ดร.ปกรณ์ ปรียากร : ตลาดฮาลาลโลกขยายตัวมหาศาล โอกาสสำคัญผู้ประกอบการไทย

เตรียมความพร้อมเดินหน้าสู่อนาคต เจาะตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก หนุนผู้ประกอบการไทยมุสลิมไทย ก้าวสู่ยุคทองแห่งอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามา ด้วยแรงหนุนจากภาครัฐ นักวิชาการแนะ เร่งเติมเต็มศักยภาพในทุกด้านรองรับ ชี้ความได้เปรียบสร้างเทรนด์อุตฯ ท่องเที่ยวบริการไทยแม่เหล็กดึงดูดมุสลิมทั่วโลก 

เป็นอีกเรื่องที่ไม่น่าจะมองข้าม สำหรับมุสลิมและผู้ประกอบการมุสลิมในประเทศไทย กับ การเตรียมความพร้อมเพื่อบุก “ตลาดฮาลาล” นำสินค้าฮาลาลของไทย ออกไปทั่วโลก โดยมีรายได้จากช่องทางการตลาดมูลค่านับหมื่นล้านเหรียญภายใต้การสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลก จากภาครัฐ และกลายเป็นจุดเริ่มต้น “ยุคทองสินค้าฮาลาล” จากประเทศไทย ที่ควรเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าสู่อนาคต 

เพราะมาตรฐาน “ฮาลาล” ไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลเส้นทางนี้จึงเป็นเสมือนเส้นทางเปิดที่เหลือแต่เพียงผู้ประกอบการไทยออกไปสร้างฐานการตลาดและสร้างช่องทางเชื่อมโยงกับตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ทั่วโลกการันตีด้วยมาตรฐานฮาลาลและคุณภาพของสินค้าฮาลาลจากประเทศไทยที่แน่นอนว่า “ไม่เป็นรองประเทศใดในโลก” แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิมก็ตาม 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากรผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ เดอะพับลิกโพสต์ ภายในงานเปิด โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้ประกอบการด้านเบเกอรี่และเค้ก เพื่อเข้าสู่การรับรองฮาลาลรุ่นที่ 1” ณ  ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการสวนหลวงสแควร์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ว่า

เรื่องของตลาดฮาลาลในเวลานี้ขยายตัวอย่างกว้างขวางมาก อาจจะเรียกได้ว่าครอบคลุมในทุกภูมิภาคของโลกก็ว่าได้ โดยผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทยซึ่งแต่เดิมนั้นอาจจะมีเฉพาะเรื่องอาหาร ในปัจจุบันก็เริ่มจะมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารมากขึ้น ซึ่งในเวลานี้ทางรัฐบาลเองก็พยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในเชิงของตลาด จากตลาดหลักเดิมก็คือกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นประเทศมุสลิม (อินโดฯ มาเลย์ บรูไน) โดยกำลังก้าวไปเข้าไปสู่ตลาดที่กว้างและใหญ่มากยิ่งขึ้น อย่างกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งมีตลาดใหญ่สุดที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย  และมีตลาดรองลงมาคือประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ ซึ่งประกอบด้วย โอมาน กาตาร์ คูเวต บาร์เรนห์ ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ซึ่งเป็นตลาดมุสลิมกลุ่มที่ใหญ่มาก” 

แต่ถ้ามองจากภาพรวมทั้งหมดจากตลาดที่กล่าวมายังสามารถเชื่อมโยงตลาดที่อยู่ทางด้านเหนือในภูมภาคเอเชียกลางเช่น อุซเบกิสถาน เตอร์กิสถาน อาเซอร์ไบจาน และประเทศอื่นๆ ที่เป็นมุสลิมอีกหลายประเทศ ตลอดไปจนถึงในประเทศรัสเซียที่จะมีเมืองสำคัญๆ ที่มีประชากรชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้หากลงมาทางด้านตะวันตกและด้านใต้ก็ยังมีตลาดใหญ่ๆ อย่างประเทศในแอฟริกาเหนือ เช่น อิยิปต์ ตูนีเซีย อัลจีเรีย ไปถึงโมร็อกโก ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตลาดที่กว้างมาก 

“นอกจากนี้แล้วยังมีตลาดในด้านตะวันตกเฉียงเหนืออย่างตุรกีที่จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงไปสู่ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกหรือแม้แต่ในยุโรปตะวันตกซึ่งก็มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน และจากจุดนี้เมื่อข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปก็จะเป็นตลาดทวีปอเมริกาเหนือที่จะมีประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งก็เป็นตลาดใหญ่มากและมีการแข่งขันสูงในเชิงคุณภาพ และยังมีกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ซึ่งเป็นตลาดใหม่โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศบราซิลซึ่งตลาดสินค้าฮาลาลในเวลานี้นั้นครอบคลุมเกือบทั่วทั้งโลก” รศ.ดร.ปกรณ์กล่าว 

ตลาดฮาลาลทั่วโลกที่ถ้ามองจากแผนที่โลกก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมอยู่ในหลายประเทศซึ่งมีข้อแตกต่างเกี่ยวกับอาหารฮาลาลในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางประเทศก็จะเน้นไปที่เรื่องของคุณภาพ บางประเทศบางภูมิภาคก็อาจเน้นไปที่เรื่องของความแปลกใหม่และความเคร่งครัดกับมาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยหากต้องการเจาะตลาดเหล่านี้จำเป็นต้องเรียนรู้ 

ผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาลฯ กล่าวถึงมูลค่าจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับตลาดฮาลาลในส่วนนี้ว่า “ปัจจุบันมูลค่าตลาดสินค้าฮาลาลของไทยอยู่ที่ราว 6,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถ้ามองต่อไปในอนาคต ที่คาดการณ์กันว่าอาจสูงถึง 8,000 ล้านเหรียญฯ ในปี 2020  และ ในปี 2030 อาจสูงถึง 12,000 ล้านเหรียญฯ นี่เป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ เมื่อตลาดมี ก็อยู่ที่ศักยภาพและความสามารถของผู้ผลิตที่จะเข้าไปเจาะตลาดนั้นได้อย่างไร”

“ขณะที่การเข้ามาลงทุนสินค้าฮาลาลในประเทศไทยก็จะต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นประเภทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไทยเองก็เปิดลู่ทางเอาไว้ให้ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือแม้แต่เวชภัณฑ์”

“แต่สำหรับประเทศไทยแล้วยังมีอุตสาหกรรมอีกด้านที่ไทยมีความได้เปรียบมีความเชี่ยชาญและมีความน่าสนใจเป็นแม่เหล็กดึงดูดในด้านนี้อยู่แล้วคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการซึ่งในอนาคตผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มมุสลิมมากขึ้นตลาดมุสลิมด้านการท่องเที่ยวมีทิศทางที่จะเติบโตได้ดีในอนาคตซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ” 

เมื่อเห็นภาพ “ตลาดฮาลาล” ที่มีมากมายหลายด้านรวมถึงในด้านท่องเที่ยวและสำรวจเส้นทางแห่งยุคทองของการเจาะตลาดฮาลาลที่กำลังจะมาถึงก็ถึงเวลาที่ไทยและผู้ประกอบการมุสลิมไทยต้องเร่งเติมสเต็มศักยภาพในด้านต่างๆเพื่อแชร์ส่วนแบ่งตลาดฮาลาลจากทั่วโลกที่มีทิศทางการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญเอาไว้ให้ได้มากที่สุด 

เพราะนี่ถือเป็นช่องทางสำคัญและกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคทองเป็นโอกาสเป็นเส้นทางแห่งอนาคตที่คาดการณ์กันว่าจะมาถึงในไม่ช้า 

เพราะเป็นเรื่องของการสร้างอุตสาหกรรมสร้างธุรกิจที่มีรายได้มหาศาลรออยู่ข้างหน้าแม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิมแต่วันนี้ประเทศมุสลิมหลายๆประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยยังอาจมีศักยภาพไม่เท่ากับประเทศไทยในเวลานี้ซึ่งเป็นเรื่องที่รศ.ดร.ปกรณ์กล่าวทิ้งท้ายบนเวทีไว้อย่างน่าสนใจ