นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ที่นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต.ได้มอบให้ตน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2561 (กบฉ.)โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ได้มีวาระที่สำคัญ 2 วาระ คือ การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 51 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานี ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2561 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ยกเว้นอ.แม่ลาน ที่ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินมาตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2554 และพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้วนำพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แทน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน และจังหวัดยะลา ออกไปอีก 3 เดือน และเห็นชอบปรับลดพื้นที่การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่อ.เบตง จ.ยะลาและนำพ.ร.บ.ความมั่นคงมาบังคับใช้แทน ส่วนพื้นที่อื่นๆเห็นควรให้ กอ.รมน.ดำเนินการประเมินความพร้อมเพื่อยกเลิกต่อไป
นายกิตติ กล่าวต่อว่า เมื่อเราดูการลดระดับในการบังคับใช้กฎหมาย ในพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ปี 2551 มาตรา15 เขียน ไว้ว่า ในพื้นที่ที่ใดก็แล้วแต่ที่เกิดสถานการณ์กระทบต่อความมั่นคง ถ้าสถานการณ์นั้นยังไม่ถึงขั้นฉุกเฉิน หรือฉุกเฉินแต่มีการลดระดับลงมาไม่ถึงขั้นฉุกเฉินและมีแนวโน้มว่าจะอยู่นาน นั้นหมายถึง 1.สถานการณ์มีการปรับลดระดับลงมา 2.สถานการณ์มีแนวโน้มจะอยู่นาน 3.มีหลายหน่วยงานจะเข้าไปแก้ไข เช่นมีการบูรณาการทุกภาคส่วนที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น ทั้งนี้หาก ครม.เห็นว่า การแก้ไขปัญหานั้นควรแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมจากหลายหน่วยงาน โดยให้มีการแก้ไขโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ที่มีพลเรือน ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ นักการศาสนาและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆที่จะร่วมสินธิกำลังเป็นกองอำนวยการฯและช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อความยั่งยืนต่อไป
นั่นหมายถึงว่า ในการจะแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ใดๆ ก็แล้วแต่ ถ้าไม่ถึงขั้นฉุกเฉินก็ต้องใช้ พรบ.ความมั่นคงมาแก้ไข ฉะนั้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกๆ 3 เดือนเรามีการประเมิน โดยลักษณะการประเมินเรามีตัวชี้วัดคือ พี่น้องประชาชน และถามเจ้าหน้าที่รัฐ การถามนักธุรกิจ ซึ่งมีการถามในทุกตัวชี้วัด เพื่อให้ช่วยกันประเมินและช่วยกันมองสถานการณ์ว่า สถานการณ์ในวันนี้ถึงขั้นฉุกเฉินหรือไม่ หากทุกคนเห็นด้วยว่า ฉุกเฉินก็จำเป็นต้องต่อ ซึ่งก็ต้องเสนอ ครม.ต่อ โดยก่อนที่จะมีการเสนอไปยัง ครม. จะมีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมาจากฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ พลเรือน และสภาความมั่นคง ร่วมกันประเมินก่อน ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นตรงกันว่า ถึงแม้สถานการณ์บางพื้นที่ยังไม่เกิดเหตุแต่ว่า เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง มีความจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เหตุการณ์ยังครุกกรุ่น ยังมีความเคลื่อนไหวในทางการข่าว หรือเสี่ยงที่พื้นที่จะกลับมาเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงมีความเป็นที่จะต้องคงสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศใช้ พรก.
“เมื่อไหร่ที่ตัวชี้วัดหลายๆตัว โดยเฉพาะความเห็นจากพี่น้องประชาชน หากพี่น้องประชาชนต้องการแสดงความมั่นใจว่า สถานการณ์ในพื้นที่ของตัวเองไม่มีเหตุ และสามารถดูแลพื้นที่ของตัวเองได้ ก็จะเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินและเสนอไปยังครม.เพื่อไม่ต่อ พรก.ฉุกเฉิน แต่เหตุผลในวันนี้ที่ยังต้องต่อ พรก.ฉุกเฉินนั้น เพราะอยู่ที่พี่น้องประชาชน หากพี่น้องประชาชนยังมีความก้ำกึ่ง รัฐบาลด้วยความห่วงใย จึงทำให้ต้องใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อไป”
นายกิตติ กล่าวอีกว่า แม้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.จะเป็นหน่วยงานพัฒนา แต่บนมิติของความมั่นคง ซึ่งมิติของความมั่นคงต้องมองใน 2 มิติ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ก็มองความมั่นคงของประเทศเป็นมิติหลักในการรักษาดินแดนอำนาจอธิปไตยตรงนี้ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ในมิติของหน่วยงานการพัฒนา เรามองความมั่นคงของมนุษย์ โดยมองความมั่นคงในความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ความปลอดภัย ความมั่นใจ ความไม่หวาดระแวงต่อกัน ความมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู หรือความเป็นพหุวัฒนธรรมให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ซึ่งแสดงว่า ความมั่นคงในการอยู่ร่วมกัน ในมิติแชิงสังคม หรือมิติในความมั่นคงของมนุษย์กลับมาแล้ว
ทั้งนี้หน้าที่ของ ศอ.บต.เราจะยังคงทำหน้าที่ประเมิน เพื่อประกอบในการใช้พิจารณากฎหมายความมั่นคงตรงนี้ โดยเราต้องประเมินในมิติความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้วหรือยัง ความหวาดระแวงต่อกันยังมีอยู่หรือไม่ ความขัดแย้ง ความเห็นต่าง หรือแม้กระทั่งวิธีเลือกใช้ความรุนแรงยังมีอยู่อีกหรือไม่ รวมถึงความเป็นพหุวัฒธรรมที่จะอยู่ร่วมกันในอดีตกลับคืนมาแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตามที่สำคัญ ศอ.บต.จะยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อสะท้อนเสียงจากประชาชนไปยังรัฐบาล และคณะกรรมการฉุกเฉิน เพื่อประเมินสถานกาณ์ในพื้นที่ต่อไป
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้