“มหาวิหารแวงค์” อัศจรรย์วิถีชุมชนคริสต์อาร์เมเนียในประเทศอิหร่าน

มหาวิหารแวงค์ (Vank Cathedral) โบสถ์เก่าแก่ร่วม 400 ปี ของชนกลุ่มน้อยอาร์เมเนียน กับวิถีชาวคริสเตียนในประเทศอิสลามอย่างอิหร่าน

“มหาวิหารแวงค์” ของชุมชนคริสต์อาร์เมเนีย อิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน Rasool AB / wikipedia

หลังสงครามออตโตมัน ปี 1603-1605, ชาวอาร์เมเนียน (Armenians) ก็เริ่มเดินทางถึงอิหร่านเพื่อหาชีวิตใหม่ภายใต้การปกครองของ กษัตริย์ “ชาห์ อับบาส ที่ 1” แห่งราชวงศ์ซาฟาวิด

“ชาห์ อับบาส ที่ 1” คือผู้นำมาซึ่งการตั้งถิ่นฐานของชาวอาร์เมนียนนับหมื่นคนในหลายจังหวัดของอิหร่านทางตอนใต้ของแม่น้ำอะราส (Aras River) เขายังเป็นผู้ขนย้ายชาวอาร์เมเนียนที่หลบหนีการสังหารหมู่ของออตโตมันใน “นัคชีวาน” (Nakhchivan) ไปยังอิหร่าน

“เมืองนัคชีวาน” ประสบภัยอย่างหนักจากสงคราม ช่วงศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 18 ระหว่างเปอร์เซียกับจักรวรรดิออตโตมัน เมืองนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิซาฟาวิดในศตวรรษที่ 16

ในปีค.ศ.1604 เมื่อกษัตริย์ “ชาห์ อับบาส ที่ 1” ตระหนักว่าดินแดนนัคชีวานและบริเวณโดยรอบอาจตกอยู่ในมือของออตโตมัน พระองค์จึงตัดสินใจบังคับให้ชาวมุสลิม ยิว และชาวอาร์เมเนีย อพยพยออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและย้ายไปอยู่ที่อิหร่าน

ผู้อพยพชาวอาร์เมเนียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมือง “อิสฟาฮาน” (Isfahan) เมืองหลวงของราชวงศ์ซาฟาวิด โดยอาศัยอยู่ในเขต “จอลฟาใหม่” (New Jolfa) ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของตน (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน)

เมื่อเข้าสู่อิหร่านผู้อพยพชาวอาร์เมเนียได้เริ่มสร้างโบสถ์และอารามเพื่อดำเนินกิจกรรมทางศาสนาต่อไปในบ้านหลังใหม่

อารามแห่งแรกใน “จอลฟา” สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1606 รวมถึงโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งชื่ออัมนา เพอร์คิช (Amna Perkich) ซึ่งหมายถึง “การรักษาเยียวยาทั้งหมด”

คริสตจักรเล็กๆ แห่งนี้ได้ถูกขยายออกไปในภายหลังและกลายเป็น “มหาวิหารแวงค์” (Vank Cathedral) ที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม ซึ่งสร้างขึ้น 50 ปีต่อมาภายใต้การดูแลของ “อาร์คบิชอปเดวิด” ( Archbishop David)

มหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

โบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอิหร่านนี้ สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ.1664 โบสถ์ประกอบด้วย หอระฆังซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1702 สำนักพิมพ์ก่อตั้งขึ้นโดยบิชอปคาชาโตร์ ( Bishop Khachatoor) ห้องสมุดก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1884 และมีพิพิธภัณฑ์ที่เปิดเมื่อปี 1905

สถาปัตยกรรมของอาคารเป็นส่วนผสมของสไตล์ซาฟาวิดในศตวรรษที่ 17 ที่มีซุ้มประตูสูง และโดมสไตล์อิสลาม

มหาวิหารแห่งนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อสถาปัตยกรรมและการตกแต่งของคริสตจักรจำนวนมากในอิหร่านและภูมิภาคเมโสโปเตเมีย

ทางเข้าหลักของโบสถ์เป็นประตูไม้ขนาดใหญ่ที่นำพาผู้เข้าชมเข้าไปสู่ในลานของอาคาร

ทางเข้าลาน / ภาพ: วิกิพีเดีย

เมื่อเข้าไปในลานก็จะพบกับห้อง 2 ห้อง ที่ห้องหนึ่งเคยใช้เป็นสำนักงานบริหาร ซึ่งช่วยให้ชาวอาร์เมเนียดำเนินการเอกสารของตน

หอระฆังขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในลานโบสถ์และตั้งอยู่เหนือหลุมฝังศพของชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์และโปรเตสแตนต์ซึ่งถูกฝังอยู่ตามแนวกำแพงก่อนถึงทางเข้า

ทางเข้ามหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

หอระฆังนี้สร้างขึ้น 38 ปีหลังจากมีตัวอาคารหลัก หอระฆังนำไปสู่ตัวมหาวิหาร

ด้านขวาของหอระฆังมีจารึกสีฟ้าขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยศิลาตรึงกางเขน ศิลาเหล่านี้ได้รับการเก็บรวบรวมจากโบสถ์ที่สลักหักพังในเขตจอลฟา

ในบริเวณที่ถูกยกขึ้นสูงทางด้านซ้ายเป็นอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่โดยชาวเติร์ก ทุกๆ ปีในวันที่ 23 เมษายน ชาวอาร์เมเนียจะมาร่วมรำลึกโดยจุดเทียนเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิตของพวกเขา

ลานมหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

ที่มุมลานของมหาวิหาร ห้องพักและห้องโถงถูกสร้างขึ้นเพื่อต้อนรับแขกเหรื่อ อาร์คบิชอปแห่งอิสฟาฮานและผู้ติดตามของเขา รวมทั้งหน่วยงานทางศาสนาอื่นของอาร์เมเนียในอิหร่าน

ข้ามลานไปและหันหน้าเข้าหาวิหารเป็นอาคารซึ่งมีห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์แวงค์

ห้องสมุดแห่งนี้มีเอกสารโบราณมากกว่า 700 ชิ้นและเป็นต้นฉบับที่หายากเกี่ยวกับชาวอาร์เมเนีย ยุโรปยุคกลาง และศิลปะต่างๆ

พิพิธภัณฑ์ ด้านหน้ามหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

ส่วนพิพิธภัณฑ์แวงค์ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีสิ่งของประเภทต่างๆ มากมายที่ประเมินค่ามิได้ซึ่งรวบรวมจากชาวอาร์เมเนียทั่วโลก

พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในปี 1871 (พ.ศ.2414) มีสิ่งของหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของมหาวิหารและชุมชนชาวอาร์เมเนียอิสฟาฮาน รวมถึง “พระราชกฤษฎีกา 1006” ของกษัตริย์ชาห์อับบาส ที่ 1ว่าด้วยการสร้าง “จอลฟาใหม่” (New Jolfa) และห้ามการแทรกแซง รบกวน กลั่นแกล้งชาวอาร์เมเนียรวมทั้งทรัพย์สินและกิจการของพวกเขาในเขตนี้

คัมภีร์ไบเบิลที่วิจิตรบรรจงเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรวบรวมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คัมภีร์ไบเบิลเจ็ดเล่มที่แสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เชื่อว่าบางส่วนจะเป็นข้อความที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกในเจ็ดภาษา

เครื่องแต่งกายยุคซาฟาวิด สิ่งทอ ภาพวาดของชาวยุโรปที่นำกลับมาโดยพ่อค้าอาร์เมเนีย งานเย็บปักถักร้อยและของมีค่าอื่น ๆ จากมรดกการค้าของชาวอาร์เมเนียอิหร่านยังเป็นส่วนหนึ่งของคลังสิ่งของที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพิพิธภัณฑ์ซึ่งหาที่เหมือนมิได้

พิพิธภัณฑ์แวงค์ยังเป็นที่ตั้งของรูปถ่าย แผนที่ และเอกสารเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียในปี 1915 โดยกษัตริย์ออตโตมัน

นอกจากนี้ยังมีเสื้อพิธี ภาชนะใส่น้ำมนตร์ ถ้วยสำหรับใส่ไวน์ในงานพิธีทางศาสนา และวัตถุศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงไว้

โรงพิมพ์ของมหาวิหารแวงค์เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง หนังสือเล่มแรกที่เผยแพร่โดยมหาวิหารเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของนักบวชและบาทหลวงชาวอาร์เมเนีย ซึ่งปัจจุบันมีเก็บอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นที่พิพิธภัณฑ์แวงค์

เครื่องพิมพ์ต้นแบบซึ่งสร้างขึ้นโดยบิชอปนาคาทูร์ (Bishop Khachatoor) ถูกแทนที่ด้วยเครื่องใหม่จากอัมสเตอร์ดัมในปี ค.ศ. 1647

ต่อมาในปี ค.ศ.1844 ชาวเมืองอาร์เมเนียแห่งจอลฟาได้นำเครื่องจักรพิมพ์จากยุโรปซึ่งก็ปัจจุบันก็ถูกแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แวงค์

หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์นี้คือ “บทเพลงสดุดีของดาวิด” (Psalms of David) ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ที่ห้องสมุดบอดี้เลอ็งค์ของอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford’s Bodleian Library)

ภายนอกอาคารมหาวิหารก่อด้วยอิฐสีเหลือง ทำให้เห็นวิธีผสมผสานที่น่าทึ่งของกระเบื้องเปอร์เซีย ทองไบเซนไทน์ และภายในด้วยภาพวาดบนผนังปูนปลาสเตอร์เปียกหรือเฟรสโก้ (fresco) สไตล์ยุโรป

ด้านนอกโดดเด่นด้วยอย่างทันสมัยและเรียบง่าย ตรงกันข้ามกับการตกแต่งภายในอย่างรื่นรมย์

ภายในมหาวิหาร / ภาพ วิกิพีเดีย

เพดานทางเข้าประดับประดาด้วยลวดลายดอกไม้ และด้านข้างของกำแพงถูกปกคลุมไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วาดภาพเหตุการณ์ต่างๆ จากชีวิตของพระเยซู

เพดานมหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

ภายในตกแต่งด้วยภาพวาด แกะสลักปิดทอง และกระเบื้องเคลือบที่สะดุดตา

บนผนังด้านเหนือของของมหาวิหารเป็นภาพวาดวันพิพากษา จะเห็นสวรรค์ที่วาดอยู่ด้านบนและภาพนรกเบื้องล่าง

ภาพจิตกรรมสวรรค์ โลก และนรก ภายในมหาวิหารแวงค์ / wikipedia

ด้านล่างของผนังด้านในถูกปกคลุมไปด้วยภาพวาดชาวอาร์เมนียนที่ถูกทรมานโดยเติร์กออตโตมัน

เพดานและโดมถูกปิดทองไว้อย่างสวยงามและประดับประดาด้วยภาพวาดและดอกไม้ประดับตกแต่ง

ภาพเขียนแสดงถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการสร้างจักรวาลและการขับไล่มนุษย์ออกจากสวนอีเดน

มุมมองภายในมหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

มีหน้าต่าง 8 บานล้อมรอบโดม พื้นที่ระหว่างหน้าต่างเป็นเรื่องราวในพระคัมภีร์ การสร้างอาดัมและอีฟ การกินผลไม้ต้องห้าม และการตายของอเบล เป็นต้น

การประสูติของพระเยซู อาหารมื้อสุดท้าย การตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์ และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซูซึ่งเป็นเรื่องราวในพระคัมภีร์ก็ปรากฏในภาพเขียนภายในมหาวิหาร

มุมมองภายในมหาวิหาร / ภาพ: วิกิพีเดีย

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ชาห์ อับบาส ที่ 1 ผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์ “ชาห์ อับบาส ที่ 2” ก็ยังคงให้ความสำคัญกับชาวอาร์เมเนียและจอลฟาใหม่ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำซายานเดะห์ (Zayandeh) และยังคงเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวอิหร่าน-อาร์เมเนีย

ชุมชนชาวอาร์เมเนียของอิหร่านเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 1933 (พ.ศ.2476) ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากสหภาพโซเวียตยังคงแห่แหนกันไปยังอิหร่าน

พวกเขาสร้างโบสถ์ โรงเรียน ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์ศิลปะและกีฬาหลายแห่งทั่วประเทศ และกลายเป็นชุมชนคริสเตียนที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน

วันนี้ ชาวอิหร่าน-อาร์เมเนียมีสองที่นั่งในรัฐสภาอิหร่าน (Majlis) และเป็นชนกลุ่มน้อยเพียงกลุ่มเดียวที่มีสถานะผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการในสภาการ์เดียน (Guardian) ซึ่งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งของอิหร่าน และสภา Expediency ของอิหร่าน

…..

อ้างอิง

http://www.payvand.com/news/10/aug/1217.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Vank_Cathedral