แม้จะไม่มีสัญญาณการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว อะไรก็เกิดขึ้นได้ การเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมือง จึงต้องพร้อมเสมอ กองบรรณาธิการ พับลิกโพสต์ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธานพรรคมาตุภูมิ ในมุมมองทางการเมือง และระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ และคำถามคาใจ เรื่องการประหารกับประชาธิปไตย ในสายตาอดีตผู้เปลี่ยนโฉมการเมืองไทยเมื่อ 19 ก.ย. 2549
แนวคิดกับการตั้งพรรคการเมือง
ในหลักการเขาบอกว่า พรรคการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้ นักการเมืองจะต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน เพราะนักการเมืองอยู่กับประชาชน และพรรคการเมือง คือ องค์กรเริ่มต้นในการพัฒนาประชาธิปไตย
กระนั้นที่ผ่านมา เราเคยเห็นว่าพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย ที่เหมือนไม่ใช่สถาบัน แต่เป็นหน่วยงานหรือเป็นบริษัท สิ่งเหล่านี้ ก็ทำให้บ้านเราไขว่คว้าหาประชาธิปไตยกันเหลือเกิน 78 ปี มานี้มันก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเสียที ก็เกิดจากองค์กรเริ่มต้นยังไม่สมบูรณ์ มีพรรคการเมืองอยู่ไม่กี่พรรคที่เป็นสถาบันจริงๆ
การร่ำร้องประชาธิปไตยของสังคมที่เกิดขึ้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นจากความเป็นประชาธิปไตยในจุดเริ่มต้นหรือเปล่า? ตรงนี้นี่เอง มันยังไม่สามารถที่จะนำพาประเทศไปสู่ ประชาธิปไตยได้ คิดว่าเราน่าจะมาเริ่มต้นตรงนี้ดีกว่า การเป็นพรรคที่กำหนดแนวความคิดในหลักที่เป็นไปตามหลักการ มันน่าจะต้องเริ่มต้นเป็นแบบอย่าง
เมื่อเรารักประชาธิปไตย เราก็ต้องทำสถาบันนี้ ให้เป็นสถาบันเริ่มต้นของการเป็นประชาธิปไตย การทำงานของพรรคก็จะมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
คนที่จะเข้ามาก็จะต้องเป็นคนที่มีอุดมการณ์ มีความรู้ มีความตั้งใจจริง มีความซื่อสัตย์ สุจริต มุ่งมั่นที่จะนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ
จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยต้องมาจากพรรคการเมือง ตัวท่านเองท่านเป็นผู้ล้มระบบประชาธิปไตยมาครั้งหนึ่ง แล้ววันนี้มาตั้งพรรคการเมือง จะอธิบายอย่างไร?
ต้องอธิบายให้ประชาชนเขาฟังว่า คำว่าประชาธิปไตยคืออะไร ในเมื่อประชาชนและนักวิชาการรู้ว่าประชาธิปไตยในช่วงก่อน 19 กันยา เป็นอย่างไร แต่มีประชาชนบางส่วนที่อาจจะไม่เข้าใจ เพราะประชาชนในประเทศเรา รู้จักคำว่าประชาธิปไตยแค่ การมีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ว่าในภาพของประชาธิปไตยมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายเรื่อง
การที่ผู้ปกครอง หรือ รัฐบาล เข้าไปมีส่วนในการครอบงำองค์กรอิสระ เข้าไปทำอะไรต่อมิอะไร หลายเรื่องอย่างที่เห็น อย่างนี้มันใช่ประชาธิปไตยหรือเปล่า
ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นฝ่ายความมั่นคง เรามีหน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติ หนึ่งปกป้องความเป็นประชาธิปไตย สอง ปกป้องสถาบัน นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันชาติ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดเชื่อมว่า สิ่งที่กำลังเดินไปก่อน 19 กันยา นั้นมันไม่ใช่ประชาธิปไตย เรามีหน้าที่ทำอะไร เรามีหน้าที่ในการรักษาระบบประชาธิปไตยต่างหาก พอถึงวันที่ 19 ผ่านไป วันที่ 20 จะเห็นว่าวันที่ 20 เป็นวันที่ประชาชนมีความสุข ทั้งประเทศมีความสุข ทุกคนมาให้กำลังใจ ทุกคนมาให้ดอกไม้ ทุกคนมาในสภาพที่ยิ้มแย้ม แจ่มใส รอยยิ้ม ซึ่งมันหายไปตั้งนาน มันกลับคืนขึ้นมา ในวันที่ 20
จะเห็นว่าในวันที่ 20 ปรากฏให้เห็นว่า คนทั้งประเทศมีความสุข ประชาธิปไตยคือการทำอะไรก็ตามถ้ามีประชาชนเห็นสมควร ร่วมด้วย มีความพอใจ นั่นคือการทำตามระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่นในประเทศฟิลิปปินส์ มีการปฏิวัติรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปฏิวัติโดยประชาชนและทหาร ในที่สุดรัฐบาลแพ้การปฏิวัติครั้งนั้น เขาเรียกว่า การปฏิวัติแบบฟลาวเวอร์ เรฟโวลูชั่น (Flower Revolution)
การปฏิวัติ คือการกระทำที่ถูกต้อง เพราะมีประชาชนเป็นส่วนองค์ประกอบ เช่นเดียวกันวันที่ 19 ก็คือการกระทำที่มีประชาชนอยู่ข้างหลัง การบ่งบอกก็คือว่า วันที่ 20 ประชาชนออกมาพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ ทุกคนมีความสุข นี่คือการปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนให้การสนับสนุน คือ สิ่งที่พวกเราในฐานะที่เราเป็นสื่อ เราต้องรู้ว่าระบอบประชาธิปไตย มันมีหลักการอยู่กี่ข้อที่มีองค์ประกอบในการเป็นประชาธิปไตย เราต้องไปศึกษาตรงนั้นแล้วเราจะเข้าใจว่าบ้านเราเป็นอะไร
เวลาเราเขียนว่ารัฐบาลทำอย่างนี้เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า คนนี้ทำอย่างนี้ เรียกร้องสิทธิ์อย่างนี้ เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรง เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า อยู่ในกติกาประชาธิปไตยหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เราต้องศึกษา อย่างที่เขาพูดว่า เรื่องของรูล ออฟ ลอว์ (The rule of law) ก็คือ นิติรัฐ สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนรู้สิทธิ ทุกคนรู้หน้าที่ ฉันจะเดินขบวนฉันก็เดิน สิทธิเดินมี แต่ละเมิดสิทธิผู้อื่นมันไม่ได้ นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเขียนไว้ชัด ในบ้านเรา ทุกคนก็อยากมีประชาธิปไตย แล้วเราเข้าใจประชาธิปไตยหรือเปล่า มันกลายเป็นว่าเรามีความรู้สึกส่วนตัวว่า ฉันไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย
นโยบายอะไรที่สามารถจับต้องได้ และเป็นจุดเด่นของพรรค?
ยุทธศาสตร์เฉพาะของพรรค มีอยู่ 5-6 ข้อด้วยกัน เราก็หยิบสถานการณ์ปัจจุบันนี้มาศึกษา ปัญหาสังคมเป็นอย่างไร ปัญหาการปกครองเป็นอย่างไร สิ่งแรกที่เราให้ความสำคัญกับนโยบายเฉพาะ ประการแรก คือ เรื่องของการเสริมสร้างสังคม เห็นว่าสังคมไทยมีความแตกแยก มีความขัดแย้ง ไม่มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่มีรอยยิ้ม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันเกิดขึ้น เราจะสร้างสังคมของเรา ให้เป็นสังคมแห่งความรัก ความผูกพัน
ประการที่สอง คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมนี่เกิดขึ้นจากอะไร จากความยากจนของคนทั้งประเทศ ซึ่งมันมีความแตกต่างกันตั้งแต่คนในเมืองจนกระทั่งถึงคนในชนบทชาวไร่ชาวนา และที่มีนา และไม่มีนาอีกต่างหาก ความแตกต่างทางสังคมมีความเหลื่อมล้ำมาก พรรคของเราจะขจัดความเหลื่อมล้ำ
ตรงนี้เป็นงานหลักและเป็นงานหนัก แต่ถ้าพวกเราทำจริงๆ ก็สามารถทำได้ เพราะว่าเราทำอย่างไรที่จะให้ชาวไร่ชาวนา หรือ เกษตรกร กรรมกร ทั้งหลายมีคุณภาพชีวิต มีวิถีชีวิต มีความมั่งมีมากกว่าที่เป็นอยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ถือว่าเป็นเรื่องของการขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มันเกิดขึ้นให้ได้ อะไรที่เป็นนโยบายจากพรรคไหนก็ตามที่ผ่านมาในอดีต ถ้าเป็นสิ่งที่ดี เราก็หยิบมา นโยบายตรงไหน เขาแก้ปัญหากันในสังคมโลกตรงไหน ที่ทำให้ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เราก็หยิบมาเป็นแพทเทิร์น ต้องมาศึกษาดูว่า บ้านเมืองเราจะทำได้ไหม
ประการที่สาม คือ บ้านเรากำลังมีหลายสี สีแดง สีเขียว สีเหลือง พรรคของเราจะไม่มีสี พรรคเราจะเป็นกลาง พรรคของเราจะเป็นพรรคแห่งการประสานประโยชน์ ให้เกิดความปรองดอง ความสมานฉันท์
ประการที่สี่ คือ เรื่องของการทุจริต ประพฤติมิชอบ อันนี้เป็นปัญหาหลักของสังคมไทย อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาหนักของบ้านเมือง เราจะพยายามทำให้บ้านเมืองเรานี้ มีการโกงกินและคอร์รัปชั่นน้อย หรือไม่ให้มีเลย เราจะทำตรงนี้ เราจะสร้างคุณภาพชีวิตของสังคมไทยให้มีการอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ที่สำคัญก็คือว่า เราจะละ ลดเลิก อบายมุข ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
ในส่วนของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ที่เป็นปัญหาหนัก ก็คือ ปัญหาโลกร้อน จะเห็นว่ามันทำให้เกิดอะไรขึ้น เกิดฝนตกมาก พอถึงเวลาหน้าแล้ง ก็แล้ง เหมือนจะเกิดเรื่องน้ำ ปัญหาน้ำเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค เราจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนในท้องถิ่น
เป้าหมายของพรรค ดูเหมือนจะมุ่งไปที่กลุ่มมุสลิม?
เราเป็นพรรคสากล ไม่ได้มุ่งไปสู่ตรงจุดไหน เพราะพรรคนี้ไม่ใช่พรรคมุสลิม เป็นพรรคของคนทั้งประเทศ แต่เราเริ่มต้นที่ตรงจุดนั้น คนที่จะเตรียมการเลือกตั้งในคราวหน้ามีทั้งภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง คนที่จะมาอยู่กับเรามีทุกภาค ที่สำคัญเรากำหนดของเราไว้ว่า พรรคมาตุภูมิของเราเป็นพรรคพหุทางสังคม คำว่า พหุทางสังคม คือ เป็นพรรคที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี จะต้องมาอยู่ที่ตรงนี้ คนที่สมัครในพรรคเราก็จะเป็นมุสลิม เป็นฮินดู เป็นคริสต์ เป็นพุทธ จะอยู่ในนี้หมด
เราเห็นตัวอย่างจากหลายๆ พรรคของต่างประเทศ ว่า เขากำหนดไว้ชัดเจน ข้อหนึ่งเลยว่า พรรคจะต้องเป็นพรรคพหุของสังคม เรารับมาหมดเพียงแต่ว่ามากลั่นกรองให้สอดคล้องกับนโยบาย ของการนำไปสู่ประชาธิปไตย
นโยบายของพรรคกับสังคมมุสลิมเป็นอย่างไร
มียุทธศาสตร์อีกข้อหนึ่ง คือ เรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ ปัญหาภาคใต้ก็เป็นภารกิจหนึ่งในยุทธศาสตร์ของพรรค เราต้องการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความสงบเรียบร้อย ปัญหามันอยู่ตรงว่าการแก้ปัญหาของทบวง ตรงนั้นมันแก้ไม่ได้ เพราะว่าขาดเอกภาพ ก็มี 4 เรื่องหลักๆ อันที่ 1 ก็คือ เรื่องนโยบาย องค์กรตรงนี้ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อันที่ 2 ก็คือองค์กรตรงนี้ ไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องคนได้ อันที่ 3 องค์กรไม่สามารถจะจัดการบริหารในเรื่องของงบประมาณได้ อันที่ 4 องค์กรไม่สามารถจัดระบบโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะฉะนั้นพรรคของเรานี้ต้องการมุ่งเน้นให้องค์กรมีโครงสร้างการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
คำว่า ‘ทบวง’ จะเข้าไปคุมทั้ง 4 งานใหญ่ๆ ตรงนี้ให้มันเกิดขึ้น แล้วสุดท้ายก็คือ เราพยายามให้ประชาชนเข้ามาแก้ปัญหาเอง ประชาชนที่ไหน ก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ก็ต้องมาแก้ปัญหาเอง ภาคประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำจิตวิญญาณในท้องถิ่นก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเอง ทหาร ตำรวจ ทำหน้าที่ของตัวเอง ลดทหารให้มันลงเหลือน้อยลง เอาทหารเฉพาะในกองทัพภาคที่ 4 เข้าไปดูแลก็เพียงพอ เพียงแต่ว่าคอยเป็นผู้สนับสนุนให้กับรัฐ ให้กับองค์กรของภาคประชาชน ในการเข้าไปแก้ปัญหา
แล้วมุสลิมที่อยู่นอกสามจังหวัดชายแดนใต้จะทำอย่างไร?
มุสลิมเรายังมีอีก 3 เรื่องที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่นะ จุดแรกก็คือ ในเรื่องการศึกษา ลองเปรียบเทียบว่าทำไมอิสราเอลถึงมีบทบาทอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเขามีการศึกษา มีเงิน และความรักความสามัคคีของชาติ นโยบายของเรา ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้การศึกษาของมุสลิมทั้งประเทศ มีการศึกษาทั้งเรื่องของศาสนาที่ดี แล้วก็เรื่องการศึกษาทั้งวิชาสามัญที่สุดยอด อันที่ 2 ก็คือ เศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้มุสลิมมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี เราจะสนับสนุนช่วยกันอย่างไร จะอยู่แบบ ตัวใคร ตัวมันไม่ได้
มุสลิมเราก็ต้องมีสโลแกนในการดำรงชีวิต เพื่อให้เราได้มีโอกาส ที่จะอยู่ในแวดวงของธุรกิจที่ดี เราจะนำฮาลาลออกต่างประเทศ
ในฐานะที่เป็นมุสลิม ถ้ามีโอกาสเข้ามาเป็นนักการเมือง หรือ เป็นผู้บริหารในรัฐบาล จะเสริมศักยภาพให้ประเทศชาติ อย่างไร
เหตุการณ์ที่ผ่านมา คนทั้งประเทศเขาก็รักเรามาก เป็นโอกาสที่เราจะประสานประโยชน์ เราจะต้องทำให้มุสลิมในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 6 ล้านคน ให้มีศักยภาพ มีอำนาจ มีบารมีมากขึ้น
ความเป็นมุสลิมมีผลต่อความน่าเชื่อถือกับโลกมุสลิมด้วยกัน?
เรามีคอนเน็คชั่น (connection) กับประเทศต่างๆ อยู่แล้ว มีบางประเทศมาหาเรา เขาบอกว่าเงินเขามีมาก อยากจะทำอะไรไหม แต่เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร เพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจ
ความคาดหวังต่อผลการเลือกตั้ง?
ภาคใต้ ภาคกลาง เป็นเป้าหมายหลัก เป้าหมายรองอีสาน ทางเราคงไม่หวัง เพียงแต่ว่าพยายามทำให้ดีที่สุด มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ประชาชนจะศรัทธาและก็เลือกเรา
ถ้านโยบายที่เราผลักดันออกไป ประชาชนเขาไม่ตอบสนอง ทางพรรคจะเดินต่อไปอย่างไร?
เราไม่ได้ต้องการมาก เราต้องการว่าข้างหน้าระยะยาว คนที่มีคุณธรรม จริยธรรม เห็นการเมืองกำลังแย่แล้วโดดเข้ามาช่วย เราต้องการตรงนั้นมากกว่า เราต้องการความเป็นอุดมการณ์ของเรา ความมีเจตนาของเรา ให้ประชาชนเห็น ขณะนี้ทำอย่างไรจะให้คนที่เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจที่มองเห็นว่า นี่คือ แนวนโยบายที่ดี
แต่ละพรรค เหมือนขายสินค้า เมื่อไม่พอใจผู้บริโภค ก็หยุด ขาดความต่อเนื่อง จริงๆ แล้ว เป้าประสงค์ ของเขาก็ต้องการได้กลับไปสู่สถานภาพการเป็นผู้แทน ซึ่งตรงนั้นไม่ใช่ทางออกที่ประชาชนต้องการ ถ้าเกิดว่าพรรคมาตุภูมิมีนโยบายอย่างนี้ พรรคจะมีพละกำลังที่จะเดินไป 8 ปี ได้หรือเปล่า?
ถ้าเรากำหนดวัตถุประสงค์ของเราชัดเจน แล้วก็คนที่ลงมาทำงาน มันมีวัตถุประสงค์เดียวกัน ตรงกัน ผมเชื่อว่า การเจริญเติบโต เหมือนกับเราสร้างรากฐาน เหมือนผูกบ้าน เราจะต้องลง เสาเข็ม เราจะต้องเทคานอะไรต่างๆ ทำให้มันแน่นเหนียว ค่อยๆ ไป ค่อยๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่อังกฤษเขามีพรรคแรงงาน ที่ใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทำไมเขาอยู่ได้
ตอนนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤตศรัทธาต่อนักการเมืองของประชาชนมีค่อนข้างมาก มาตุภูมิจะแก้ไขอย่างไร?
ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าเขาเป็นคนดีของเขา ฉะนั้นคนดีของสองคนมอง คนหนึ่งดีไม่มีทางเท่ากันกับอีกคนหนึ่ง อันนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤตศรัทธา มันเป็นกระแสของฝ่ายหนึ่งที่จะพูดกับอีกฝ่ายหนึ่ง เราต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นในสังคมการเมือง
…
เผยแพร่ในเดอะพับลิกโพสต์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 31 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553