อธิบดีคนใหม่กรมการพัฒนาชุมชน “นิสิต จันทร์สมวงศ์” : ขับเคลื่อนนโยบาย ต้องเน้นความสุขประชาชนเป็นสำคัญ 

"ทั้งหมดในเรื่องของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะวัดผลจากความสุขมวลรวมของประชาชนผ่านสิ่งที่เรียกว่า GVH หรือ Gross Village Happiness นี่คือเรื่องแรกที่จะเป็นแนวทางการดำเนินการของกรมฯ ซึ่งสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติ"

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

เป็นอีกหนึ่งในกลจักรสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในหลากหลายด้าน สำหรับ “กรมการพัฒนาชุมชน” ทั้งเรื่องของ การพัฒนาชุมชน ที่เป็นภารกิจหลัก และขยายต่อไปยังเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยเน้นถึง “ความสุขของประชาชน” เป็นที่ตั้ง 

รวมถึงการพัฒนาขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นอีกบทบาทที่กำลังทวีความสำคัญในยุคปัจจุบันเกี่ยวกับนโยบายแผนงานและการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชนในวาระครบรอบ 56 ปีกรมการพัฒนาชุมชน 

 “นายนิสิต จันทร์สมวงศ์” อธิบดีคนใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานและนโยบายขับเคลื่อนหลักของ กรมการพัฒนาชุมชน ผ่าน “เดอะพับลิกโพสต์” ว่า

“กรมการพัฒนาชุมชน เป็นกรมที่ทำงานกับประชาชน ฉะนั้นยุทธศาสตร์หลักก็จะต้องเน้นไปที่ เรื่องความสุขของประชาชน โดยเน้นแนวทางการขับเคลื่อนในเรื่องหลักๆ จะมีอยู่ 3 เรื่อง หรือเรียกว่า “3 ก้าวเดิน”

“เรื่องแรกคือเรื่องของ การทำให้ชุมชนเกิด “ความเข้มแข็ง” ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานไว้มาดำเนินการในหมู่บ้านในชุมชน ให้ชุมชนเหล่านี้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

“ในเรื่องของความมั่นคงก็อยากจะได้เห็นชุมชนมีแผนชุมชน ซึ่งจะสามารถสะท้อนออกความต้องการและปัญหาของประชาชนจริงๆ ซึ่งหน่วยราชการทุกหน่วยจะได้สามารถรับทราบและนำเอาไปปฏิบัติได้ตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”

“ในด้านความมั่งคั่ง ก็จะเน้นเรื่องของการสร้างอาชีพสร้างรายได้และในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน และเรื่องที่สำคัญคือต้องมีหนี้สินครัวเรือนลดลง ในส่วนนี้ทางกรมฯ มีโครงการไทยนิยมยั่งยืน โอท็อปนวัตวิถี ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,273 แห่ง”

“และในส่วนความยั่งยืน ก็ยังคงจะยึดแนวทางหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปลอดยาเสพติด ปลอดอาญากรรม รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนโดยผ่านกองทุนชุมชนเพื่อมาจัดสวัสดิการให้กับชุมชนต่างๆ รวมถึงการวางแนวทางเรื่องของการออมในภาคประชาชน ซึ่งทั้งหมดในเรื่องของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะวัดผลจากความสุขมวลรวมของประชาชนผ่านสิ่งที่เรียกว่า GVH หรือ Gross Village Happiness นี่คือเรื่องแรกที่จะเป็นแนวทางการดำเนินการของกรมฯ ซึ่งสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว 

จากแนวทางการดำเนินการของกรมการพัฒนาชุมชนซึ่งเน้นในเรื่องของ “ความสุขของประชาชน” เป็นเรื่องสำคัญเป็นการสานต่อแนวนโยบายที่ขับเคลื่อนกันมาอย่างเป็นระเบียบแบบแผนและดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่องจากเรื่องของ “การทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง” สู่ก้าวเดินที่ 2 คือเรื่องของ “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก”

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ก้าวที่สองคือเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากซึ่งไม่ใช่เพียงการเดินหน้าพัฒนาแต่เพียงอย่างเดียวแต่จะต้องมีความสมดุลด้วย ซึ่งกลไกสำคัญในส่วนนี้ทางกรมฯ ก็จะรับผิดชอบงานในส่วนของสินค้าโอท็อป โดยต่อไปจะเน้นการพัฒนาเพื่อตอบสนองดีมานด์ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการกลับไปบริหารจัดการต้นน้ำโดยให้มีการสร้างแผนธุรกิจที่เน้นไปที่เรื่องของการรวมกลุ่มของประชาชนในชุมชน และมีองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการจัดตั้งโรงเรียนโอท็อปที่จะช่วยเหลือและให้ความรู้กับประชาชนในการพัฒนาสินค้า”

ส่วนกลางน้ำจะเป็นเรื่องของการพัฒนาแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ประชาชนผลิตมากและมีความผันผวนเรื่องของราคา ซึ่งหากชุมชนสามารถคิดและสร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตรเหล่านี้ได้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เป็นรายได้ และเป็นสินค้าจากชุมชนแล้ว ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้อีกด้วย รวมถึงปลายน้ำที่จะเน้นการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์โอท็อปยกระดับสู่ระดับสากลผ่านกลไกประชารัฐ 

“สำหรับก้าวเดินที่ 3 คือการพัฒนาเสริมสร้างบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนให้มีชีวิตที่ดีและสามารถขับเคลื่อนภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12” นายนิสิตกล่าว 

นอกเหนือจาก 3 ก้าวเดินยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ในเรื่องของการสร้างรากฐานและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง อธิบดีกรมพัฒนาชุมชนยังเปิดเผยเกี่ยวกับการเตรียมใช้เม็ดเงินกองทุนสำคัญสองกองทุนฯ คือ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  และ กองทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเข้ามาสนับสนุน และแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน ทั้งในรูปแบบของการพัฒนา การจัดสวัสดิการชุมชน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูก เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชาชน 

และสุดท้ายกับนโยบายแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเปิดเผยว่า “ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สิ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนทำและอยากจะเห็นให้เกิดขึ้นคือ โครงการสัมมาชีพที่จะสร้างอาชีพให้กับประชาชนในชุมชน และเรื่องของการส่งเสริมสินค้าโอท็อปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นสินค้าฮาลาล”

“รวมถึงเรื่องการสร้างบทบาทให้กับสตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะสร้างงานสร้างอาชีพ เนื่องจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สตรีมีจำนวนมากและมีบทบาทสำคัญ ซึ่งหากเกิดการรวมกลุ่มกันและมีความเข้มแข็งก็จะช่วยให้การทำงานในครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น และช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี”

“ซึ่งสำหรับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วถ้ามีอาชีพมีรายได้ มีงานทำ เศรษฐกิจดี คนก็จะมีความสุข เมื่อคนมีความสุขก็จะเป็นคนที่มีโลกทัศน์ดี และคนในชุมชนก็จะมีความสามัคคี กรมฯอยากเห็นการรวมกลุ่มที่มีความมัครสมานสามัคคีเกิดขึ้น” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว 

และทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนโดยกรมการพัฒนาชุมชน ที่จะเดินควบคู่ไปกับยุค 4.0 และกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และมีความใกล้ชิดกับชุมชน ซึ่งนอกจากบทบาทสำคัญในการพัฒนาแล้ว จะยังเน้นถึงบทบาทในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของประชาชน ตามที่ “อธิบดี” ได้เน้นย้ำถึงภาพรวมทั้งหมด ที่จะต้องยึดเอา “ความสุขของประชาชน” ที่เป็นหลักสำคัญ