การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของปากีสถาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ออกมาลงคะแนนคิดเป็นจำนวนร้อยละ 55 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 106 ล้านคน
ชาวปากีสถานที่ออกมาลงคะแนนเหล่านี้ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงและถือเป็นเรื่องน่าทึ่งเนื่องจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อจุดลงคะแนนต่างๆ
ผลที่ตามมาคือการสร้างความประหลาดใจต่อการเมืองปากีสถาน เมื่อ “พรรคตะรีก อินซาฟ” (Tahreek-e-Insaf) ภายใต้การนำของ “อิมราน คาน” อดีตนักกีฬาคริกเก็ตผู้โด่งดัง สามารถคว้าชัยชนะ กวาดเก้าอี้ในสภาปากีสถานไป 116 ที่นั่ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลต้องมี 137 ที่นั่งเป็นอย่างน้อยทำให้เขาจะต้องหาพรรคอื่นหรือผู้สมัครอิสระมาร่วมเป็นพันธมิตร
ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งปากีสถานครั้งนี้คือการสูญเสียที่นั่งของพรรคสันนิบาตมุสลิม (Muslim League) ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี “นาวาซ ชารีฟ” ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2013 พรรคได้รับการเลือกตั้ง 126 ที่นั่ง และจัดตั้งรัฐบาลโดยได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในคณะรัฐมนตรี แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคสันนิบาตมุสลิมได้เพียง 64 ที่นั่งเท่านั้น
ประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งรวมทั้งเรื่องอื้อฉาวในการทุจริตของ “นาวาซ ชารีฟ” การโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งของ “อิมราน คาน” และการตัดสินของศาลในคดีที่เกี่ยวกับนาวาซ ชารีฟ และญาติๆ ของเขา ได้สร้างความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อพรรคสันนิบาตมุสลิม
ผลการเลือกตั้งของปากีสถานครั้งนี้ยังมีจุดน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ พรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party) ซึ่งนำโดย “บิลาวัล บุตโต” บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรี “นางเบนาซีร์ บุตโต” ที่ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิต สามารถนำพรรคได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาเป็น 43 ที่นั่งจากเดิม 33 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งปากีสถานครั้งนี้ต้องถือว่า “พรรคตะรีร์ อินซาฟ” ภายใต้การนำของ “อิมราน คาน” เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์เมื่อขยับจาก 30 ที่นั่งขึ้นมาเป็น 116 ที่นั่ง
ผลการเลือกตั้งที่ถูกท้าทาย
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังผลการเลือกตั้งออกมา ผู้นำพรรคการเมืองบางคน เช่น “ชาห์บาส ชารีฟ” (Shahbaz Sharif) ก็ออกมาปฏิเสธผลการเลือกตั้งนี้ พวกเขากล่าวว่าผลลัพธ์ดังกล่าวมีการแทรกแซงและล็อกผลการลงคะแนนเพื่อนำไปสู่ชัยชนะของอิมราน คาน อย่างไรก็ตามภายหลังเขาออกมาบอกว่าพรรคของตนพร้อมเป็นฝ่ายค้านและจะดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์การทุจริตเลือกตั้งครั้งนี้ เขาระบุด้วยว่าได้ติดต่อพรรคอื่นๆ ที่แพ้เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อกำหนดและตัดสินใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การประท้วง
นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรในนาม “มุจตะฮิดา มัจลิส อะมัล” (Muttahida Majlis-e-Amal) ประกอบด้วย พรรคจามีอัต อูเลมาอิสลาม (Jamiat Ulema-e Islam) นำโดยนายฟัซลุลเราะห์มาน พรรคจามีอัตอิสลามีปากีสถาน (Jamaat-e-Islami Pakistan) และพรรคตะห์รีกอิสลามีปากีสถาน (Tahreek-e-Islami Pakistan) ก้ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธผลการลงคะแนนและโต้แย้งในบางหน่วยเลือกตั้งที่มีการอ้างว่ามีเรื่องฉ้อโกง
แม้ว่าพันธมิตรกลุ่มนี้บอกว่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า เมื่อพิจารณาปฏิกิริยาของนายฟัซลุลเราะห์มาน หัวหน้าพรรคจามีอัต อูเลมาอิสลามแล้วที่สุดพันธมิตรกลุ่มนี้ก็จะยอมรับผลการเลือกตั้ง รวมทั้งฝ่ายที่คิดประท้วงก็เช่นกันในที่สุดก็จะยอมรับผลลัพธ์และทำงานร่วมกับพรรคระดับนำ
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปกป้องผลลการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ “นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส” และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปก็ได้แสดงความเห็นชอบและแสดงความยินดีต่อการที่อิมราน คาน ได้รับชัยชนะ สิ่งเหล่านี้อาจมีบทบาทในการโน้มน้าวสถานการณ์ปากีสถานหลังเลือกตั้งให้เย็นลง
ท่าทีของ “อิมราน คาน”??
เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ นักการเมืองอดีตผู้เล่นคริกเก็ตมีมุมองว่า ปากีสถานควรมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับอิหร่านและอัฟกานิสถาน เขาเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน อิหร่าน และอินเดีย
อิมราน คาน ให้ความสำคัญกับประเทศจีนและอิหร่านอย่างยิ่ง โดยบอกว่าพวกเขาเป็นประเทศเพื่อนบ้านของปากีสถาน และความสัมพันธ์กับพวกเขาควรจะเป็นไปในทิศทางที่ก้าวหน้า
เขาชี้ไปที่อินเดียว่า ทั้งสองควรสร้างความสัมพันธ์ที่ “สงบ” โดยการเริ่มต้นการสนทนาเกี่ยวกับแคชเมียร์
นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงสหรัฐฯ ว่าควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับผลประโยชน์ของวอชิงตัน-อิสลามาบัด ความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามาบัดกับวอชิงตันในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในความเย็นเยือก เมื่อประธานาธิบดีอเมริกัน “นายโดนัลด์ ทรัมป์” กล่าวหาว่าปากีสถานว่าให้ความช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน
ท่าทีของเขาโดยรวมแสดงถึงนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติ
สำหรับนโยบายภายในประเทศ เขาบอกว่าจะยื่นมือของเขาเพื่อร่วมมือกับทุกฝ่าย ปฏิเสธการแก้แค้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง ดูเหมือนว่าเขาจะกล่าวถึงพรรคสันนิบาตมุสลิมและพรรคประชาชนโดยเฉพาะซึ่งสร้างแรงเสียดทานสูงสุดต่อพรรคของเขาในระหว่างการรณรงค์เลือกตั้ง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ท่าทีนิ่มละเมียดละไมของเขาจะช่วยให้เกิดเสถียรภาพต่อการเมืองของประเทศนี้
ความสัมพันธ์อิหร่าน-ปากีสถาน ภายใต้การนำของ อิมราน คาน
การเจรจาระหว่างอิสลามาบัดและเตหะรานภายใต้ชัยชนะของพรรคตะรีก อินซาฟ คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป ทั้งนี้ในความเป็นจริงไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำปากีสถานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้านทั้งสองก็ยังคงเป็นมิตรแม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับพรมแดนก็ตาม
บรรดาผู้นำของอิสลามาบัดพยายามทำให้สถานการณ์กับเตหะรานเป็นไปอย่างสงบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาปะทุขึ้นในบริเวณชายแดน
พวกเขาพิจารณาโครงการท่อส่งก๊าซที่นำก๊าซจากอิหร่านไปยังดินแดนปากีสถานเสร็จสิ้นไปแล้ว โครงการนี้จะรับประกันราคาที่ถูกที่สุดและระยะเวลาการจัดหาพลังงานที่สั้นที่สุดให้แก่ปากีสถาน โครงการนี้ยังหมายถึงการจัดหาก๊าซให้กับอินเดีย แต่นิวเดลีได้ถอนตัวออกไปภายใต้แรงกดดันจากวอชิงตัน
ความท้าทายข้างหน้าของ อิมราน คาน
รัฐบาลปากีสถานประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องซึ่งได้ขัดขวางศักยภาพของพวกเขา แม้แต่อิมราน คานก็ไม่มีข้อยกเว้น ปัญหาหลักที่รัฐบาลในอนาคตต้องเผชิญคือปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และหนี้ต่างประเทศที่พุ่งขึ้น ค่าเงิน การก่อการร้าย และความตึงเครียดกับหลายฝ่าย
ในนโยบายต่างประเทศนั้น อิมราน คาน มีงานยากในการแก้ปัญหากับสหรัฐฯ อินเดีย และอัฟกานิสถานที่เขาต้องเผชิญ