จังหวัดปัตตานี เขต 1 นายเด่น โต๊ะมีนา นายมุข สุไลมาน เขต 2 นายปรีชา บุญมี จ่าสิบเอก ศักดิ์ มะอีแต จังหวัดนราธิวาส เขต 1 นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, นายพิศุทธิ์ หะยีดิน เขต 2 นายปริญญา เจตาภิวัฒน์, นายนัจมุดดิน อูมา จังหวัดยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, นายไพศาล ยิ่งสมาน จังหวัดสตูล นายวิฑูรย์ หลังจิ จังหวัดกระบี่ นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ในจำนวนผู้สมัครที่กล่าวนามมาข้างต้นมีทั้งอดีต ส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส.ตัวแทนคนรุ่นใหม่ อดีตผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดังมีรายนามดังนี้
1. นายมุข สุไลมาน นักกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่ม “สลาตัน” แกนนำคนสำคัญการประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีปี พ.ศ. 2518 สมัคร ส.ส. ครั้งแรก ในนามกลุ่มวะห์ดะห์ พรรคประชาชนเมื่อครั้งเลือกตั้งปี พ.ศ. 2531 แม้พลาดไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่ยังเป็นที่นิยมชมชอบของบรรดาคนรุ่นใหม่
2. นายนัจมุดดิน อูมา นักกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่ม PNYS สมัคร ส.ส. ครั้งแรกกับอดีต ส.ส. นายเสนีย์ มะดากะกุล ในนามพรรคกิจประชาคม เมื่อครั้งเลือกตั้งปี พ.ศ. 2529 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2531 ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เป็นทีมงานคนรุ่นใหม่กลุ่ม วะห์ดะห์ สนับสนุนหาเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดนราธิวาส
3. นายพิศุทธิ์ หะยีดิน อดีตเอกอัครราชทูต ที่ปรึกษาสถานทูตไทย ณ กรุงริยาด ประเทศ ซาอุดิอาระเบีย เป็นบุคคลที่มีความรู้ทั้งทางด้านศาสนาและสามัญ ได้รับความนิยมจากบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี
การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มวะห์ดะห์นอกจากรณรงค์หาเสียงโดยชูประเด็นนโยบายของกลุ่มที่ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มแล้ว ยังชูประเด็นนโยบายฮารัปปันบารูที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ดำเนินการมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คือ ดอกไม้หลากสีอยู่ในแจกันเดียวกัน บ่งบอกถึงประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีคนหลายชนชาติหลายศาสนาอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขและสันติ รักใคร่สมานสามัคคีปรองดอง การรณรงค์หาเสียงใช้รูปแบบการปราศรัยบนเวทีเล็กๆ ในตำบล บนเวทีอำเภอละแห่ง จนถึงจัดเวทีปราศรัยใหญ่จังหวัดละหนึ่งแห่ง ก่อนเลือกตั้ง 2 วัน เป็นการทิ้งทวนครั้งสุดท้าย โดยมี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคมาร่วมปราศรัยวิ่งรอกทั้งสามจังหวัด ท่ามกลางประชาชนมาร่วมฟังนับจำนวนประมาณสามสี่หมื่นคน เป็นบรรยากาศที่สร้างสีสรรค์ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสวยงาม
พรรคการเมืองคู่แข่งของกลุ่มวะดะห์ที่สำคัญ คือ เจ้าเก่าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองที่ก่อตั้งมาใหม่รองรับการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพรรคสามัคคีธรรมเพียบพร้อมด้วยอำนาจทางการเมืองและกระสุนดินดำ (ทุน)การเงินสูงกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ อีกทั้งบุคคลากรผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคสามัคคีธรรมล้วนแต่เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ครำ่หวอดในทางการเมืองส่วนใหญ่เป็น ส.ส. มาคนละหลายสมัยหลายพรรคการเมืองเป็นเครื่องการันตีเป็นอย่างดี
สำหรับพรรคความหวังใหม่แล้ว แม้เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาหมาดๆ แต่พะยี่ห้อ ของนายทหารประชาธิปไตยอันมีนามว่า พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ แล้ว ชื่อเสียงเรียงนามดังกึกก้องทั่วฟ้าเมืองไทย ตั้งแต่มียศพันเอกที่อาสาประเทศชาติแอบเข้าไปยังประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อเป็นการนำร่องพูดคุยเจรจาเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การเปิดสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศกับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ในสมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปี 2518-2519
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ทางฝ่ายมารดาของท่านสืบสายจากสกุลสุลต่านสุลัยมานชาห์ แห่งหัวเขาแดงซิงฆอรา(สงขลา) ภรรยาท่านคือ คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ หรือชื่อเล่นว่า คุณหญิงหลุยส์ เป็นลูกครึ่งคุณแม่อินโดนีเซีย คุณพ่อเนเธอร์แลนด์ มาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ปัจจุบันนี้ยังติดต่อสัมพันธ์ไปมากับญาติๆ ฝ่ายคุณแม่ที่อินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด และคุณหญิงหลุยส์ยังสามารถสื่อสารเป็น บาฮาซาอินโดนีเซียได้พอสมควร
พล.อ. ชวลิตฯ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีในทุกวงการทั้งการเมือง การทหาร การต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการสื่อทั้งในและต่างประเทศต่างชื่นชมในความเป็นนายทหารประชาธิปไตยที่เคยป้องกันและปราบปรามการรัฐประหารทุกครั้งสมัยที่เป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในอันดับต้นๆ ของบรรดาลูกป๋าทั้งหลาย มีมันสมองเฉียบแหลม เขียนนโยบาย 66/23 ซึ่งเป็นนโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและใช้กำลังต่อสู้ของคนในชาติ โดยใช้สโลแกนหรือคำขวัญว่า การเมืองนำการทหาร พล.อ.เปรมฯ นำนโยบายนี้ไปใช้ช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความแตกแยกทางความคิดที่แบ่งขั้ว ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย จนยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของคนไทยด้วยกันที่มีมาอย่างยาวนานสำเร็จ เกิดสันติสุข สมานฉันท์ ปรองดองคนในชาติ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถึงกับสลายตัวไปชั่วกัลปาวสาน
พล.อ. ชวลิตฯ ไม่เพียงแต่มีบทบาททำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเท่านั้นที่ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธในประเทศไทย ยังรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่ต่อสู้ทั้งทางความคิดเชิงอุดมการณ์และใช้อาวุธประหัตประหารต่อกรกับรัฐบาลมาเลเซียมาหลายสิบปีตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ยังยุติการต่อสู้ดวยอาวุธกับรัฐบาลมาเลเซียอีกด้วย ทั้งนี้ พล.อ. ชวลิตฯ เป็นคนกลางทำหน้าที่เป็นกาวใจให้กับทางรัฐบาลมาเลเซียและพรรคคอมมิวนิสต์มลายาพูดคุยเจรจาสันติภาพจนประสบผลสำเร็จ กองกำลังคอมมิวนิสต์มลายาได้ขออาศัยผืนแผ่นดินไทยในเขตพื้นที่อำเภอสุคิรินจังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเรือนตายอยู่อย่างถาวรตลอดไป ภายใต้ชื่อว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกหลานของกองกำลังเหล่านี้ มีฐานะเป็นคนไทย การศึกษาจบชั้นสูงๆ มีอาชีพมั่นคงเจริญก้าวหน้าอย่างถ้วนหน้า ส่วนชนชั้นหัวหน้า เช่น “จินเป็ง” หรือ “เฉิงฟง” ได้ไปอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินจีนเมืองแม่ไปๆ มาๆ กับกรุงเทพมหานคร
สำหรับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.อ. ชวลิตฯมีแนวความคิดเดียวกันกับการแก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ สถาปนาให้ประเทศไทยเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและสมบูรณ์ คือ ยอมรับในความแตกต่างของคนในชาติ ยึดมั่นในทฤษฎีแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ยอมรับและให้เกียรติในเรื่อง ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และความเป็นธรรม เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ให้แต่ละพื้นที่ภูมิภาคในประเทศไทยจัดการตนเอง โดยไม่ขัดกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ พล.อ. ชวลิตฯเป็นคนติดดิน แม้สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก มีความขยันขันแข็งเยี่ยมเยียนชาวบ้านทุกหัวระแหง เช่น คราวหนึ่งได้เยี่ยมเยียนพบปะผู้นำศาสนาอิสลามที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา ได้ไต่ถามทุกข์สุขของผู้นำศาสนาอิสลาม ปรากฏว่า ผู้นำศาสนาอิสลามทั้งหลายได้ระบายความทุกข์ใจกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้นำศาสนาอิสลาม โต๊ะครูปอเนาะ อุสตัส ครูตาดีกา มักถูกเจ้าหน้าที่ ความมั่นคงเพ่งเล็งระแวงสงสัยตลอดเวลา ทำให้เกิดท้อใจหมดหวังกับชีวิต เมื่อพล.อ. ชวลิตฯ ได้ฟังการระบายทุกข์ในใจของผู้นำศาสนาอิสลามหลายๆ คนแล้ว ท่านจึงได้กล่าวว่า ต่อไปนี้ท่านผู้นำศาสนาอิสลามและประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ต้องหมดหวังอาลัยอาวรณ์กับชีวิตอีกต่อไป ท่านจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุข มีความหวังใหม่เสียที และถามผู้นำศาสนาอิสลามในที่พูดคุยว่า “ความหวังใหม่” ในความหมายภาษามลายู แปลว่าอะไร ในที่ประชุมตอบว่า “ฮารัปปันบารู”
โครงการฮารัปปันบารูของ พล.อ.ชวลิตฯเน้นหนักไปในเรื่องการลดความหวาดระแวงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางซีกฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าในส่วนราชการใด ห้ามมีความคิดอคติและหวาดระแวงผู้นำศาสนาอิสลาม ห้ามใช้อำนาจที่ขัดกับหลักกฎหมายหรือหลักคุณธรรมกับประชาชน ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาค มีอิสระเสรีในการดำรงชีวิตตามวิถีทางของศาสนาและความเป็นอัตตลักษณ์ของตน ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ต่อมาเมื่อ พล.อ.ชวลิตฯ เดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ลาออกจากตำแหน่งราชการก่อนเกษียณอายุราชการ 5 ปี รวบรวมมิตรสหายที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า พรรคความหวังใหม่ ชื่อภาษามลายูว่า “ ฮารัปปันบารู “ ได้บรรจุโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินงานมาในสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกเข้าไว้ในนโยบายพรรคความหวังใหม่เพื่อขับเคลื่อนโครงการที่ทำมาแล้วให้ต่อเนื่องให้สำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป
โครงการหนึ่งที่ พล.อ. ชวลิตฯ ใฝ่ฝันที่จะทำมาก คือ โครงการขุดคอคอดกระ ที่เชื่อมทะเลฝั่งตะวันออกกับตะวันตก เป็นคลองเส้นทางเรือสินค้าผ่านลัดเส้นทางช่องแคบมะละกา ร่นระยะทาง ร่นระยะเวลา ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ริมฝั่งคลองทั้งสองข้างจะเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นสถานที่แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในโลก และเป็นโครงการที่สามารถสร้างงานให้กับคนไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ผลพลอยได้ของกองทัพเรือไทยจะเป็นการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางเรือที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคของโลก
(ต่อฉบับหน้า)
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์