มุมมอง..เรื่องศาสนาของเรา

เรื่องหนึ่งที่ท้าทายและอ่อนไหวต่อความรักความสามัคคีของคนในสังคม คือ การกล่าวร้ายซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการกล่าวหา/กล่าวร้ายกันด้วยเรื่องศาสนา  การสร้างความเกลียดกลัวให้กับศาสนา การกีดกันด้วยรูปแบบต่างๆ ที่มาจากแนวคิดทางศาสนา เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบไม่เฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งของสังคม แต่ยังเป็นการสร้างความตึงเคียดภายในศาสนาเดียวกันและระหว่างศาสนาในสังคมอีกด้านหนึ่งด้วย จะเป็นความตึงเคียด ความกดดันที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากศาสนาใด ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเกิดเป็นผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

ศาสนาคือเครื่องมือสร้างสรรค์/หล่อหลอมความรักความสามัคคีของคนในสังคม สังคมจึงต้องให้ความสำคัญกับทุกศาสนาที่มีอยู่จริงในสังคม ให้เหมือนเป็นเรือนร่างเดียวกันที่ต้องใช้อวัยวะร่วมกัน  เพราะจุดแข็งของศาสนานั้นมิใช่เพียงเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเพื่อต้องการสร้างสรรค์การอยู่ร่วมกันทางสังคมในกรอบของคุณธรรมจริยธรรม (อัคลาค) เปิดพื้นที่ทางศาสนาให้เข้าไปมีบทบาทร่วมในการสร้างคนของชาติให้มีความสมบูรณ์ทั้งกายและจิตใจ  เพราะสังคมจะเจริญก้าวหน้าได้ก็ด้วยคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมนั้น สังคมที่เข้มแข็งนั้นไม่ใช่มีแต่เรื่องวัตถุที่สร้างพัฒนาขึ้นเพียงด้านเดียว แต่ความเข้มแข็ง/ความดีงาม/สวยงามทางคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมต่างหากที่ทำให้สังคมน่าอยู่

เมื่อหมดยุคศาสนจักรแล้ว ศาสนาก็กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ตกยุค/ล่าสมัย  ศาสนจักรเป็นระบบการปกครองที่ไม่สมดุลทางอำนาจและขาดการถ่วงดุล ซึ่งนั่นคือการต่อสู้/ช่วงชิงพื้นที่การปกครองและพื้นที่ยึดครองระหว่างศาสนาจักรกับอาณาจักร  การจบลงของยุคศาสนจักร  คือ การทำลายความสวยงาม/ความดีงามของศาสนา ทำให้ศาสนากลายเป็นเหตุแห่งความรุนแรงและสงคราม แม้จะเป็นเหตุการณ์ของบางศาสนาที่กระทำต่อกัน แต่กลับมีผลกับทุกศาสนาและกับสังคมโลกมาจนถึงปัจจุบัน 

 ช่วงรอยต่อของการกำเนิดศาสนาอิสลามในแหลมอารเบีย  เป็นยุคที่ศาสนา/จริยธรรมคุณธรรมของคนตกต่ำ และถูกตัดแต่งต่อเติม จนสังคมไม่สามารถรองรับความเป็นศาสนาของชาติได้ จากสังคมที่อยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาได้ จึงค่อยๆถอยหลังไปเป็นกลุ่ม/เผ่า/ตระกูล ทำให้ผู้คนหมดความหวังกับรัฐหรือสังคมของตัวเอง โดยหันไปสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ที่ผสมผสานกับหลักการปกครองใหม่จากผู้ยึดครอง ในยุคนั้นๆ  หลักการศาสนาที่บริสุทธิ์ถูกผสมด้วยวาทกรรมทางการเมืองการปกครอง ผลประโยชน์ทางการเมืองการปกครองและการค้าได้อย่างกลมกลืน  ศาสนาจึงถูกกระแสผลักให้กลายเป็นสิ่งมอมเมาไร้สาระ จึงเห็นได้ว่าภารกิจแรกๆที่ท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ,ล)กระทำ คือ การสร้างกฎของสังคมขึ้นใหม่หลังจากที่ถูกทำลายไป  เพื่อสลายกฎของกลุ่ม/เผ่าพันธุ์/ตระกูล(อะซอบียะห์)  ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม   การยึดมั่นกับกฎของกลุ่ม/เผ่าพันธุ์/ตระกูลแทนการยึดมั่นต่อกฎของสังคม เป็นเหตุให้สังคมอ่อนไหวหรือไวต่อความขัดแย้งและความอคติต่อกัน   

โดยเฉพาะอุดมคติของศาสนาอิสลามที่ไม่ได้แยกศาสนาออกจากการปกครอง//ไม่แยกความเป็นศาสนาจักรออกจากความเป็นอาณาจักร  ทำให้ความขัดแย้ง/ความกดดันระหว่างศาสนากับความเป็นรัฐ/การปกครองนั้นดำเนินต่อไปอย่างสมดุล  

แม้ว่าประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด แต่ก็ยังเป็นระบบที่ดีที่สุดที่สังคมยังยึดถืออยู่ในปัจจุบัน  การทำให้หลักการทางศาสนาถูกหลอมรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักประชาธิปไตยนั้น จึงเป็นเรื่องของนิยามและหลักยึดของแต่ละศาสนาที่ยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้ แต่สำหรับนิยาม/หลักยึดของศาสนาอิสลามนั้น มีความแตกต่าง เพราะในตัวศาสนาอิสลามไม่สามารถแยกศาสนิกออกจากสังคม 

กระแสของความเป็นอาณาจักรยังคงเข้มแข็งอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่ศาสนจักรค่อยๆลุกคืนขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น แต่ละประเทศต่างยอมรับในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการยอมรับที่ไม่สามารถละทิ้งอุดมคติทางศาสนาเดิมของตนเองได้ จึงกลายเป็นระบบประชาธิปไตยแบบผสม แม้แต่ประเทศมุสลิมเองที่เคยชัดเจนในเรื่องการปกครองในระบบอิสลาม มีการต่อสู้เพื่อให้สังคม/ประเทศปกครองในระบบอิสลามก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถจะใช้รูปแบบอิสลามอย่างเต็มรูปแบบได้ จึงเห็นแต่ระบบประชาธิปไตยผสมกับระบบอิสลาม  แม้แต่ระบบประชาธิปไตยที่ผสมสังคมนิยม ระบบประชาธิปไตยผสมกับคอมมิวนิสต์ ก็ยังมี

นี่เป็นพลวัตทางสังคมที่ค่อยๆปรากฏให้เห็นถึงพลังทางศาสนาที่เริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ความเป็นอาณาจักรมากยิ่งขึ้น พลวัตเหล่านี้เกิดเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก ซึ่งทำให้อำนาจทางอาณาจักรต้องคอยจ้องมองอย่างไม่ไว้วางใจ      

แต่ด้วยหลักการของแต่ละศาสนานั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกฏระเบียบทางสังคมที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และกาลเวลา  จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกฎของสังคมกับหลักการทางศาสนาในที่สุด ยิ่งหลักการทางศาสนาถูกกดดันมากเท่าใด กฎทางสังคมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุง  พลวัตทางศาสนาในปัจจุบันกลับไม่ได้จำกัดยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่มันได้เข้าไปผสมกับแนวคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือกลุ่มสิทธิต่างๆที่เริ่มขยายขอบข่ายออกไปทั่วทุกมุมโลกในปัจจุบัน  แม้ว่ากลุ่มสิทธิเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งบางครั้งไปสร้างความกดดันและความขัดแย้งภายในศาสนาที่ส่งผลต่อสังคมโดยรวม

ความศรัทธาที่เป็นจุดแข็งของอุดมคติทางศาสนา หากกลายไปเป็นเครื่องปิดกั้นความรักความสามัคคีของกันและกัน ความอคติต่อความศรัทธาทำให้ความเป็นพี่น้องต้องกลายเป็นศัตรู ทำให้คนในชาติต้องแตกแยกความรักความสามัคคี  

แนวทางที่อัลกุรอานเสนอแนะ คือ ความต้องการให้ศาสนาทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยสันติภาพ ซึ่งความจริงอิสลามก็เรียกตัวเองว่าสันติภาพมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว พระองค์ทรงเมตตากับทุกศาสนา/เป็นมิตรกับทุกศาสนา หรืออาจจะกล่าวให้ชัดเจนดังคำของกุรอานว่า  “ และจงต่อสู้กับพวกเขาจนกว่าความวุ่นวาย(ฟิตนะห์)จะหมดไป  และทุกๆศาสนานั้นจะเป็นไปเพื่ออัลลอฮ “ ( ซูเราะห์อัลอันฟาล อายะห์ที่๓๙)