ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (59)

สืบเนื่องจากกรณีการลอบวางเพลิงโรงเรียนหลายแห่งในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ จนได้มีการจับกุมผู้ต้องหาหลายราย จนตกเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้ “เราชมรมนักกฎกมายมุสลิม” ตระหนักในภาระหน้าที่ที่มีต่อสังคม ประกอบกับมีพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และกรุงเทพมหานคร ได้ร้องขอให้ “เรา” เข้าไปเป็นทนายความแก่ผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถูกจับมา จึงผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อทำหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

“เรา” ขอเรียนต่อพี่น้องมุสลิมสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ว่า “เรา” ยินดีและพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นทนายความให้ ไม่ว่าจะถูกจับมามีจำนวนนับสิบหรือนับร้อยก็ตาม ขอให้พี่น้องทุกคนอย่าได้หวาดผวาต่อการใส่ร้ายป้ายสีของเจ้าหน้าที่ พี่น้องยังมีโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อศาลในกรุงเทพมหานคร ซึ่งย่อมจะดีกว่าการถูกหมกในสวนยางหรือปล่อยลอยในแม่น้ำสายบุรีอย่างในสมัยอดีต

ส่วนผู้ที่ได้กระทำผิดจริงและถูกจับมา ขอให้ท่านได้ให้การรับสารภาพตามความเป็นจริง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อท่านในการพิจารณาโทษอย่างมากและจงเปิดโปง “ผู้บงการ” ในการก่อความไม่สงบต่อสาธารณชนด้วย

อนึ่ง “เรา” ขอแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ให้จัดการเตรียมพยานหลักฐานให้เรียบร้อย อย่าถือเอาประโยชน์จากการพิจารณาคดีในศาล โดยเอามาขังเป็นปีๆ ไม่ให้ประกันตัว และเลื่อนการพิจารณาอ้างว่า พยานไม่ว่างติดธุระหาตัวพยานไม่พบ แม้แต่การอ้างเหตุผลอื่น อันเป็นการประวิงคดี และ “เรา” ขอเตือนว่า หากมีพยานคนใดที่นำมาสืบเบิกความเท็จ ทางผู้ต้องหาต้องการให้ทาง “เรา” ฟ้องคดีต่อพยานในข้อหา “เบิกความเท็จ” อย่างชนิดที่เรียกว่า “กัดไม่ปล่อย”

นับว่าบรรดาผู้ต้องหาในคดีทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในจังหวัดชายแดนยัง โชคดีที่มีชมรมทนายความมุสลิมช่วยว่าความแก้ต่างคดีในศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ลำพังศักยภาพด้านเศรษฐกิจของผู้ต้องหาแต่ละคนนั้น อย่าว่าแต่จะหาทนายเพื่อจ้างว่าความแก้ต่างในศาลเลย แม้แต่ค่ารถราไปมาขึ้นลงจากใต้ไปกรุงเทพฯ ค่าอาหารค่าที่พักก็เป็นปัญหาสำหรับผู้ต้องหาเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีชมรมทนายความมุสลิมรับอาสาว่าความแก้ต่างในคดีเช่นนี้แล้ว ถือว่าอัลลอฮ (ซ.บ.) ยังมีเมตตาปรานีกับบ่าวของพระองค์ที่ถูกกระทำอธรรมจากผู้มีอำนาจที่ไร้มนุษยธรรมในขณะนั้น

ในที่สุดคดีของนายโต๊ะกูเฮงหรือ              กูมะนาเส กอตอนีลอ อัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีอาญา (กอง 10) ฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพฯเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2536 ซึ่งตรงกับวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมโค่นล้มจอมเผด็จการ ถนอม-ประภาส จนหมดอำนาจและต้องถูกอัปเปหิออกไปอยู่ต่างแดน วันเดือนที่ตรงกันไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือโดยความพระประสงค์ของอัลลอฮ (ซ.บ.) ย่อมเป็นนิมิตหมายและเป็นการเสริมขวัญและกำลังใจอันดีแก่ผู้ต้องหาและคณะทนายโดยทั่วหน้า

ทำไม คดีนี้เหตุเกิดในเขตพื้นที่ของอำนาจศาลจังหวัดนราธิวาส แต่อัยการฟ้องดำเนินคดีที่ศาลอาญากรุงเทพฯ ปรากฎตามคำร้องของพนักงาน

อัยการอ้างเหตุในคำร้องขออนุญาตฟ้องต่อศาลอาญาว่า

ข้อ 1. คดีนี้ เหตุเกิดที่ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งโดยปกติอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนราธิวาส แต่ปรากฏว่า การกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรียน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และในคืนเกิดเหตุ มีการวางเพลิง เผาโรงเรียนในเขตจังหวัดต่างๆ ซึ่งได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ สงขลา รวมทั้งสิ้น 38 แห่ง ลักษณะการ กระทำแสดงถึงผู้กระทำมีความประสงค์ต้องการทำลายความมั่นคงของชาติ ทำลายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นคดีสำคัญ หากฟ้องจำเลยนี้ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสแล้ว เกรงว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัยและไม่กล้าเบิกความตามความเป็นจริง

อนึ่ง คดีนี้กรมตำรวจได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมเข้าทำการสอบสวนด้วย และขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ฝากขังจำเลยต่อศาลอาญา จำเลยถูกขังอยู่ในอำนาจของศาลอาญา

ข้อ 2. ฉะนั้น โดยคำร้องนี้ โจทก์จึงจำเป็นต้องขอฟ้องจำเลยนี้ที่ศาลอาญา เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาคดีได้ทั่วราชอาณาจักร ขอได้โปรดอนุญาตด้วย

แล้วศาลอาญา ก็อนุญาตตามความประสงค์ของพนักงานอัยการ

ทนายของชมรมทนายมุสลิมที่ต่อสู้คดีนี้ นำโดยนายสมาย นีละไพจิตร อัยการโจทก์ได้อ้างพยานบุคคลของโจทก์จำนวน 100 คน ส่วนจำเลยอ้างพยานต่อศาลมี นายวาเฮ็บ ยามาโด ซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยที่ชวนไปทำร้านอาหารด้วยกันที่ประเทศมาเลเซีย และได้อยู่ด้วยกันกับนายโต๊ะกูเฮงจำเลยที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ขณะเกิดเหตุคดีนี้ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยพร้อมกับนายโต๊ะกูเฮง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2536 โดยมีหนังสือเดินทางลงประทับตราผ่านด่าน ได้เบิกความต่อศาลสนับสนุนความบริสุทธิ์ของนายโต๊ะกูเฮงที่ศาลจังหวัดนราธิวาส (ตามประเด็น) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 และพยานอีกคนหนึ่งของนายโต๊ะกูเฮงที่เบิกความต่อหน้าศาลอาญา คือ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ขณะนั้นมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลุกขึ้นมายืนยันความบริสุทธิ์ของนายโต๊ะกูเฮง พร้อมทั้งประกาศตนว่าจะทำหน้าที่เป็นทนายความว่าความแก้ต่างให้นายโต๊ะกูเฮงด้วย แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง จึงต้องถอนตัวออกไป แต่ก็ยังได้มาเบิกความเป็นพยานนายโต๊ะกูเฮงจำเลย เพื่อสนับสนุนความบริสุทธิ์ของนายโต๊ะกูเฮงจำเลยต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2538

คดีนี้ ศาลอาญา (ชั้นต้น) ได้พิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนดเวลา 20 ปี ทำให้นายโต๊ะกูเฮงจำเลยถึงกับเข่าทรุดกลางห้องพิจารณาคดีของศาล และเป็นที่ตกตะลึงของคณะทนายความ เพราะเท่าที่ทนายซักค้านพยานบุคคลโจทก์ที่มาเบิกความในศาล แต่ละคนล้วนแต่ถูกทนายจำเลยซักค้านต้อนถึงขั้นจนมุมให้การเบิกความแตกต่างกันจนไม่น่าจะเชื่อถือได้ แต่เมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ทนายย่อมต้องเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาล แต่ทนายจำเลยมีสิทธิ์ที่ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลได้ จึงจำต้องยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2538 ทนายจำเลยโต๊ะกูเฮง ได้ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลยให้กลับคำพิพากษาศาลอาญา(ชั้นต้น)

ภายหลังจากได้ยื่นอุทธรณ์ เพื่อรอความเป็นธรรมและคำวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์นั้น นายโต๊ะกูเฮงจำเลย ตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อ อย่างมีความหวังและมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน จึงมีจดหมายถึงทนายความเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 (จากหนังสือ กูเฮง….เผาโรงเรียน โดย นายสมชาย นีละไพจิตร) มีใจความดังนี้

ขอความสันติสุขแด่พี่สมชายและครอบครัว

“ ผมและพรรคพวกทุกคนสบายดี ไม่มีอะไรเดือดร้อนใจ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่พี่เป็นห่วงพวกเราเสมอ และพยายามช่วยเหลือมาโดยตลอด โดยไม่ได้คิดค่าตอบแทนใดๆ หวังว่าพระองค์ตอบแทนให้ในความดีของพี่ ผมอยู่ในนี้ไม่มีปัญญาที่จะตอบแทนบุญคุณของพี่ได้ เพียงแต่ขอพรจากพระองค์ให้พ้นจากโรคภัยต่างๆ เท่านั้น

ซึ่งผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่พี่ไม่เคยคิดทอดทิ้งพวกเรา และไม่เคยท้อใจในการช่วยเหลือพวกเราทุกๆ อย่าง ซึ่งตอนนี้ผมรู้สึกสบายใจไม่ได้คิดอะไรมาก ผมไม่เคยท้อใจ และมั่นใจมาตลอดว่า สักวันหนึ่งต้องมีวันของเรา บทเรียนครั้งนี้เป็นแค่พระองค์ทดสอบเท่านั้น ผมขอให้พี่ไม่ต้องท้อใจก็พอใจแล้ว

แล้วก็เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ผมได้เขียนจดหมายไปถึงท่านเฉลิมแล้วร้องเรียนเรื่องคดี และให้เขาช่วยเร่งอุทธรณ์ให้ด้วย

ถ้าผมมีอะไร ผมจะเขียนจดหมายมาหา พี่ไม่ต้องเป็นห่วงพวกเราหรอก พวกเราทุกคนสบายดี

สุดท้ายนี้ขอให้พระองค์อัลเลาะห์ ทรงคุ้มครองพี่และครอบครัวจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และฝากสาลามทุกคนด้วย

ด้วยความนับถือ

กูเฮง กอตอนีลอ

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้นายโต๊ะกูเฮงฟัง โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นายโต๊ะกูเฮงจำเลยยืนฟังด้วยอาการสงบสันติ ไม่เหมือนกับที่ฟังคำพิพากษาของศาลอาญา (ชั้นต้น) ครั้งแรก ที่จิตใจมีอาการตื่นเต้นอย่างน่าสะพึงกลัว ความหวังที่จะขอความเป็นธรรมยังเหลืออยู่อีกศาลเดียว คือ ศาลฎีกาอันเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย ดังนั้น โต๊ะกูเฮง จำเลยและคณะทนายกัดฟันสู้อย่างไม่ลดละ ยื่นฎีกาของความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย

แม้ความหวังที่จะได้รับความเป็นธรรมในช่วงโค้งสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมอยู่ในสภาพของความหวังที่แสนจะริบหรี่ทุกขณะ แต่กำลังใจของนายโต๊ะกูเฮงจำเลย ยังมั่นคงหนักแน่นเต็มร้อย พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ อะไรจะเกิดขอให้มันเกิด หากสิ่งนั้นเป็นความพระประสงค์ของอัลลอฮ(ซ.บ.)เพื่อมิให้พี่ๆทนายความที่ช่วยเหลือต่อสู้คดีไม่สบายใจ นายโต๊ะกูเฮงจึงเขียนจดหมายฉบับที่ 2 จากคุกไปถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539(ในหนังสือ กูเฮง…เผาโรงเรียน โดย นายสมชาย นีละไพจิตร) ข้อความดังนี้