ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (64)

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้นำทูลเกล้าฯรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจาก 6 พรรคการเมืองเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 เป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่แต่แรกได้ข่าวแว่วๆ มาว่าจะมี ส.ส.ในกลุ่มวะห์ดะห์เป็นรัฐมนตรีกับเขาด้วยหนึ่งคน เพราะ ส.ส. กลุ่มวะห์ดะห์ในพรรคความหวังใหม่ มีถึง 5 คน เท่ากับควรมีรัฐมนตรีสักหนึ่งคน แต่เมื่อประกาศมาแล้ว ไม่ปรากฎมี ส.ส. ในกลุ่มวะห์ดะห์อยู่ในคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่แวดวงคอการเมืองอย่างประปราย แต่หลังจากที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ชวลิตฯ นายกรัฐมนตรีดำเนินไป 9 เดือน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จึงปรากฎชื่อรัฐมนตรีของกลุ่มวะห์ดะห์คนหนึ่งอยู่ในคณะด้วย คือ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนที่สองที่นับถือศาสนาอิสลามของประเทศไทยและคนที่สองของอำเภอสุไหงปาดีและคนที่สองของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งคนที่หนึ่งคือนายสิดดิก สารีฟ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2519 สมัย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี

ความจริงแล้ว นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ทราบตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2540 ว่าจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2540 เวลาประมาณ 08.00 น. ดร.โภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ถึงนายอารีเพ็ญฯ แจ้งว่า ให้ไปกรอกประวัติในแบบฟอร์มเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2540 ได้มีพระบรมราชโองการปรับคณะรัฐมนตรีบางคนออกและปรากฎชื่อ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นำรัฐมนตรีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญานก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าไปในกระทรวงวันแรกและได้ทำพิธีตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเรียบง่ายทำพิธีละหมาดฮายัต โดยมีมัรฮูมโต๊ะครูบาบอหะยีอับดุลอาซิส จูมะ (บาบอซิ ปูโงะ)ทำหน้าที่อิหม่ามและมีบาบอลี บาโงลือแฆง มาร่วมละหมาดด้วย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชีวิตความเป็นนักการเมืองของนายอารีเพ็ญฯ ที่ไม่เคยคิดว่าในชีวิตนี้จะได้มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีกับเขาด้วยคนหนึ่ง แต่เมื่อเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ (ซ.บ.) แล้ว ย่อมบังเกิดขึ้นได้เสมอ

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชิงชัย มงคลธรรม ได้เรียกประชุมข้าราชการระดับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้อำนวยการหน่วยราชการต่างๆ มาประชุม เพื่อมอบนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและรัฐมนตรี ตลอดจนแนวการบริหารของรัฐมนตรีที่จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป และได้มีการแนะนำข้าราชการระดับผู้บริหารในกระทรวงที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ด้วย

เมื่อได้เข้าทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ เรียบร้อยแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ ชิงชัย มงคลธรรม ได้มี คำสั่งที่ สลร.763/2540 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทน โดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ มีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล คือ

1. กรมอาชีวศึกษา

2. กรมการศึกษานอกโรงเรียน

3. สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

4. สำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน

เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงที่สำคัญ มีหน้าที่รับผิดชอบการศึกษาของคนในชาติให้การศึกษาเรียนรู้แก่เด็กๆ และเยาวชนของชาติ จะได้เป็นคนดี เก่ง และรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ นับว่าเป็นงานที่ท้าทายความรู้ความสามารถของคนที่มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาก โดยเฉพาะคนที่มาเป็นรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการมีความรู้ด้านการศึกษามีอาชีพเป็นครูมาก่อนคือ นายชิงชัย มงคลธรรม กับรัฐมนตรีช่วยว่าการมีความรู้ด้านกฎหมาย 2 ท่าน ประกอบอาชีพเป็นทนายความมาก่อนคือ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ กับ อีกท่านหนึ่งประกอบอาชีพรับราชการตำรวจมาก่อนคือ พล.ต.ต. วุฒิ สุโกศล อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและทุ่มเทกำลังกายกำลังใจอย่างสุดความสามารถ ไม่เช่นนั้นมีโอกาสจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากพรรคฝ่ายค้านเข้าสักวันหนึ่ง

สำหรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนที่หนึ่งหรือชื่อย่อว่าเสมา 2 นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ได้แต่งตั้งนายมุข สุไลมาน ส.ส. ปัตตานี เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแต่งตั้งนายจิรายุส เนาวเกตุ อดีต ส.ส. สตูล เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านวิชาการ โดยมี นายรุ่ง แก้วแดง เป็นประธานคณะ และแต่งตั้งคณะทำงานในจังหวัดนราธิวาส โดยมีนายยิ บินยูโซ๊ะ เป็นประธานคณะทำงาน

เนื่องจากการปรับตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้การบริหารของพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี อยู่ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังกำลังดิ่งลงอยู่ในอาการย่ำแย่ที่เรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งระบาด สาเหตุจากการทุบค่าเงินบาทเพื่อแสวงหากำไรของหมอผีทางการเงินโลกนายจอร์จ โซรอส เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เสมา 2 พอจะคาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงนัก จึงต้องทุ่มเททำงานหนัก ไปตรวจราชการต่างจังหวัดทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อติดตามงานที่ได้มอบนโยบายแก่หน่วยงานในกรมที่กำกับดูแลในภาพรวมทั่วไป ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวง

แม้เสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ในอาการที่ไม่ค่อยจะมั่นคงเท่าใดนัก เพราะเริ่มมีการประท้วงรัฐบาลบางช่วงบางโอกาสในย่านธุรกิจสำคัญๆ ในเมืองกรุง เช่น ย่านสีลม อันเป็นย่านธุรกิจและท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่นายอารีเพ็ญฯ เสมา 2 ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานใช่วงเวลาที่ค่อนข้างจำกัดมาก และตั้งใจจะแก้ไขปัญหาเรื้อรังเรื่องหนึ่งที่มุสลิมในประเทศไทยเรียกร้องรอคอยมานับสิบปี คือ การแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามของนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามในโรงเรียนของรัฐบาล ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ประท้วงขึ้นที่วิทยาลัยครูยะลาของนักศึกษามุสลิมและประชาชนนับหมื่นคนที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลาเมื่อ พ.ศ. 2531 แต่จนแล้วจนรอด กระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของมวลชนที่ชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด

โดยไม่รอช้า นายอารีเพ็ญฯ เสมา 2 ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดที่ ศธ. 0100(2)/1503 ลงวันที่ 8 กันยายน 2540 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2527 โดยมี นายจิรายุส เนวเกตุ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย นายไพศาล ยิ่งสมาน อดีต ส.ส. จังหวัดยะลา (กลับไปสู่ความเมตตาของอัลอฮ.แล้ว) นายบูราฮานูดิน อุเซ็ง อดีต ส.ส. ยะลา (กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ.แล้ว) ผู้แทนกรมต่างๆ ที่มีสถานศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวง นายอนุมัติ ศาสนูปถัมภ์ โดยกำหนดเงื่อนเวลาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กันยายน 2540 

ในขณะเดียวกัน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เสมา 2 ได้เชิญปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ มอบหมายให้ประสานงานกับบุคคลากรในหน่วยงานที่ตั้งเป็นกรรมการร่วมกันพิจารณาให้แล้วเสร็จตามที่มอบหมายด้วย ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการทันที แต่หลังจากนั้น 1 วัน นายสุรัฐฯ ปลัดกระทรวงฯได้ขอเข้าพบเสมา 2 และเรียนให้ทราบว่า จะขอความเห็นทางสภาความมั่นคงก่อนว่าจะเห็นประการใด เสมา 2 ตอบว่า “เรื่องระเบียบการแต่งกายของนักเรียนเป็นเรื่องระเบียบภายในของกระทรวงศึกษาธิการ ท่านปลัดทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ ผมจะให้คนอื่นทำ…)” ปลัดกระทรวงฯจึงตอบว่า “ครับ ครับ ผมทำได้ “ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 นายชิงชัย มงคลธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามประกาศระเบียบกระทรวงศึกษษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 เป็นอันว่าล่าช้ากว่าที่ได้สั่งการเพียง 3 วัน เท่านั้น

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา

(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2540

(อ่านต่อตอนหน้า)