(จดหมาย)
ขอความสันติสุขแด่พี่สมชายฯ
ผมที่นี่ สบายดี ไม่มีเรื่องเดือดร้อนอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม ผมขอขอบคุณพี่มากที่เป็นห่วง ผมกับดอฮะ สบายดี ถ้าผมมีเรื่องอะไรผมเขียนจดหมายไปหาพี่เอง ผมรู้ว่าพี่ไม่มีเวลาจะมาเยี่ยมผม ผมรู้สึกดีใจมากที่มะแอกับมะดิง ชนะคดี ไม่อย่างงั้นผมหนักใจ ถ้ามะแอแพ้คดี กลัวเขาจะทำใจไม่ได้ กลัวเป็นโรคประสาทเหมือนมาใหม่ๆ ส่วนผมไม่ได้คิดอะไรมากเรื่องคดี แล้วแต่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ฯเท่านั้นคือผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นเลิศ
ผมขอดุอาจากพระองค์ฯเท่านั้น ให้ชี้หนทางที่ถูกต้องแก่ผม ผมไม่ได้หวั่นกับคำตัดสินของศาลที่ขาดความยุติธรรม ผมเข้ามาอยู่ในนี้เสมือนว่าพระองค์ชี้หนทางที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ถ้าเรารู้จักใช้สติปัญญา ผมคิดว่าผมไม่ใช่คนที่โชคร้ายที่โดนเขากลั่นแกล้งและไร้ความยุติธรรม แต่ตรงกันข้ามเหมือนพระองค์ฯชี้ทางแก่ผม เหตุการณ์ทั้งหมดเหมือนครูสอนให้ผมรู้อะไรต่ออะไรเยอะ
และผมขอขอบคุณพี่มากที่กำชับผมเรื่องละหมาด แต่อัลฮัมดุลิลละห์ ผมรู้ว่าตอนนี้ผมขาดมันไม่ได้เลย และอีกอย่างตอนนี้ผมมีหน้าที่อ่านคุตบะห์วันศุกร์ด้วย
สุดท้ายนี้ ขอให้พี่รักษาสุขภาพให้ดีด้วย และขอให้พระองค์ฯทรงคุ้มครองพี่และครอบครัวของพี่จากโรคภัยต่างๆ ด้วย
ด้วยความเคารพ
( กูเฮง )
27/9/39
จดหมายน้อยจากโต๊ะกูเฮงแดนเรือนจำคลองเปรมที่ส่งถึงทนายสมชายฯ เสมือนหนึ่งแสดงอาการที่ปลงตกกับคดีที่ตนเองตกเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่บางคนที่หวังผลแห่งคดีที่จะนำมาซึ่งความดีความชอบในชีวิตราชการ โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดีที่จะเกิดขึ้นกับใคร ที่ไม่ใช่ลูกหลานของตน คณะทนายความที่ช่วยแก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ต่างมีความมั่นใจตามรูปคดีที่ซักค้านพยานโจทก์แตกไปคนละทิศคนละทางว่า นายโต๊ะกูเฮงจำเลยน่าจะได้รับอิสรภาพ แต่นั่นแหละในทางคดีทำนองนี้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า หากเจ้าหน้าที่รัฐไทยยังไม่ลดละอคติที่มีต่อชาวมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้และยังประสงค์ที่อยากได้ผลงานบนความทุกข์ยากลำบากจากหยาดเลือดและชีวิตของผู้คนเหล่านั้นต่อไป
แต่แล้วดังคำที่ว่าสวรรค์มีตายังมีอยู่จริง เมื่อศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2540 พิพากษายกฟ้องจำเลยนายกูมะนาเสหรือโต๊ะกูเฮง กอตอนีลอ พ้นข้อหาไป และเพื่อมิให้นายโต๊ะกูเฮงถูกจำคุกฟรีอย่างไร้อิสรภาพตลอดเวลา 3 ปีเศษ ทนาย สมชายฯ รับอาสาฟ้องกลับกระทรวงมหาดไทยและกรมตำรวจเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเรียกเป็นเงิน 11 ล้านบาทเศษ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่ผลคดีนี้ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 นาย โต๊ะกูเฮงได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป วันเวลาล่วงไปอีก 2 ปี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้นายโต๊ะกูเฮงโจทก์ฟังแล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่งชั้นต้น อย่างไรก็ตามทั้งนายโต๊ะกูเฮงและคณะทนายยังไม่ย่อท้อและหมดกำลังใจแต่อย่างใด จึงได้ยื่นฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงขอพึ่งพิงความยุติธรรมครั้งสุดท้ายจากศาลฎีกา แต่นั้นแหละเมื่อสองศาลได้วินิจฉัยเห็นพ้องตรงกันแล้ว ความหวังที่ศาลฎีกาจะกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นั้นแทบจะริบหรี่เต็มทน จึงหวังพึ่งพาอัลลอฮ (ซ.บ.) เท่านั้นที่จะดลบันดาลให้
วันที่ 15 กรกฎาคม 2545 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภายหลังได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ถามความรู้สึกของนายโต๊ะกูเฮงๆจึงตอบว่า “ตนรู้สึกเสียใจที่ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง ที่ตนยื่นฟ้องคดีนี้ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนคนอื่นที่ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นแพะรับบาป คิดว่าตนได้ทำดีที่สุดแล้วในเรื่องนี้ ส่วนสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ตนไม่อยากแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องสืบสวนหาตัวคนร้าย แต่อย่าจับแพะเหมือนที่เคยจับตนก็แล้วกัน”
คดีลอบวางเพลิงโรงเรียนบ้านกูยิ ต. ตะปอเยาะ อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส ที่จำเลยชื่อ นายกูมะนาเสหรือโต๊ะกูเฮง กอตอนีลอ ที่ชมรมทนายความมุสลิมโดยนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นตัวหลักในการช่วยเหลือแก้ต่างจนได้รับชัยชนะศาลยกฟ้องในชั้นฎีกานั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่ใช่ผลงานของทนายความมุสลิมที่ได้พัฒนาการจากทนายความที่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว มาตลอดจนถึงขั้นจัดตั้งเป็นชมรมทนายความที่ได้รวบรวมผู้จบการศึกษาด้านกฎหมายทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้และส่วนกลางกรุงเทพฯที่มีอุดมการณ์จะรับใช้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือที่ใดๆ ในประเทศไทย ซึ่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ลอบวางเพลิงโรงเรียนหลายสิบแห่งในคดีนี้ เคยมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คดีโอนขึ้นสู่ศาลอาญากรุงเทพฯ มาแล้วตั้งแต่อดีต เช่น คดีกบฎแบ่งแยกดินแดนกรณีหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่โอนคดีขึ้นสู่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีจำเลยนายอามีน โต๊ะมีนา และ นายวิไล เบญจลักษณ์ อดีต ส.ส. จังหวัดปัตตานีและยะลา ถูกดำเนินคดีโอนขึ้นสู่ศาลอาญากรุงเทพฯเมื่อปี 2504 และคดีจำเลยครูเปาะสู วาแมดิซา ครูประชาบาลโรงเรียนบ้านท่าธง อ. รามัน จ. ยะลา และ นายสิดดิก สารีฟ อดีต ส.ส. จังหวัดนราธิวาส กับพวกรวมเกือบ 20 กว่าคน ถูกดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลอาญากรุงเทพฯเมื่อปี 2509 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีทนายความมุสลิมคนใหนมาว่าความแก้ต่างคดีให้แต่อย่างใด บางคดีที่พิจารณาในศาลอาญาทหารจำเลยไม่มีสิทธิ์ใช้ทนายแก้ต่างได้ จำเป็นต้องต่อสู้ตามลำพังเป็นทนายเสียเอง บางคดีที่พิจารณาในศาลอาญาพลเรือน จำเลยที่มีเงินค่าใช้จ่ายต้องจ้างทนายทั่วไปที่ไม่ใช่ทนายมุสลิม แต่เมื่อประมาณปี 2521 คดีนายอดุลย์ มานิตย์พันธ์ จำเลย ซึ่งเป็นปัญญาชนมุสลิมมีการศึกษาระดับปริญญาโทจากปากีสถาน ถูกดำเนินคดีข้อหาความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรฐานกบฎแบ่งแยกดินแดน คดีโอนขึ้นสู่ศาลอาญากรุงเทพฯ ทนายความคนแรกที่รับว่าความแก้ต่างให้จำเลยคดีนี้คือ นายยงยุทธิ์ มติวัฒน์ และ นายอรัญ ปานเจริญ คดีนี้จำเลยนายอดุลย์ฯ ได้เสียชีวิตในเรือนจำคลองเปรมด้วยโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคประจำตัว และต่อมาคดีระเบิดที่สนามกีฬาหัวหมาก เนื่องในงานสมโภชฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 ที่นักศึกษารามคำแหงจำนวน 8 คน ได้แก่ นายสะมะแอ จูมะ นาย อาหะหมัด เบนโน นายรอยาลี สาแม นายสมัคร มะเซ็ง นายบือราเฮง (บานา) นายนายเซ็ง (กาสัง) นายอาแซ บูงอสายู นายกอเดร์ (บางปู)และชาวบ้าน 6 คน รวม 14 คน ถูกจับกุม และพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษา 5 คน เสนอสำนวนต่ออัยการและอัยการได้สรุปสำนวนส่งฟ้อง ผู้ต้องหา 5 คน ต่อศาลอาญากรุงเทพฯ คือ นายรอยาลี สาแม นายสมัคร มะเซ็ง นายเซ็ง กาสัง นายอาแซ บูงอสายู และ นายกอเดร์ บางปู คดีนี้นายทองใบ ทองเปาว์ เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลยทั้ง 5 โดยมีนายสมชาย นีละไพจิตร ร่วมเป็นทนายจำเลยในคดีนี้ด้วย คดีนี้มีการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยประมาณ 3 ปีในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยทั้งหมดพ้นข้อหาไป
นับตั้งแต่กลุ่มวะห์ดะห์ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกลุ่มวะห์ดะห์ทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนพี่น้องประชาชนอยู่ในสภา ชาวบ้านมีปัญหาอะไรกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกข่มเหงรังแก่จากเจ้าที่รัฐที่มีจิตใจอคติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีหลายกรณีหลายคดีที่ผู้นำศาสนาและอุสตัสถูกจับกุมดำเนินคดีฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น คดี 4 โต๊ะครูที่อำเภอจะนะ จ. สงขลา คดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น อุสตัสดาโอ๊ะ กรงปินัง กรณีคดีระเบิดซีโฟร์หน้าสถานทูตอิสราเอลและตำรวจจับกุมชายชาวอิหร่านที่เข้าประเทศไทยไปเที่ยวที่หาดใหญ่ และคดี พ.ต.ท. สมเพียร เอกสมญา กับพวกเป็นจำเลยฐานความผิดฆ่าผู้นำศาสนาอิสลามที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ตายโดยเจตนา ล้วนแต่เป็นคดีใหญ่เป็นที่สนใจของสังคมอย่างกว้างขวาง ทาง ส.ส. กลุ่ม วะห์ดะห์ไม่เคยเพิกเฉยนิ่งนอนใจ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอำนวยความสะดวกการทำหน้าที่ของทนายสมชาย นีละไพจิตรและคณะทนายความมุสลิมที่ช่วยเหลือเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้กับคดีดังกล่าวจนถึงวาระสุดท้ายของคดี ดังปรากฎตามหลักฐานที่ทนายสมชายฯ มีหนังสือถึง ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ ดังนี้
สำนักงานทนายความสมชายฯ
24/157 ซ. อาภาภิรม ถ. รัชดา
ภิเษก เขต จตุจักร กรุงเทพฯ
6 มกราคม 2541
เรื่อง รายงานผลคดี
เรียน คุณบูราฮานูดีน อุเซ็ง
คดีที่ตำรวจโกตาบารูยิงประชาชนนั้น ศาลได้สืบพยานภริยาผู้ตายไปแล้วได้ 1 ปาก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2540 และนัดต่อไปในวันที่ 9, 23 กันยายน, 7, 30 ตุลาคม , 4, 18 พฤศจิกายน, 2, 16 ธันวาคม 2540 พยานที่สืบไปปากนี้เบิกความใช้ได้ แต่ไม่อาจคาดได้ว่าพยานปากอื่นต่อไป จะเบิกความได้ดีหรือไม่ ก็ไม่ทราบ (อินซาอัลลอฮ์) แต่ตำรวจทั้งหมดมาศาลไม่กล้าแต่งเครื่องแบบอีกแล้ว และ ค่อนข้างจะจ๋อยไปอย่างถนัดเลย เพราะผมได้แต่งทนายความเข้าร่วมคดีถึง 3 คน ทำให้เห็นการทำงานที่เป็นกลุ่มเป็นคณะอย่างมีระบบ
ข่าวคืบหน้าประการใด ผมจะเรียนให้ท่านทราบต่อไป และให้ท่านเรียนท่านประธานฯให้ทราบด้วย
ด้วยสลามและดุอาร์
ลายเซ็นต์
(นายสมชาย นีละไพจิตร)
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์