ได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556 ในหัวข้อวิกฤต “เรือจ้าง”ไทย กล่าวว่า อีก 5 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษาจากข้อมูลพบว่า ระหว่างปี 2556-2560 จะมีครูเกษียณ ข้าราชการมากถึง 104,108 คน ซึ่งหากรวมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2555 พบว่าขาดแคลนครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิ ภาษาต่างประเทศ 7,444 คน คณิตศาสตร์ 7,248คน ภาษาไทย 6,324 คน
“ในตอนนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนครู มากกว่า 51,462 อัตรา” !!!
ทราบข่าวอย่างนี้แล้ว นับว่าเด็กไทยอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะอนาคตของเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดมากกว่าทรัพยากรอื่นๆในการจะ สร้างบ้านสร้างเมืองในอนาคต
และวันนี้จากการประชุม World Economic Forum 2012-2013 พบว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนตามหลังเวียดนาม : ระดับมัธยมและอุดมศึกษาตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ และยิ่งนานวันจะยิ่งทิ้งห่างไปจากประเทศไทยหากไทยยังขืนอยู่ในลักษณะ ปัจจุบัน
นั่นคือปัญหาภาพรวมทั้งหมดของประเทศไทย ที่ว่าการศึกษาด้อยกว่าประเทศอื่น แม้กับประเทศที่เราดูถูกดูแคลนเขาตลอดมาอย่างเช่น ประเทศกัมพูชา
เราเด็กไทยน่าสงสารเรื่องการศึกษา แต่ยิ่งเด็กใน 3-4 จังหวัดชายแดนใต้จะยิ่งน่าสงสารกว่านั้นอีกมาก เพราะไม่เพียงแต่ขาดแคลนครูที่จะสอนอย่างเดียว ยังมีปัญหาอื่นที่เขาไม่มี อย่างเช่นทุกครั้งที่เหตุการณ์วิกฤติครูถูกยิงโรงเรียนทั้งหลายในจังหวัด เหล่านั้นก็จะปิดสอนเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน และปิดเป็นระยะๆเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาแก้ปัญหาความปลอดภัยของครูใน จังหวัดเหล่านี้
ซ้ำร้ายเหมือนเวรซ้ำกรรมซัดบางโรงเรียนบางพื้นที่ ครูจะไปโรงเรียนช้า ตอนเช้า และกลับจากโรงเรียนก่อนเวลา นัยว่าเพื่อความปลอดภัยในชีวิตซึ่งก็น่าเห็นใจ
แต่เด็กจะกลายเป็นผู้รับกรรม เรียนได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงไม่แปลกที่มีคนพูดว่า เด็กที่นี่ จบ ป.4 หรือ ป.6 ก็ยังอ่านหนังสือไทยไม่ได้ ฉะนั้นภาษาอังกฤษนั้นเลิกคิด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในจังหวัดอื่นๆที่มิใช่เด็กใน สามจังหวัดภาคใต้ ระดับการศึกษาจะตกอยู่ท้ายสุด
ถึงวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นอนาคตของเด็กเหล่านี้มองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่างที่ปลาย อุโมงค์ เพราะมองไม่เห็นใครที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แม้กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าของสำนักผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ความจริงปัญหามีไว้ให้แก้ และแก้ได้ด้วยถ้าคิด และตั้งใจจะแก้ อย่างเช่นเคยมีผู้เสนอการแก้ปัญหาของคุณครูไปช้ากลับเร็ว น่าจะแก้โดยการเปลี่ยนเวลาทำการสอนให้เร็วขึ้นไปจากเดิมอีกสัก 1-2 ชั่วโมง คือแทนที่จะเริ่มสอนเวลา 08.30น.ให้เปลี่ยนเวลาสอนเป็น ตั้งแต่ 07.00 น.เลิกสอนเวลา 13.00น.ซึ่งจะทำให้คุณครูผู้สอนและเด็กนักเรียนสามารถไปก่อนแต่เช้าและกลับ ได้เร็วที่น่าจะป้องกันคุณครูในความปลอดภัยในขณะเดียวกันเด็กสามารถเรียนได้ เต็มเวลาและครบวิชาที่สอน เป็นต้น
และการที่เด็กกลับบ้านเร็ว มีเวลาว่างอีกครึ่งวัน เป็นโอกาสที่จะไปทำอย่างอื่น อาจไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน อาจไปเรียนเสริม ไปเรียนวิชาศาสนา หรือเล่นกีฬาได้ตามถนัด
นี่คือทางออกทางหนึ่งในอีกหลายๆวิธีการ ที่แก้ปัญหาการศึกษาของเด็กในเขตที่เป็นปัญหา ที่นอกเหนือวิชาการอื่นๆ ที่อยู่ในหลายๆ แนวทางที่จะทำ สำคัญอยู่ที่คน หรือผู้มีหน้าที่คิดจะทำหรือเปล่า
ณ วันนี้ก็ยังไม่คิดคาดหวังว่าผู้มีอำนาจหน้าที่คิดจะแก้ไข ปัญหาการศึกษาของเด็กในจังหวัดที่มีปัญหา เพราะเป็นเขตจังหวัดไกลปืนเที่ยงทั้งนี้เนื่องจากเด็กนักเรียนที่อยู่ในส่วน อื่นๆแม้แต่ในกรุงเทพฯเมืองหลวงของประเทศไทยก็ยังมีปัญหาการศึกษาที่ตกต่ำ ที่ยังไม่มีใครคิดแก้ไข ถึงจะแก้ไขก็เดินวิธีการที่ผิดๆถูกๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆที่ในกระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง มีผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับปริญญาเอกมากมายก่ายกอง
ความหวังก็คือเมื่อไหร่ผู้มีส่วนรับผิดชอบ จะตื่นจากภวังค์ กล้าที่จะผ่าตัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการรู้จริงในทุกปัญหา และข้อบกพร่องของการเรียนการสอน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดกลับหลังหัน 360 องศา
ดร.ฟาริดา สุไลมาน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลายสมัยจังหวัดสุรินทร์ อดีตรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์