ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (55)

เมื่อได้จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลามเรียบร้อยแล้ว นายเด่น โต๊ะมีนา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนาม ปรากฎว่า พล.อ.ชวลิตยังไม่ลงนาม เพราะช่วงขณะนั้นมีเหตุการณ์ลอบวางเพลิงโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 30 กว่าโรง มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยรายงานมาว่า ให้เก็บร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน ยังไม่สมควรลงนาม ท่านเด่นจึงใช้พลังของกลุ่มวะห์ดะห์ขอร้องท่าน พล.อ.ชวลิตโดยอ้างเหตุผลว่า พล.อ.ชวลิตเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นนโยบายพรรคที่กลุ่มวะห์ดะห์ประกาศในคราวหาเสียงกับพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย จนได้รับการสนับสนุนจากผู้นำศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ทุกระดับ อันเป็นการประกาศสัญญาประชาคม ทางพรรคความหวังใหม่จะเลี่ยงเพิกเฉยไม่ได้ ในที่สุด พล.อ.ชวลิตจึงได้ลงนามตามที่ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์เสนอมา

เมื่อพล.อ.ชวลิตได้ลงนามในร่าง พ.ร.บ. บริหารองค์การศาสนาอิสลามฉบับกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังต้องผ่านกระบวนการในที่ประชุมของกระทรวงมหาดไทยประจำเดือน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆ เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แต่ในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ปรากฎว่าปลัดกระทรวงมหาดไทยเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชลอไว้ก่อน ท่านเด่นถามในที่ประชุมว่า มีเหตุผลอันใด ปลัดตอบว่า หากร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาแล้วจะเกิดวุ่นวายมีการประท้วงจากกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ส่วนอธิบดีกรมการปกครอง นายชูวงศ์ ฉายะบุตร ได้ถามท่านเด่นว่า หากร่างกฎหมายนี้ได้ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว ใครจะได้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป ท่านเด่นพอจะเข้าใจคำถามของอธิบดีกรมการปกครองได้ดีว่า เป็นคำถามที่มุ่งเจตนาไปยังท่าน เพราะช่วงมีการประชุมผู้นำศาสนาระดับอิหม่ามมัสยิดจำนวน 3,000 คน ทั่วประเทศนั้น มีการปล่อยข่าวว่าท่านเด่นต้องการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามเพื่อปูทางให้แก่ นายอามีน        โต๊ะมีนา พี่ชายของท่านเป็นจุฬาราชมนตรี ท่านเด่นจึงตอบว่า “ ท่านคิดว่าที่ผมต้องการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการให้พี่ชายของผม คือ นายอามีน โต๊ะมีนา กลับมาเป็นจุฬาราชมนตรีใช่ไหม ซึ่งผมเองก็ได้ยินข่าวนี้มานานแล้วว่า ผมต้องการทำเพื่อพี่ชายผม ในฐานะผมเป็น ส.ส.ปัตตานีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยเกียรติยศอันนี้ ผมขอยืนยันว่า ผมไม่มีความคิดเช่นนี้เลย และผมขอเรียนให้ในที่ประชุมทราบว่า “ฮัจยี        อามีนจะไม่กลับมาเป็นจุฬาราชมนตรีโดย       เด็ดขาด” จากคำยืนยันของท่านเด่นอย่างหนักแน่นเช่นนี้ ทำให้ในที่ประชุมไม่ติดใจจะให้       ชลอร่างกฎหมายฉบับนี้ และเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

แต่ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. บริหารกิจการศาสนาอิสลามจะเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหนึ่งวัน ปรากฎว่ามีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและดะโต๊ะยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งข่าวนี้ไม่ปรากฎในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ไทย มีหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับเดียวที่ลงภาพถ่ายคณะที่เข้าพบ หลังจากนั้นท่านเด่นได้รับรายงานจากผู้ที่เข้าร่วมไปพบนายกรัฐมนตรีในวันนั้นว่า คณะบุคคลเหล่านั้นได้มาใส่ไฟนายกรัฐมนตรีว่า หากพรุ่งนี้มีการหยิบยกร่างกฎหมายนี้เข้าประชุมในคณะรัฐมนตรีและให้ผ่านเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะเกิดความวุ่นวายในจังหวัดชายแดนภาคใต้และจะสร้างความแตกแยกมากขึ้นในหมู่มุสลิม ขอความกรุณานายกรัฐมนตรีอย่าให้ผ่านได้

วันรุ่งขึ้น ก่อนจะเข้าห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีถามท่านเด่นว่า “ท่านรัฐมนตรีเด่นครับ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านจะเกิดความแตกแยกในหมู่มุสลิม” ท่านเด่นฯตอบว่า “ถ้าจะแตกแยกก็จะแตกเฉพาะคนที่มาพบท่านนายกฯ ที่ทำเนียบเมื่อวานนี้เท่านั้น แต่คนมุสลิมทั้งประเทศเขาต้องการ ถ้าร่างกฎหมายนี้ไม่ผ่านในคณะรัฐมนตรีวันนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะว่าอย่างไร เพราะกฎหมายนี้มันมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาก” เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับคำตอบจากท่านเด่นดังนี้แล้ว จึงได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นับว่าโชคยังเข้าข้างท่านเด่นในห้องประชุมปรากฎว่ารัฐมนตรีท่านหนึ่งที่คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างแรงตั้งแต่ต้น ไม่ได้เข้าประชุมด้วย เนื่องจากติดภารกิจข้างนอก รัฐมนตรีอื่นๆ ต่างพรรคแม้บางคนไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่คัดค้านในที่ประชุม ทำให้ร่างพ.ร.บ. บริหารกิจการศาสนาอิสลามฉบับกระทรวงมหาดไทยผ่านการพิจารณาด้วยความเรียบร้อย และได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากร่าง พ.ร.บ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบแล้ว ปรากฎว่ายังมีร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารกิจการศาสนาอิสลามของพรรคความหวังใหม่เสนอโดย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส เขต 1 กับพวกและร่าง พ.ร.บ. การบริหารกิจการศาสนาอิสลามของพรรคประชาธิปัตย์เสนอโดย นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส เขต 2 กับพวก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตรงกับร่างของรัฐบาล จะมีเฉพาะบางประเด็นหลักเท่านั้นที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น การคัดเลือกตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬราชมนตรีคนหนึ่งตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกจุฬาราชมนตรี ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดย นายอารีเพ็ญ    อุตรสินธุ์ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี ตามคำแนะนำของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นผู้นำศาสนาอิสลามและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามแก่ กระทรวง ทบวง กรม และให้มีสำนักงานจุฬาราชมนตรีเพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติงานของจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีและการบริหารสำนักงานดังกล่าวตามสมควร สำนักจุฬาราชมนตรีมีฐานะเป็นนิติบุคคล

จุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 70 ปี บริบูรณ์ ตาย ลาออก มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือขาดคุณสมบัติตามมาตรา 13(1) ถึง (6)

การคัดเลือกจุฬาราชมนตรีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดย นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี ตามมติของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นผู้นำศาสนาอิสลาม และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามแก่กระทรวง ทบวง กรม

ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี

จุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

1. มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

2. ตาย

3. ลาออก

4. ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 7

รัฐมนตรีผู้รักษาการตามร่างพ.ร.บ. นี้ ของกระทรวงมหาดไทยและของนายสุรเชษฐ์ แวอาแซ กำหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ส่วนร่าง พ.ร.บ. ของนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตาม พ.ร.บ. นี้

เมื่อร่าง พ.ร.บ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลามเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวาระที่ 1 เนื่องจากมีร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับ มีหลักการและเหตุผลทำนองเดียวกันพิจารณาด้วยกันในวาระที่ 1 ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยและแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาโดยให้ถือร่างของรัฐบาลเป็นหลัก เมื่อพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเสร็จสิ้นแล้ว จึงเสนอเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ส่งไปยังวุฒิสภาต่อไป เมื่อวุฒิสภาพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จึงส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากในชั้นวุฒิสภาได้มีการแก้ไขมาก จึงไม่ผ่านต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายละ 17 คน ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม สรุปว่ามีการแก้ไขมาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงตกไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2537

นอกจากเรื่องจะแก้ไขปรับปรุงระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามแล้ว นายเด่น โต๊ะมีนา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้สั่งการให้อธิบดีกรมการปกครองแก้ไขระเบียบการถ่ายทำบัตรประชาชน อนุญาตให้หญิงมุสลิมคลุมฮิญาบถ่ายทำบัตรประชาชนได้ เพราะได้รับคำร้องเรียนจากกลุ่มสตรีมุสลิมขอให้กระทรวงมหาดไทยให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญว่าด้วย สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา จนในที่สุดกรมการปกครองได้ออกระเบียบให้สตรีมุสลิมถ่ายทำบัตรประชาชนโดยคลุมฮิญาบได้

และอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของท่านรัฐมนตรีเด่นคือ การเปลี่ยนชื่อบุคคล ซึ่งตามระเบียบกรมการปกครองกำหนดการตั้งชื่อบุคคลสัญชาติไทยต้องมีความหมายเป็นภาษาไทย ดังนั้น คนสัญชาติไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจะเปลี่ยนชื่อนามสกุลที่มีการเขียนสะกดไม่ถูกต้องมาแต่เดิม ไม่สามารถเปลี่ยนเขียนให้ถูกต้องได้ เช่น คนชื่อนายมามะ ไม่สามารถเปลี่ยนเขียนสะกดให้ถูกต้องว่า นายมูฮำหมัดได้ หรือชื่อนายดอเลาะ ไม่สามารถเปลี่ยนเขียนสะกดว่านายอับดุลเลาะได้ แต่เปลี่ยนเป็นชื่อไทยได้ ดังนี้ ท่านเด่นก็ทำความเข้าใจกับกรมการปกครองว่า ชื่อของคนนับถือศาสนาอิสลามนั้นมีนัยในทางศาสนา ไม่ใช่เชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง จนในที่สุดกรมการปกครองได้แก้ไขระเบียบการตั้งชื่อและเปลี่ยนชื่อให้สิทธิแก่คนไทยนับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยได้อย่างอิสระเสรี แต่ให้มีความหมายในทางที่ดี จนถึงบัดนี้จะเห็นได้ว่า คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามมีชื่อเพราะๆ เขียนสะกดถูกต้องตามหลักภาษาทั้งมลายูและอาหรับอย่าง              แพร่หลาย