“ยูนุส เอ็มเร” ซีรี่ส์ดีๆ สัญชาติตุรกีจาก Netflix

“ยูนุส เอ็มเร” (Yunus Emre) เป็น “ซูฟี” และกวีชาวตุรกีในศตวรรษที่ 13-14 เรื่องราวของเขาถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นดราม่าซีรี่ส์ของทีวีตุรกี รวม 2 ซีซั่น 45 EP. ปัจจุบันมีฉายทาง Netflix

“ซูฟี” หรือ “ตอรีกัต” เป็นแนวทางหนึ่งของชาวมุสลิมซุนนี  (คล้ายกับของมุสลิมชีอะห์ที่รียกว่าสาย “อาริฟ” หรือ “อิรฟาน”) พวกเขาเน้นขัดเกลาตนเอง ถือสันโดษ สมถะ แสวงหาการจาริกทางจิตวิญญาณสู่พระเจ้าและโลกหน้า ซับไตเติลภาษาไทยของ Netflix ให้ความหมายว่า “นักพรต” 

เนื้อเรื่องว่าด้วย “ยูนุส เอ็มเร” ที่จบจากโรงเรียนศาสนา (มัดรอซะห์) จากเมืองคอนยา (Konya) เมืองหลวงของอาณาจักรเซลจุก และได้ไปเป็นผู้พิพากษากฎหมายอิสลาม (กอฎี) ประจำเมืองนาลิฮาน

ผู้พิพากษาคนใหม่อุทิศตนเพื่อผดุงความยุติธรรมตามกฎหมายชารีอะห์ ทว่าตัดสินคดีผิดพลาดหลายครั้ง เพราะการยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวตน” และ ”ความรู้” จากมัดรอซะห์

จากกรณีตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เขาเชื่อว่าเป็นฆาตกร ทำให้ยูนุสได้พบกับ “ชี้ค ทัปทุก เอ็มเร” อาจารย์และผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวซูฟีจากอาศรมแห่งหนึ่งในเมืองนี้

ชี้คเป็นผู้เฒ่าชรา ไม่รู้หนังสือ และสายตาฝ้าฟาง เคยเป็นเพื่อนร่วมเดินทางของยูนุสระยะหนึ่งโดยบังเอิญระหว่างที่เขาเดินทางจากเมืองคอนยามายังเมืองนาลิฮานเพื่อดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ชี้คได้ท้าทายการตัดสินของยุนุสในการประหารชีวิตคนที่เขาเชื่อว่าเป็นฆาตกร ซึ่งกระตุ้นให้เขาเริ่มกลับไปทบทวนการพิจารณาคดีก่อนๆ ของตน และยูนุสก็ได้แก้ไขคำตัดสินที่ผิดพลาดของเขา

ในที่สุดยูนุสได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาเพื่อไปเป็นลูกศิษย์ที่ต่ำต้อยของชี้คที่อาศรม

ยูนุสมาอยู่อาศรมนักพฤตแล้วก็ยังต้องเผชิญกับอัตตาเมื่อถูกชี้คทดสอบด้วยการใช้ให้ทำงานที่ต่ำต้อย เช่นตามหาสุนัข ให้อาหารสุนัข แบกน้ำแจกคนเดินทางในตลาดที่ตัวเองเคยเป็นผู้พิพากษา เมื่อหน้าที่ที่ได้รับไม่เป็นไปดั่งหวัง ทำให้บางขณะเขาหวนนึกถึงความหอมหวานและเกียรติยศตอนอยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษา

จนเมื่อผ่านบททดสอบบางประการไปทำให้การจาริกทางจิตวิญญาณของยูนุสรุดหน้ากว่าศิษย์ซูฟีคนอื่นๆ แต่แล้วเขาก็ยังพ่ายแพ้ให้กับโทสะเมื่อถูกใส่ร้ายจากศิษย์เอกซูฟีที่มีความอิจฉาริษยา จนถูกชี้คไล่ออกจากอาศรม

แต่ที่สุดหลังผ่านอุปสรรค การทดสอบ และขัดเกลาจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า ยูนุสก็ได้เดินในเส้นทางของชาวซูฟีและบรรลุจุดสูงสุดของการจาริกทางจิตวิญญาณ

ลักษณะของบุคลิกภาพและความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีการศึกษาจากโรงเรียนศาสนาอย่างยูนุส กับ ชี้ค ทัปทุก ผู้นำซูฟี ในซีรี่ส์นี้สะท้อนถึงความย้อนแย้งในตัวบุคคลหนึ่งๆ และการต่อสู้กับตัวเอง เช่น ยูนุสเคารพความถูกต้องและยุติธรรมแต่ด้วยการตัดสินจากมุมมองของตนเองฝ่ายเดียว ความสับสนระหว่างการจาริกทางจิตวิญญาณและความทะเยอทะยานในตำแหน่งหน้าที่ ฯ

ต้นฉบับหนังเป็นภาษาตุรกี ซึ่งดูเหมือนว่าซับไตเติลไทยของ Netflix ในหลายจุดยังไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ตรงกับเนื้อหาในต้นฉบับได้เท่าที่ควร เข้าใจว่าแปลมาจากภาษาอังกฤษไม่ใช่จากต้นฉบับภาษาตุรกี (ไปอ่านเจอคอมเมนท์ชาวตุรกีบอกว่าซับอังกฤษก็แปลได้เลอะเทอะเหมือนกัน) อีกทั้งผู้แปลไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะของซูฟีและอิสลาม ดังนั้นจึงทำให้ผู้ชมที่ไม่มีพื้นฐานด้านอิสลามหรือซูฟีดูแล้วอาจงงในบ้าง แต่ก็ไม่มากจนขนาดไม่เข้าใจภาพรวม ส่วนถ้าใครที่เป็นชาวซูฟีดูคงจะเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป

นอกจากนั้นหนังก็อาจมีบางจุดที่ชาวมุสลิมดูแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าย้อนแย้งกับหลักสอนของศาสนา เช่นซูฟีเลี้ยงสุนัข ให้อาหาร จับเล่นสุนัข เป็นต้น เข้าใจว่าตรงนี้อาจเป็นนัยยะเฉพาะของซูฟี หรือวิถีของออตโดมันสมัยก่อน (ต้องรอผู้รู้มาอธิบายอีกที)

แต่ที่ทำให้เสียอรรถรสและผู้ชมอาจหงุดหงิดบ้างก็ตรงซีซั่น 2 ที่มีการเปลี่ยนตัวผู้แสดงหลักบางคน เช่นลูกสาวของชี้ค ซึ่งเป็นนางเอกในเรื่อง รวมทั้งคนบ้า (ที่อาจไม่บ้า) ที่อาศัยอยู่ที่อาศรมซูฟีและเป็นคู่กัดกับศิษย์เอกซูฟีหัวหน้าอาศรม (ในคติสอนใจของมุสลิมโดยเฉพาะซูฟี หลายเรื่องมักมีคนบ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มัจนูน บะห์ลูล นัศรุดดีน เป็นนัยยะแฝงอย่างหนึ่ง)

ลองดูครับถ้าใครมีเวลา บทดี นักแสดงดี หนังดำเนินเรื่องช้าๆ เนิบๆ เข้ากับเนื้อเรื่อง องค์ประกอบ/เสื้อผ้า/ฉากดูสมจริง แสง-เงาสวยงามให้อารมณ์ลึกลับ สำหรับคนที่ชื่นชมศิลปะออตโตมันสไลล์ย้อนยุค ตะวันออก หรือแนวศิลปะมุสลิมไม่ควรพลาด

ที่สำคัญคือมุมมองลึกซึ้งมากมายที่ถูกสอดแทรกไว้ในซีรี่ส์ผ่านวิถีชีวิตของยูนุสและคำสอนของชี้คที่ให้แก่ลูกศิษย์ซูฟีในอาศรม

ความรู้ศาสนากับความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณอาจเป็นคนละเรื่อง ชัยตอน (ซาตาน) มันฉลาด ล่อลวงคนทั่วไปด้วยความโลภ ทรัพย์สิน ตำแหน่ง เกียรติยศ แต่กับผู้รู้ศาสนามันรู้ว่าล่อลวงด้วยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เครื่องมือของชัยตอนที่ใช้ได้ผลกับผู้รู้ศาสนาก็คือ อัตตา ความหยิ่งยโส ฉันถูกคนเดียวคนอื่นผิดหมด และการอวดตน ทำเพื่อให้มนุษย์เห็นว่าฉันเก่งฉันแน่กว่าคนอื่น

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง รวมทั้งบทบาทบรรดานักการศาสนาบางส่วนในสังคมเราเวลานี้ อาจทำให้มองภาพอะไรบางอย่างชัดขึ้นมาได้บ้างเหมือนกัน