุ่ม) ก็วุ่นหนักขึ้นไปอีก

วิธีที่ 2: วิถีแห่งฝูงชน

เมื่อ ผลการตัดสินใจเป็นดังนี้ เพื่อนในห้องจำนวนไม่น้อยก็ถกเถียง แสดงความเห็น และบางส่วนก็เริ่มไม่พอใจขึ้นมา อาจารย์ A เห็นว่าบรรยากาศเริ่มสุกงอมแล้ว จึงประกาศเสนอเปลี่ยนวิธีออกแบบโครงสร้างการเก็บคะแนนใหม่ โดยให้นักศึกษาทั้ง 50 คนได้มีสิทธิโหวต บนหลักการว่าทุกคนมีคนละ 1 เสียงเท่าๆ กัน (รวมทั้ง 9 อรหันต์ของเราก็มีคนละ 1 เสียงเท่ากับเพื่อน)

การ โหวตในแบบที่สองเป็นการเลือกตัดสินใจระหว่างการเก็บคะแนนแบบเน้นสอบ กับการเก็บคะแนนแบบเน้นทำรายงาน (กลุ่ม) กับเข้าชั้นเรียน รายละเอียดความแตกต่างทั้งสองทางมีดังนี้

ทางเลือกที่ 1 (เต็ม 100%)

ทางเลือกที่ 2 (เต็ม 100%)

สอบกลางภาคและปลายภาค
70
30

รายงานเดี่ยว
25
10

รายงานกลุ่ม

30

คะแนนเข้าห้อง
5
30

ผล ของการโหวตปรากฏว่าทางเลือกที่ 2 ซึ่งเน้นทำรายงานบวกเข้าชั้นเรียนชนะไปด้วยคะแนนเสียงประมาณ 35 ต่อ 15 (จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้) ทีนี้กลายเป็นว่า ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่นำโดยกลุ่ม 9 อรหันต์กลับมาเป็นกลุ่มหลักที่ท้วงติงและถกเถียงบ้าง โดยให้เหตุผลทำนองว่า ถ้าเลือกแนวทางนี้ ทุกคนก็จะได้คะแนนไม่ต่างกันมาก ทั้งที่ความพยายาม ความตั้งใจ และความสามารถไม่เท่ากัน

พูด อีกแบบ คือ ทางเลือกแบบนี้ไม่ส่งเสริมให้นักศึกษา ‘fight’ เพื่อให้ตนเอง ‘fit’ พอจะได้เกรดสูงๆ จึงไม่น่าจะเป็นคลาสเรียนที่เป็นประโยชน์มากนัก เพราะแค่พาตัวเองมานั่งในคลาสได้ ก็ได้คะแนนเช็คชื่อไปมหาศาล

ซ้ำ เวลาทำรายงานกลุ่มโดยทั่วไปก็รู้กันอยู่ว่ามีนักศึกษาไม่กี่คนเท่านั้นที่ เป็นคนทำ ส่วนที่เหลืออีกมากไม่ค่อยมีส่วนร่วมเท่าใดนัก บางรายเอาชื่อมาห้อยไว้เฉยๆ แต่ตัวนั้นไม่เคยโผล่มาช่วยเลยสักครา

อีหรอบ เดียวกันกับข้าราชการไทยที่เอาชื่อไปฝาก กอ.รมน. ห้อยไว้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้รับเบี้ยเสี่ยงภัย แต่ตัวจริงรับใช้นายอยู่ในเมืองหลวงนั่นแล

เพราะ ฉะนั้น ในทรรศนะของเสียงข้างน้อยในคลาสเรียนอาจารย์ A วิธีการออกแบบการเก็บคะแนนวิธีที่สองนี้จึงไม่ work ตรงที่มันอาศัยเพียงพวกมากลากไป โดยไร้ซึ่งการใคร่ครวญรับฟังใดใด คนจึงมีลักษณะเหมือนฝูงชนที่ไม่ต่างจากฝูงสัตว์ซึ่งใครมีพวกมาก ก็มีอำนาจกำหนดทิศทางของส่วนรวมมากกว่า

วิธีที่ 3: บทสนทนาของพลเมือง

อาจารย์ A รับฟังดังนั้นแล้ว ก็รับได้ในเหตุผล และเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการออกแบบการเก็บคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยให้นักศึกษา 50 คนนั้น แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 10 คน โดยมีข้อแม้ว่า 9 อรหันต์จำต้องแยกย้ายสลายตัวออกจากกันไปประจำยังกลุ่มต่างๆ (ซึ่งจำต้องมีกลุ่มหนึ่งที่ขาดอรหันต์ประจำกลุ่มไปอย่างน่าเสียดาย) จากนั้นให้แต่ละกลุ่มหารือ และลงความเห็นกันว่า ต้องการโครงสร้างการเก็บคะแนนแบบใด ลำดับถัดมา ให้ตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน สุดท้ายคือให้ทุกๆ คนโหวตว่า เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มใดมากที่สุด บนหลัก 1 คน 1 เสียง และไม่จำเป็นต้องเลือกแนวทางของกลุ่มตนเอง

หลัง จากกระบวนการปรึกษาหารือเสร็จสิ้น น่าสนใจที่ว่า แนวทางของทุกๆ กลุ่มปรากฏนำเสนอออกมาในลักษณะที่ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งเลยสักกลุ่ม เดียว กล่าวคือ ไม่เป็นโครงสร้างการเก็บคะแนนที่เน้นสอบอย่างเดียว หรือเน้นทำรายงาน/คะแนนเข้าชั้นเรียนอย่างเดียว สิ่งที่แตกต่างกันในแนวทางของแต่ละกลุ่ม คือ รายละเอียดปลีกย่อย เท่านั้น

นักศึกษา คนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ 1 ใน 9 อรหันต์แต่เห็นด้วยกับการเก็บคะแนนโดยสอบเยอะๆ ให้ความเห็นว่า การหารือกับเพื่อนในกลุ่มทำให้ทราบว่า เพื่อนหลายคนมีเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างไรบ้าง เช่น บางคนจำต้องได้เกรด C ขึ้นไป มิเช่นนั้นจะโดนรีไทร์ หรือบางคนเรียนปีสุดท้ายแล้ว เหลือวิชานี้ตัวเดียว หนำซ้ำก็ยังได้งานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแล้วเสียด้วย เพราะฉะนั้นจะพลาดท่า ตกวิชานี้ไม่ได้เป็นอันขาด เป็นต้น

ด้วย เงื่อนไขลักษณะนี้ เพื่อนหลายคนต้องการโครงสร้างการเก็บคะแนนที่รับประกันในระดับหนึ่งว่า พวกเขาจะมีชีวิตรอดออกไปได้ เมื่อเทอมนี้สิ้นสุดลง ซึ่งการเก็บคะแนนโดยเน้นสอบเยอะๆ นั้น ไม่รับรองความอยู่รอดของพวกเขามากนัก
หลาก หลายเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกันเหล่านี้ ทำให้นักศึกษาผู้แสดงความเห็นผู้นี้ ยอมเปลี่ยนจุดยืนและทดลองคิดหาวิธีการเก็บคะแนนลักษณะอื่นที่มีที่ยืนสำหรับ เพื่อนของเขาเองบ้าง ในข้อแม้ว่า แต่ถ้าให้เก็บคะแนนโดยรายงานหรือเข้าชั้นเรียนเยอะๆ เขาก็ไม่ยอมเช่นกัน

แต่ กระนั้น การที่อาจารย์ A เปิดพื้นที่ให้พวกเขาหารือและออกแบบกันอิสระ ก็ช่วยให้พวกเขาตกลงทางที่เป็นไปได้สำหรับทุกฝ่ายได้ราบรื่นกว่าการที่ อาจารย์ A จะโยนทางเลือกเพียง 2 ทางมาให้ตัดสินใจโดยพวกเขาไม่มีส่วนร่วมออกแบบโครงสร้างนั้นเลย อันสุ่มเสี่ยงที่จะให้นักศึกษาผู้นี้กับเพื่อนที่มีเงื่อนไขชีวิตอาจคุยกัน ไม่รู้เรื่อง


ผม ฟังอาจารย์ A เล่าถึงตอนนี้ก็นึกโยงไปถึงสถานการณ์การเมืองบ้านเราว่า ถ้าหากกรณีที่ข้อเรียกร้องของแต่ละกลุ่มมันมีลักษณะสุดโต่งล่ะ การประนีประนอมฉันท์มิตรดังกล่าวจะเป็นไปได้ไหม?

หรือ เป็นไปได้ไหมว่ามันยังไม่เคยเกิดบทสนทนาในรูปแบบดังกล่าวขึ้นระหว่างผู้คนใน สังคม ด้วยต่างติดยึดอยู่กับวิถีทางและข้อเรียกร้องที่ตนเห็นด้วยอย่างแข็งทื่อ?

อัน ที่จริงรูปแบบและรายละเอียดของการสนทนาก็น่าสนใจ เช่น ระหว่างการสนทนาภายในกลุ่มที่เห็นไปในทางเดียวกัน ตอกย้ำ ผลิตซ้ำความเชื่อเกี่ยวกับกลุ่มตนและ ‘ผู้(เป็น)อื่น’ (intra-faith dialogue) กับการสนทนาระหว่างคนที่สังกัดต่างกลุ่ม ต่างความเชื่อ ความศรัทธา เพื่อ ‘เห็น’ กันและกันชัดขึ้น ในฐานะเพื่อนมนุษย์ (inter-faith dialogue) การสนทนาแบบใดกันที่ช่วยประคับประคองความขัดแย้ง และการต่อสู้ ต่อรองระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการกันคนละอย่าง ให้ดำเนินไปโดยไม่เปลี่ยนร่างกลายเป็นความรุนแรง?


ใน ห้วงขณะที่นึกสงสัยอยู่นั้น อาจารย์ A ก็ดึงผมกลับมาสู่วงสนทนาด้วยการกล่าวว่า “แล้วมึงรู้ไหม ตอนจบวิธีไหนชนะ? .. ก็ตอนสุดท้ายกูทำรัฐประหาร แล้วกำหนดโครงสร้างการเก็บคะแนนให้เป็นอย่างที่กูคิดไว้แต่แรกไง”
“โหยย งี้เด็กไม่โวยวายชิบหายเหรอพี่?”  ผมถาม

“โวยวาย อะไร ตาม Authority มึงก็น่าจะรู้ว่า อาจารย์เจ้าของวิชาน่ะ ถือ ‘final decision’ ถ้าเปรียบห้องเรียนเป็นรัฐ กูก็คือ รัฐาธิปัตย์โดยชอบธรรม กูเลยสั่งให้ที่มันตกลงเป็น ‘โมฆะ’ ทั้งหมดเยยย 5555”

อาจารย์ A เห็นผมชักสีหน้าแหยๆ ก็พูดต่อไปว่า “ไม่เอาน่า ประเทศเหี้_นี่ ทำรัฐประหารมากี่ครั้ง มึงยังไม่ชินอีกเหรอ กูก็แค่สอนให้เด็กๆ มันชิน และเข้าใจ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ เท่านั้นเอง”

“แบบ ‘ไทยๆ’ ยังไงวะพี่?” ผมถามอีก

“ก็ ประชาธิปไตยแบบที่ ‘พวกมึง’ เป็น ‘ประชา’ ส่วน ‘พวกกู’ เป็น ‘อธิปไตย’ ไง ก๊ากกกกกก 555555” อาจารย์ A ผู้อำมหิตย์ยิ่งกว่าอีวานจอมโหดหัวเราะอย่างสาแก่ใจ


อัน ที่จริง เกมของอาจารย์ A นั้นมีความน่าสนใจมาก มันสะท้อนและมีนัยบางอย่างที่สำคัญเลยทีเดียว (ถ้าไม่ติดว่าแกเหี้ยมไปหน่อยตรงที่รัฐประหารตอนท้ายเสียเองอ่ะนะครับ) วิธีการออกแบบโครงสร้างการให้คะแนนทั้ง 3 วิธี ก็ต่างประกอบสร้างขึ้นจากรากฐานความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ในคราวหน้า ผมจะมาถอดบทเรียนให้อ่านกันต่อนะครับว่า เกมของอาจารย์ A สะท้อนหลักคิดเกี่ยวกับสังคมการเมืองอย่างไร