ประสบการณ์จากบังกลาเทศ: ของที่ต้องแลกหากคิดแก้ปัญหาการเมืองด้วยการ “กำจัด”

“ชินวัตราปรมาลาภา การไม่มีตระกูลชินวัตรเป็นลาภอันประเสริฐ” 
, สำราญ ช่วยจำแนก [อี๊ด วง FLY] *


ประโยคข้างต้น เป็นประโยคที่คุณสำราญ ช่วยจำแนก หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ “อี๊ด วง FLY” กล่าวบนเวที กปปส. เมื่อไม่นานมานี้

ใน ความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่า ประโยคข้างต้นไม่เพียงแต่เข้าใจใช้คำจนช่วยให้ติดหูและจดจำกันได้ดีเท่านั้น หากแต่ยังมีแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อบางอย่าง [ซึ่งใครหลายคนก็เชื่อกันทำนองนี้] ว่า ต้นตอปัญหาการเมืองอยู่ที่ตัวบุคคลบางคนบางกลุ่ม [โดยเฉพาะผู้นำ] ดังนั้น หากกำจัดคนเหล่านี้ออกไปได้แล้วไซร้ ปัญหาทางการเมืองย่อมหมดไป ประเทศเราก็จะก้าวไปสู่ยุคพระศรีอาริย์

นัย ความเชื่อข้างต้นมีความน่าสนใจมาก และหากนำมาพิจารณาประกอบกับกรณีประสบการณ์จากบังกลาเทศ ที่เห็นใครหลายคนให้ความสนใจพูดถึงกันเยอะในช่วงที่ผ่านมา .. ก็ยิ่งทวีความน่าสนใจเข้าไปอีก .. น่าสนใจจนผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะขอแลกเปลี่ยนข้อมูลและทรรศนะเกี่ยวกับ บังกลาเทศไว้ ณ ที่นี้ด้วยคน

เพราะ ประโยคทำนองว่า “หากนายกฯ ลาออก ทุกอย่างก็จะยุติ” หรือ “หากตระกูลชินวัตรหมดไป ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า” [นัยของคำว่า “หมดไป” ในที่นี้มีความแตกต่างหลากหลาย นัยทั่วๆ ไปคือหมดอำนาจทางการเมือง นัยเฉพาะสำหรับบางคนคือออกจากแผ่นดินไทย และนัยเฉพาะของอีกบางคนคือรุนแรงถอนรากยิ่งกว่านั้น] ฯลฯ อย่างไรก็ตามแต่ ประโยคทำนองนี้ดูเหมือนจะมีปัญหาที่ใหญ่มากบางประการ ถ้าหากเราพิจารณาประสบการณ์ทางการเมืองของบังกลาเทศไว้เป็นกรณีศึกษา


บังกลาเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1971 โดยการแยกตัวออกจากปากีสถาน ภายใต้การนำของชีค มูจีบูร์ เราะห์มาน หรือ มูจีบ ผู้นำพรรคสันนิบาตอะวามี

ในวันสถาปนาประเทศ มูจีบคือวีรบุรุษ และคือประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ

ในวันนับจากนั้นมา เขาค่อยๆ ถูกเรียกว่า ทรราชย์

ชั่ว ระยะเวลาปีแรกเท่านั้น การบริหารประเทศของมูจีบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมหาศาล ที่สำคัญคือ 
การพัฒนาขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่มีอยู่เดิมให้กลายไปเป็นกลุ่มติด อาวุธที่ชื่อ รักษี พาหิณี [Rahshi Bahini] ซึ่งทำหน้าที่เป็นปีกใช้กำลังให้กับพรรคสันนิบาตอะวามีของมูจีบ

กลุ่มติดอาวุธข้างต้นคุกคามสร้างความหวาดกลัวไปทั่ว และหลายครั้งก็ออกนอกลู่นอกทางไล่ปล้นสดมภ์ชาวบ้านก็มี

นอกจาก นี้ ในการบริหารประเทศ มูจีบยังถูกกล่าวหาว่า ยอมให้เครือญาติแสวงหาความมั่งคั่ง ยักยอกเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ทำอะไรไม่ปรึกษาคนอื่น ไม่รับฟังเสียงใคร

ค.ศ. 1973 เช่นเดียวกับหลายประเทศ บังกลาเทศเผชิญผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำมัน ตามมาด้วยภัยแล้งและอุทกภัย มวลชนเริ่มยกระดับความไม่พอใจมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงปลาย ค.ศ. 1974 มูจีบจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งยกเลิกสิทธขั้นพื้นฐาน ยุบสภา และปิดหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ผลของการกระทำดังกล่าวทำให้
มูจีบอยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกับทรราชย์เข้าไป ทุกขณะ

พร้อม กับการเริ่มต้นก่อร่างวัฒนธรรมของการใช้กำลัง – ความรุนแรงเป็นเครื่องมือทางการเมือง ผสานเข้าไปในวัฒนธรรมทางการเมือง และระบบการเมืองของบังกลาเทศนับตั้งแต่นั้น


แน่นอน ว่า ท่านผู้อ่านหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงอดไม่ได้เหมือนกันที่จะเทียบๆ เคียงๆ กับสถานการณ์บ้านเมืองไทยของเรา โดยเฉพาะในช่วงของรัฐบาลคุณทักษิณ หรือบางท่านที่เป็นฝ่ายสนับสนุน กปปส. อาจจะคิดถึงภาพกว้างกว่านั้น คือสิ่งที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ อันกินความทั้งรัฐบาลคุณทักษิณ และรัฐบาลที่เป็นวงศ์วานเครือญาติของคุณทักษิณด้วย ดังเช่นรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในปัจจุบัน

ใน กรณีท่านผู้อ่านที่สนับสนุน กปปส. ผู้เขียนเชื่อว่าพวกท่านจำนวนไม่น้อย คงเคยคิดอยากจะกำจัดตัดตอนคนตระกูลชินวัตรให้พ้นจากวงอำนาจการเมืองไปเสีย ให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ด้วยอาจจะเจตนาดีเล็งผลเลิศว่า ปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อมานานจะได้ยุติลงเสียที

ขอชวนพวกท่านพิจารณากรณีของบังกลาเทศ เพราะเขาทำไปได้ไกลกว่าที่พวกท่านจะจินตนาการถึง

กลาง เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1975 การล้ม “ระบอบมูจีบ” บังเกิดขึ้นด้วยการที่นายทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในบ้านของมูจีบที่กรุงธากา และสังหารเขาด้วยอาวุธปืน!

และ เพื่อป้องกันการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของวงศ์วานเครือญาติอันจะเป็นการสืบเชื้อระ บอบมูจีบออกไป ภารกิจของนายทหารเหล่านั้นจึงไม่ยุติลงแค่ข้างต้น พวกเขายังสังหาร ไฟซิลาจูนเนสซา ผู้เป็นภรรยาของมูจีบ รวมทั้งบุตรชายทั้งหมดคือ กามาล จามาล และรัสเซล ซึ่งอายุเพียง 9 ปี พร้อมกับสังหารสุลตานาผู้เป็นภรรยาของกามาล และปารวีนผู้เป็นภรรยาของจามาล และมั่นใจได้เลยว่า น้องชายคนเล็กของมูจีบ คือ นาเซอร์ เอง
ก็ย่อมไม่พ้นเงามัจจุราชด้วยเช่นกัน

ขึ้น ชื่อว่า “การถอนรากถอนโคน” แล้วมันจึงไม่เพียงแค่นั้นแน่ๆ วันเดียวกันในเขตอื่นของกรุงธากา 
อับดูร์ ราบ พี่เขยของมูจีบ ก็ถูกสังหารพร้อมบรรดาญาติ แขกเหรื่อ และคนรับใช้ ซึ่งรวมไปถึงหลานชายของ
มูจีบ คือ ฟาซลูล ฮุก โมนี กับภรรยาซึ่งกำลังตั้งครรภ์!

จะเหลือรอดก็แต่เพียงบุตรสาวสองคนของมูจีบ คือ ฮาสินา กับ เรฮานา ที่กำลังอยู่ในต่างประเทศ

มรดก ตกทอดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธี “ล้างโคตร” เช่นนี้ รูปธรรมที่สุดจะเป็นอะไรไปมิได้ นอกเสียจากสตรีที่ชื่อ “ฮาสินา” นั่นเอง

เธอคือบุตรสาวผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากมูจีบ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคสันนิบาตอะวามี และผู้นำประเทศในภายภาคหน้า

ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า พลังขับเคลื่อนงานการเมืองของเธอที่สำคัญอันหนึ่ง คือ ความแค้นและเกลียดชัง

เรื่อง ราวทำนองนี้ มีให้เห็นบ่อยๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศแถบเอเชียใต้ และถ้าท่านผู้อ่านตระหนักในความเป็นมาของเรื่องราวเหล่านี้ ย่อมไม่เป็นที่แปลกใจแต่อย่างใดเลย หากท่านจะไม่พบเห็นความสงบ และสันติ ดำรงอยู่ในแถบภูมิภาคนี้ยั่งยืนนัก กลับกัน สิ่งที่เห็นอยู่บ่อยครั้งกว่า คือ ความวุ่นวาย ความรุนแรง การสังหาร ที่หลายครั้งผูกปมเงื่อนอยู่กับความอาฆาตและการล้างแค้นเอาคืน

กรณี บังกลาเทศ การโค่นระบอบรวบอำนาจของมูจีบโดยอาศัยวิถีของความรุนแรง ต้องจ่ายแลกด้วยของมีค่าหลายอย่าง และของราคาแพงที่สุดที่ต้องจ่ายไปคือ บรรทัดฐานว่าด้วยการยึดแนวทางสันติและแนวทางประชาธิปไตยเป็นกติกาของการ เปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เศษ เงินที่ทอนกลับมา คือ บรรทัดฐานอันใหม่ไม่ค่อยสมประกอบ เป็นบรรทัดฐานว่าด้วยการใช้กำลังเป็นเครื่องมือหลักในการเปลี่ยนแปลงทางการ เมือง ซึ่งจะชี้นำพฤติกรรมทางการเมืองของผู้คนไปอีกหลายทศวรรษจวบจนปัจจุบัน ขณะเดียวกับที่เพาะบ่มวัฒนธรรมความเกลียดชัง ความอาฆาต ล้างแค้นเอาคืน ให้ฝังรากอยู่ในสังคมบังกลาเทศจนแยกไม่ขาด

ด้วย วิธีการจัดการปัญหาทางการเมืองโดยใช้กำลังเข้ากำจัด บังกลาเทศจึงก้าวข้ามระบอบมูจีบเพื่อไปเจอกับระบอบใหม่ที่ซึ่งสันติภาพหาได้ ยากกว่าเข็มในมหาสมุทร

ความเกลียดชังได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเบ้าหลอมของการเมืองบังกลาเทศนับแต่นั้นเรื่อยมาจนปัจจุบันอย่างที่เราเห็นกัน


กรณี ประเทศไทย การคิดที่จะใช้วิธีเดียวกันกับข้างต้น ย่อมเล็งเห็นผลได้ไม่ต่างกันนัก ต่างกันตรงที่ระบอบมูจีบเกิดขึ้นและดับลงในบริบทที่ไร้การเล่นการเมืองมวลชน ส่วนประเทศไทย การต่อสู้และขัดแย้งทางการเมืองดำรงอยู่โดยมีมิติของการเมืองมวลชนขับ เคลื่อนทิศทางร่วมอยู่ด้วย

การ ใช้วิธีแบบเดียวกับบังกลาเทศ จึงย่อมส่งผลให้ความเกลียดชังและอาฆาตแค้นแพร่กระจายไปมากกว่าประสบการณ์ที่ บังกลาเทศผ่านพบมากนัก และภาพที่น่ากลัวจะได้เห็น คือ สงครามกลางเมือง
การ มุ่งกำจัดตัวบุคคลโดยไม่เลือกวิธีและไม่สนใจกติกานั้น แม้ท่านจะชนะในเกมนี้ แต่ผู้แพ้ในอนาคตคือสังคมโดยรวม เพราะบรรทัดฐานสังคมได้ถูกร่างขึ้นใหม่อย่างเรียบร้อยแล้ว

บรรทัดฐานที่ว่า คือ กติกาสังคมสามารถเปลี่ยนได้ ละเมิดได้ หากมีอำนาจและกำลังมากพอ

บรรทัดฐาน นี้ จะเป็นเงื่อนไขให้สังคมเรียนรู้ที่จะใช้กำลังและทุกวิถีทางเข้าห้ำหั่น เอาชนะ แล้วเปลี่ยนกติกาให้รับใช้กลุ่มตน แทนที่จะสู้กันในกติกาที่เกิดจากการยินยอมตกลงร่วมกัน

ประวัติศาสตร์ ของวันพรุ่งนี้จึงดูไม่ยากว่าจะมีแต่เรื่องราวซ้ำๆ ของการผลัดกันห้ำหั่น ปะทะ แล้วสลับกันเป็นผู้ถืออำนาจเปลี่ยนแปลงกติกาสังคมการเมืองไปเรื่อยๆ และสิ่งที่ทุกๆ คนพอจะทำได้อย่างเชี่ยวชาญในอนาคตลักษณะนี้  คือ การนับจำนวนศพ

บรรทัดฐานประเภทนี้ คือ รากฐานของสภาวะอนาธิปไตย (Anarchy)

… คือ ก้าวแรกของการเดินไปสู่ความเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) ในตอนสุดท้าย  

—-
*ช่วง เย็นของวันที่ 25 มกราคม 2557 คุณสำราญ ช่วยจำแนก หรือ คุณอี๊ด วงฟลาย ขึ้นร้องเพลงบนเวที กปปส. ที่ราชประสงค์ โดยเริ่มจากเพลงผมไม่ใช่วัว นางแมวยั่วสวาท ใบไม้ใบเดียว ใจนักเลง ชาวนากับงูเห่า อย่าหยุดยั้ง ศรัทธา และเพลงบิน รวมทั้งได้กล่าวว่า “ผมไม่ได้ร้องเพื่อความสะใจ แต่ร้องเพื่ออุดมการณ์ ซึ่งคือความถูกต้อง และผ่านการคิดมาดีแล้ว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ออกไปได้แล้ว แผ่นดินจะได้สูงขึ้น” , “ยินดีต้อนรับชาวนาทั่วประเทศ มวลมหาประชาชนที่นี่มีไออุ่น เราเข้าใจชาวนาทุกคน ขอบคุณที่ดูแลอาหารการกินของคนไทยอย่างดี ไม่รู้จะพูดอะไรดี ขนาดฐานเสียงยังทำได้ พิษงูยังมีเซรุ่ม แต่พิษปูไม่มีเซรุ่มอะไรเยียวยา”, และ “ชินวัตราปรมาลาภา การไม่มีตระกูลชินวัตรเป็นลาภอันประเสริฐ”

ที่มา จากการแคชหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ “”อี๊ด วงฟลาย”ขึ้นเวทีราชประสงค์ปลุกม็อบ” ตามลิงก์: http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:dQBp4azpNlsJ:m.posttoday.com/articlestory.php%3Fid%3D273619%26attr_id%3D0005+&cd=3&hl=en&ct=clnk&gl=th