เลบานอนกำลังรอผลอย่างเป็นทางการของการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งแรกของประเทศนี้ในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ กระนั้นผลอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า กลุ่มฮิซบุลเลาะห์และพรรคพันธมิตรกวาดที่นั่งในสภาได้เกินครึ่ง โดยผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่าการเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้านี้ รอยเตอร์และอัลจาซีรารายงาน
กระทรวงมหาดไทยเลบานอนกล่าวว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (6 พ.ค.) 3.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 49.2 ซึ่งลดลงจาก 54 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2552
ผลอย่างเป็นทางการจะถูกประกาศในการแถลงข่าววันนี้ (จันทร์)
อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการตามรายงานของพรรคการเมืองและสื่อต่างๆ ของเลบานอนระบุว่า ฮิซบุลเลาะห์และพรรคการเมืองพันธมิตรได้รับเลือกตั้งเกินครึ่งของที่นั่งในสภา
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัคร 583 คน รวมถึงผู้หญิง 86 คนที่ลงแข่งขันชิงที่นั่งในสภาที่มี 128 ที่นั่ง
การเลือกตั้งในวันอาทิตย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากเก้าปีแห่งความโกลาหลทางการเมืองที่ทำให้ประเทศนี้ปราศจากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลานานถึงสองปี และรัฐสภาต้องต่อวาระการดำรงตำแหน่งหลายครั้ง
ในปี 2013 การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และอีกครั้งในปี 2014 และ 2017 เนื่องจากนักการเมืองไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดของระบบการเลือกตั้งใหม่

ด้วยการแบ่งแยกทางความเชื่อที่เกิดขึ้นในเลบานอนจนเคยนำประเทศไปสู่สงครามกลางเมือง ระบบการเมืองของเลบานอนจึงมีการจัดสรรอำนาจโดยกำหนดว่า ประธานาธิบดีจะต้องคริสเตียน นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นมุสลิมซุนนี และประธานรัฐสภาจะต้องเป็นมุสลิมชีอะห์
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ 128 คนนั้น ก็แบ่งสัดส่วน 50/50 โดย 64 ที่นั่งเป็นของมุสลิม ประกอบด้วยซุนนี ชีอะห์ อะลาวี รวมทั้งดรูซ ขณะที่อีก 64 ที่นั่งเป็นของคริสต์ ประกอบด้วย โรมันคาธอลิก มาโรไนต์ ออโธดอกซ์ โปรแตสแตนท์ อาร์เมเนียนคาธอลิก อาร์เมเนียนออโธดอกซ์ และคริสเตียนกลุ่มน้อย
นักวิเคราะห์มองว่า อีกด้านหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มการเมืองพันธมิตรที่ซาอุดิอาระเบียหนุนหลังซึ่งมีนายซะอัด ฮารีรี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหอก กับฮิซบุลเลาะห์และพันธมิตรที่มีอิหร่านหนุนหลัง
ตำแหน่งที่ทรงพลังของฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ของอิหร่านผ่านทางอิรักและซีเรียไปจนถึงกรุงเบรุต ฮิซบุลเลาะห์ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายโดยประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นศัตรูสำคัญของอิสราเอลประเทศเพื่อนบ้าน
ผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการยังแสดงให้เห็นว่านายซะอัด ฮารีรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกจะเป็นผู้นำมุสลิมซุนนีที่มีกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐสภา ซึ่งจะทำให้เขาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลต่อไปแม้จะสูญเสียที่นั่งก็ตาม