ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (52)

พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ชายชาติอาชาไนย ยุคหนึ่งขณะอยู่ในชุดเครื่องแบบทหาร ได้สร้างสีสรรค์และตำนานการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยและความสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่เคยปรากฏ มาก่อน ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ทำให้พรรคความหวังใหม่ทางภาคใต้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด 13 คน ได้แก่

1. นายวีรเทพ สุวรรณสว่าง และ นายจตุรณ คชสีห์ จังหวัด ชุมพร

2. นายสานันท์ สุพรรณชนบุรี จังหวัดพัทลุง

3. พ.ท. สุชาติ จันทร์โชติสกุล นายสุรใจ ศิรินุพงศ์ นายสะเบต หลีเหร็ม จังหวัด สงขลา

4. นายเด่น โต๊ะมีนา นายมุข สุไลมาน จังหวัด ปัตตานี

5. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายไพศาล ยิ่งสมาน จังหวัด ยะลา

6. นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ นายนัจมุดดิน อูมา จังหวัด นราธิวาส

สำหรับพรรคการเมืองอื่นได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดชายแดนใต้มี นายสุดิน ภูยุทธานนท์ พรรคสามัคคีธรรม จังหวัด ปัตตานี นายเจะอามิง โตะตาหยง พรรคสามัคคีธรรม จังหวัด นราธิวาส

นับว่าเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่พรรคความหวังใหม่ ซึ่งเป็นพรรคน้องใหม่ สามารถแจ้งเกิดได้ในพื้นที่เขตเลือกตั้งทางภาคใต้ ชนิดพลิกความคาดหมายของบรรดาเกจิอาจารย์ทางการเมืองที่ทำนายทายทักกันมาตลอดระยะเวลาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ในครั้งนี้ ดินแดนถิ่นสะตอพื้นที่ฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์ถูกแย่งชิงไปหลายเขต เช่น จังหวัดชุมพร 2 ที่นั่ง จังหวัดพัทลุง 1 ที่นั่ง จังหวัดสงขลา 3 ที่นั่ง สำหรับเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ พล.อ. ชวลิต   ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่เคยสร้างผลงานสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ภายใต้โครงการฮารัปปันบารู มีบทบาทแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนพาคใต้ มีผลทำให้พรรคความหวังใหม่กวาด ส.ส. ได้ทั้งหมด 7 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 ที่นั่งได้แก่ จังหวัดนราธิวาส 3 ที่นั่ง จังหวัดปัตตานี 2 ที่นั่ง และ จังหวัดยะลา 2 ที่นั่ง นับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของกลุ่มวะห์ดะห์ ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มมาได้เพียง 7 ปี แถมยังได้ตัวแทนนักการเมืองของคนรุ่นใหม่ไฟแรงเพิ่มขึ้นมาอีก 3 คน ได้แก่ นายมุข สุไลมาน นายนัจมุดดีน อูมา และ นายไพศาล ยิ่งสมาน ส่วนพรรคสามัคคีธรรมในจังหวัดนราธิวาส ได้ ส.ส. คนหนุ่มหน้าใหม่ 1 คน คือ นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอรือเสาะ

แม้กลุ่มวะห์ดะห์ จะได้ ส.ส. จำนวน 7 คน ก็ยังไม่นับว่าโชคดีนัก เพราะพรรค           ความหวังใหม่ได้ประกาศเป็นนโยบายของพรรคช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า จะยืนหยัดในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอาคนนอก ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมและทำใจที่จะอยู่ซีกฝ่ายค้านสถานเดียว

ผลการเลือกตั้งภาพรวมทั้งประเทศ พรรคสามัคคีธรรม ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มากที่สุด จึงมีสิทธิ์เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ ส.ส. แพร่ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด ทำให้พรรคสามัคคีธรรมและพรรคที่จะร่วมเข้าเป็นรัฐบาลรวม 5 พรรค พลิกเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา        คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535

การที่ พล.อ. สุจินดาฯ ตระบัดสัตย์กลับคำพูดที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนเองจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น เป็นการไม่รักษาสัตย์ ไม่สมควรที่ผู้นำประเทศจะพึงกระทำ แต่ พล.อ. สุจินดาฯแก้เกี้ยวว่า การไม่รักษาคำพูดของตนเองนั้นเป็นการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ต่างหาก

การรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นการปลุกสร้างกระแสความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชนชั้นปัญญาชน ชนชั้นกลางและนักธุรกิจใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 4 พรรค ที่ได้รับสมญานามจากสื่อทั้งหลายว่าเป็นพรรคเทพ ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และ พรรคเอกภาพ ในขณะที่พรรคการเมือง 5 พรรค ฝ่ายสนับสนุน พล.อ. สุจินดาฯ ที่สื่อขนามนามว่า พรรคมาร ประกอบ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และ พรรคราษฎร การเผชิญหน้าทางการเมืองอย่างดุเดือด นอกจากในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังขยายวงเวทีการประท้วงนอกสภาอย่างเข้มข้นอีกต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันที่ 8 เมษายน 2535 หลัง พล.อ. สุจินดาฯได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งวัน อดีต ส.ส. ฉลาด วรฉัตร แห่งเมืองตราด ได้อดอาหารประท้วงบนฟุตบาทริมถนนอู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา โดยไม่กำหนดระยะเวลา จนกว่า พล.อ. สุจินดา คราประยูร จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้รัฐสภาเสนอแต่งตั้งบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

การเข้ารับนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.          สุจินดา คราประยูร ครั้งนี้ เหตุผลหลักที่พรรคการเมืองสี่พรรคที่ได้ชื่อว่า พรรคเทพ กลุ่มพลังองค์กรและองค์กรนักศึกษาสถาบันต่างๆ ร่วมกันคัดค้านเป็นเนื้อเดียวกัน คือ

1. คัดค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการคณะ รสช. เนื่องจากบุคคลในคณะ รสช. ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งนั้น มิได้กระทำเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาของประเทศเรื่อง การโกงกินคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดังคำประกาศเหตุผลในการทำรัฐประหารอย่างแท้จริง เพราะบรรดารัฐมนตรีที่ร่วมคณะรัฐบาลจากพรรคการเมืองรัฐบาลชุดเดิมที่ถูกล้มล้าง ยังอยู่ได้รับตำแหน่งสำคัญๆ อีกหลายคน ทั้งๆ ที่บุคคลที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของพล.อ. สุจินดาฯหลายคนถูกคณะ รสช. มีคำสั่งริบทรัพย์สินอันเนื่องจากร่ำรวยผิดปกติ ทำให้คณะ รสช. ถูกมองว่า การทำรัฐประหารยึดอำนาจของคณะ รสช. ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติแต่อย่างใด แท้จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ของทหารฝ่ายเดียว

2. คัดค้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยบุคคลที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อยู่ใต้อำนาจของคณะ รสช. อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการพื้นฐานการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เช่น จำนวนสมาชิกวุฒิสภาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ และประธานสมาชิกวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา เป็นต้น

สถานการณ์ทางการเมืองไทย นับตั้งแต่วันเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นไปแล้ว จนถึงการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.                สุจินดาฯ บรรดา ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แทบไม่ได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่เยี่ยมเยียนราษฎรในเขตเลือกตั้งของตน ทั้งนี้เพราะการเผชิญหน้าของการเมืองซีกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องเตรียมพร้อมที่จะต้องเข้าประชุมของแต่ละฝ่าย เพื่อปรึกษาหารือและประเมินบรรยากาศการเมืองนอกรัฐสภาว่า ประชาชนมีความรู้สึกหรือเกิดปฏิกริยาอย่างไรกับการที่เอาคนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี 

สถานการณ์การเมืองไทยภายหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพียง 3 วัน พรรคฝ่ายค้านเริ่มเปิดการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นการเปิดเกมส์การเมืองนอกรัฐสภา ทั้งนี้เพื่อระดมรวบรวมบรรดาองค์กรนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ให้ผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่นกดดันรัฐบาล ให้พล.อ. สุจินดา คราประยูร ถอนตัวจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เป็นตัวชูโรงคนสำคัญ จนถึงขั้นใช้มาตรการเดียวกันกับอดีต ส.ส. ฉลาด วรฉัตร คือ การอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 พล.อ. สุจินดาฯได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ขณะเดียวกันบริเวณหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมประท้วง จนรัฐสภาต้องปิดการประชุมอย่างกระทันหัน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2535 ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานงานให้พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตกลงร่วมกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ทำให้ พล.ต. จำลองฯ ยอมประกาศเลิกอดอาหารประท้วง แต่ต่อมาปรากฎว่าพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลบิดพริ้วไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง ทำให้สถานการณ์การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติร้อนแรงเพิ่มเป็นทวีคูณ พล.ต. จำลองฯจึงต้องออกโรงแสดงเป็นดาราตัวเอกของการประท้วงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกแขกเหรื่อมาร่วมชุมนุมประท้วงอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาต่อไป

ทางด้าน พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ปฏิเสธการเลื่อนเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่ใช่หักหลัง แต่ต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือภายในพรรคก่อน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนทางพรรคราษฎร ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่ง โดยนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขาธิการพรรค ได้แก้ตัวว่า ประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเพียง 2 ประเด็น คือ เรื่องของประธานรัฐสภา และการลดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ส่วนประเด็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่สาระสำคัญ หากให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ 

ดังนั้น กลุ่มองค์กรต่างๆ องค์กรนักศึกษา ผู้รักประชาธิปไตยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ต่างมุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวงอันเป็นสถานที่ชุมนุมประท้วงทางการเมือต่อสู้กับเผด็จการมาแล้วหลายๆ ครั้งในอดีต และการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ เป็นการประกาศตอกย้ำว่า กระแสประชาธิปไตยกำลังมาแรงจริงๆ