france24/AFP – เมื่อวันพฤพัส ที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐสภาแคนาดาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของนางออง ซาน ซูจี อันเนื่องจากเพิกเฉยและนิ่งเงียบต่อวิกฤตโรฮิงญา
แคนาดาได้มอบสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์แก่นางออง ซาน ซูจี เมื่อปี 2007 เนื่องจากเป็นผู้อุทิศตนเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและโดนกักขังเป็นเวลานาน รวมถึงเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
แต่ชื่อเสียงระดับนานาชาติของนางก็มัวหมอง จากการปฏิเสธที่จะหยุดยั้งความป่าเถื่อนของทหารพม่าที่กระทำกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งแคนาดาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
“ในปี 2017 สภาได้มอบสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดาให้แก่นางออง ซาน ซูจี ในวันนี้สภาฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ถอดถอนสถานภาพดังกล่าว” อดัม ออสเตน โฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา กล่าว
ปฏิบัติการทางทหารที่โหดร้ายเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ทำให้กลุ่มน้อยโรฮิงญากว่า 700,000 ราย ต้องหลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าเข้าไปอยู่ในบังกลาเทศ ตอนนี้พวกเขาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแคบๆ และหวาดกลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับไปยังพม่าประเทศที่มีชาวพุทธเป็นชนส่วนใหญ่
หลายคนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสังหารหมู่ ล่วงละเมิดทางเพศ และการลอบวางเพลิงที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา
กองทัพพม่าได้ปฏิเสธการกระทำผิดเกือบทั้งหมด โดยระบุว่าเป็นการกระทำอย่างถูกกฎหมายเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา
หลังจากตั้งคณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริง สหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการเมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.ย.) เพื่อเตรียมคำฟ้องต่อผู้บัญชาการกองทัพของพม่าและอีกห้านายทหารระดับสูงในข้อหา “ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
“เราจะสนับสนุนชาวโรฮิงยาต่อไป โดยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อนายพลพม่า และเรียกร้องให้นำตัวบรรดาผู้ต้องรับผิดชอบไปพิจารณาโดยองค์กรระหว่างประเทศที่มีอำนาจ” โฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา กล่าว
ทั้งนี้ สถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดานั้นเป็นสถานะอันทรงเกียรติที่มอบให้กับผู้ต่อสู้เพื่อมนุษยธรรมอย่างโดดเด่น ทั่วโลกมีผู้ได้รับเพียง 5 คนเท่านั้น ได้แก่ องค์ทะไลลามะ, มาลาลา ยูซาฟไซ และ เนลสัน แมนเดลา