“เมซุท เออซิล” เหยื่อการกดขี่ทางเชื้อชาติในยุโรป ศตวรรษที่ 21

ภาพ : independent

ท่ามกลางความยินดีต่อเหล่านักเตะฝรั่งเศสที่เชิดชูพวกเขาถึงแม้จะมีความแตกต่างทางชาติพันธ์ กลับได้ยินเรื่องน่าเศร้าวงการฟุตบอลเยอรมันเมื่อ “เมซุท เออซิล” (Mesut Ozil) หรือโลกมุสลิมเรียกเขาว่า “มัสอูด โอซิล” ได้ออกมาเปิดเผยการเหยียดหยามทางเชื้อชาติต่อเขา เพราะไม่สามารถนำเยอรมันก้าวสู่แชมป์โลกเหมือนสี่ปีที่ผ่านซ้ำร้ายยังตกรอบแรกด้วยลำแข้งเกาหลีใต้ (โปรดดู https://facebook.com/story.php?story_fbid=2020267557985044&id=368862193125597 )

เขากล่าว่า  “เมื่อคุณถูกตัดสินความเป็นคน ด้วยชาติกำเนิด…หาใช่ สิ่งที่เคยทำให้กับประเทศชาติ”

ผมโคตรผิดหวัง กับสิ่งที่ได้รับจากสมาคมลูกหนังเยอรมัน และนั่นทำให้ผม ไม่อยากใส่เสื้อทีมชาติที่มีตราอินทรีเหล็ก ลงสนามอีกแล้ว……นี่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ทุกๆอย่างที่ผมได้ทำมาตั้งแต่ลงเล่นให้ทีมชาติครั้งแรกในปี 2009 มันไม่เคยมีคนจดจำได้เลย……คนที่จิตใจคับแคบ มองแต่เรื่องของเชื้อชาติ และสายเลือดเป็นหลัก ไม่ควรได้ทำงานในวงการลูกหนังที่นักเตะหลายๆคน เลือกชาติกำเนิดของพวกเขาเองไม่ได้……ทัศนคติของคนเหล่านี้ ไม่ได้ส่งเสริม สิ่งที่นักเตะสมควรได้รับแม้แต่น้อย

มันช่างทำใจยากจริงๆ แต่หลังจากที่ผมได้ลองคิดทบทวนแล้ว มันคงดีที่สุด ที่ผมจะเลิกลงเล่นให้ทีมชาติเยอรมันเสียที ในขณะที่ผมยังรู้สึกถึงการแบ่งแยก และดูถูกในเชื้อชาติของผมเอง…….ผมเคยสวมเสื้อเยอรมันลงเล่นด้วยความภาคภูมิใจ และ ตื้นตันใจ แต่ตอนนี้มันเหลือแค่ความว่างเปล่าในจิตใจ ผมไม่รู้สึกอะไรกับเสื้อตัวนี้อีกแล้ว……..แน่นอนว่า มันน่าเสียดาย ที่ต้องบอกลา เพื่อนร่วมทีม สตาฟ์โค้ชทุกคน และแฟนๆ…แต่ในเมื่อมีใครบางคนในสมาคม พยายามที่จะเอาเรื่องสายเลือดความเป็น ตุรกี ของผม มาเป็นประเด็นในการโจมตี ทั้งทางการเมือง และ ชีวิตส่วนตัว……ผมคงต้องขอพอแค่นี้จริงๆ และ ผมจะไม่มีวันนั่งเฉยๆ ให้พวกเขาชี้นิ้วดูถูกผมอีก…การแบ่งแยกและเหยียดเชื้อชาติ ไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระ ที่ยอมรับได้อีกต่อไป

“วันที่ทีมชนะ ทุกคนบอกว่า ผมเป็นคนเยอรมัน…แต่เมื่อวันใดที่ทีมพ่ายแพ้ ผมก็เป็นแค่คนตุรกีพลัดถิ่น….สำหรับพวกเขา”

ความเป็นจริงการเหยียดหยามทางเชื้อชาติของคนผิวขาวต่อผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่มาจากเอเชีย ตะวันออก อัฟริกาหรือแม้กระทั่งยุโรปตะวันออกมีมาตลอดอย่างยาวนาน ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรมและโครงสร้าง (โปรดดู https://prachatai.com/journal/2006/07/8908 )

หากย้อนดูประวัติคนเยอรมันที่มีทัศนะต่อคนตุรกีอพยพผ่านงานวิชาการจะไม่แปลกและเข้าใจทัศนะคนเยอรมันตอนนี้ เช่น เรื่องเล่าชาติพันธุ์และอาชญากรรมในพื้นที่ “บ้าน” ใน Happy Birthday, Tuerke: einkayankaya-roman Ethnic Narratives and Crime in “Home” Space in Happy Birthday, Tuerke: einkayankaya-roman เขียนโดย ชุติมา เกตุพงษ์ชัยจาก ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ (โปรดดู researchconference.kps.ku.ac.th/article_9/pdf/o_human16.pdf)

อาจารย์ชุติมา เกตุพงษ์ชัยกล่าวว่า บทความวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาการวิพากษ์โต้กลับวาทกรรมชาติพันธุ์ของสังคมเยอรมันกระแสหลักที่ส่งผลต่อการนำเสนอภาพแทนชาวเติร์กพลัดถิ่นและชาวเยอรมันเชื้อสายเติร์กในงานเขียนเรื่อง Happy Birthday, Tuerke!: ein kayankaya-roman (1987) โดยอาศัยประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ “บ้าน” และการสืบสวนข้อเท็จจริงจากมุมมองของคนชายขอบอย่างตัวละครผู้พลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กเข้ามาประกอบการวิเคราะห์ตัวบทที่คัดสรร

จากการศึกษาพบว่า มุมมองและการดำเนินเรื่องโดยตัวละครนักสืบเชื้อสายเติร์กช่วยเผยให้เห็นภาพสังคมเยอรมันตะวันตกช่วงก่อนการรวมชาติเยอรมนีในลักษณะของเครือข่ายสังคมที่มีความซับซ้อนและประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์และมีหลายอัตลักษณ์แต่สัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง มากกว่าสังคมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนสองขั้วต่าง อันได้แก่ ชาวเยอรมันและกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ตามทัศนคติของสังคมเยอรมันกระแสหลัก ตลอดจนสะท้อนให้เห็นการใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เยอรมนีร่วมสมัย ซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและวิกฤตอัตลักษณ์พลัดถิ่นของตัวละคร

การนำเสนอภาพแทนชาวเติร์กพลัดถิ่นและชาวเยอรมันเชื้อสายเติร์กตามทัศนคติของสังคมเยอรมันกระแสหลักมักให้ภาพคนพลัดถิ่นเหล่านี้ในเชิงแบบฉบับตายตัวว่า พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวตะวันออก” ที่มีวิถีชีวิตและค่านิยมที่แตกต่างจากชาวเยอรมัน โดยเฉพาะในเรื่องของการไร้ความสามารถด้านภาษา และการใช้ชีวิตครอบครัวตามระบบปิตาธิปไตยหรือระบบชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ชาวเยอรมันรู้สึกวิตกกังวล ส่งผลให้ชายพลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กถูกเข้าใจว่ามีความป่าเถื่อนก้าวร้าว และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงคล้ายกับผู้ร้ายหรือ อาชญากร ในขณะที่หญิงพลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กเองก็ถูกเข้าใจว่าได้รับการกดขี่และเป็นเสมือนเหยื่อของความรุนแรงเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี งานเขียนเรื่อง Happy Birthday, Tuerke!: ein kayankaya-roman (1987) ของนักเขียนชาวเยอรมันชื่อ ยาคอบ อาร์จูนี เลือกที่จะนำเสนอเรื่องภาพแทนด้านชาติพันธุ์และเรื่องความรุนแรงด้วยมุมมองที่แตกต่าง ผ่านตัวละครนักสืบเชื้อสายเติร์กชื่อนายเคมาล คายันคายา ที่ได้รับการจ้างให้สืบคดีฆาตกรรมแรงงานชาวเติร์กพลัดถิ่นคนหนึ่งในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต

เรื่องเล่าจากการรวบรวมข้อมูลที่น่าสงสัยและเหตุการณ์ที่คล้ายจะไม่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างตัวละครชาวเยอรมันและตัวละครผู้พลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กเผยให้เห็นการโต้ตอบและการตั้งคำถามกับวาทกรรมภาพแทนผู้พลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กของสังคมเยอรมันกระแสหลักว่า แท้จริงแล้ว คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใดและมาจากชาติพันธุ์ไหน ก็สามารถใช้ความรุนแรงและเป็นผู้กระทำผิดได้ทั้งนั้น ตลอดจนทัศนคติของสังคมเยอรมันกระแสหลักต่างหากที่พยายามก่อ “อาชญากรรม” ที่ร้ายแรงกว่า นั่นคือการกดทับหรือการกำจัดผู้พลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กออกไปจากพื้นที่สังคมเยอรมันด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าตัวละครผู้พลัดถิ่นเชื้อสายเติร์กทั้งชายและหญิงจะมีลักษณะที่ตรงข้ามกับภาพแทนเชิงชาติพันธุ์ข้างต้น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเยอรมันร่วมสมัยไปแล้ว

บทเรียนครั้งนี้สะท้อนสังคมเยอรมันลึกๆถึงแม้รัฐธรรมนูญเยอรมันจะรับรองความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน แม้จะหลากหลายทางวัฒนธรรม  สีผิว เชื้อชาติ(โปรดดู http://www.goethe.de/lrn/prj/wnd/idl/grl/thindex.htm)

หากรัฐบาลเยอรมัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเป็นระบบเเละถอนรากถอนโคน การกดทับอย่างกรณีของเออซิล ดาราดังก็จะเกิดขึ้นอีกต่อคนชายขอบและพลัดถิ่นในเยอรมันหรือยุโรป แม้จะอยูศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม

เออซิล เป็นเพียงตัวละครหนึ่งของเหยื่อการกดขี่ทางเชื้อชาติในยุโรป ศตวรรษที่21เท่านั้น