มองเห็น…“ความหึงหวงอิสลาม” ใน “สังคมมุสลิม”??

มองดูสังคมมุสลิมเหมือนกำลังตกอยู่ในอาการหึงหวงอิสลาม ที่ไม่อยากให้อิสลามเป็นของคนอื่น มองความแตกต่างที่ไม่เหมือนตนเป็นเรื่องที่ต้องทำลายล้างให้หมดไปจากสังคม ต้องการจะยึดครองอิสลามไว้เป็นของตัวเองแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว แต่อิสลามกลับบอกกับตัวเองว่า ต้องการให้อิสลามเป็นของคนทั้งโลก 

“และเราไม่ได้ส่งเจ้า (มุฮำหมัด) มาเพื่อสิ่งใด ยกเว้นเพื่อเป็นความเมตตาต่อโลก”  (ซูเราะห์อัลอัมบิยาอฺ/๑๐๗) 

นี่เป็นผลของวาทกรรมทางการเมือง หรือผลของแนวคิดอิสลาโมโฟเบียที่แพร่ขยายอยู่ในกระแสโลกปัจจุบัน 

วามหึงหวงนั้นเป็นเรื่องน่ากลัวและอันตราย โดยเฉพาะการหึงหวงทั้งที่ยังไม่เคยรู้จัก หึงหวงทั้งที่ยังไม่เคยเห็น  หึงหวงทั้งที่ยังไม่เข้าใจ  การแสดงออกถึงความเป็นมุสลิมนั้นเป็นเรื่องง่ายแม้จะยังไม่เคยเข้าใจอิสลามเลยก็ตาม   แต่การเข้าใจในอิสลามนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง อิสลามจึงเป็นศาสนาสากลที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่เกิดมาเป็นมุสลิมเท่านั้น อิสลามไม่ได้กำหนดศาสนาด้วยข้อจำกัดทางชาติพันธ์ เชื้อชาติ ภาษา  แต่อิสลามสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืน

ความเป็นชาติพันธ์มลายูที่บ่งบอกถึงความเป็นอิสลามก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย การเข้าใจว่าความเป็นมลายูนั้นคืออิสลาม การเข้าใจว่าคนมลายูเท่านั้นที่จะเป็นอิสลาม โดยมองว่าชาติพันธ์คือข้อกำหนดทางศาสนา ซึ่งได้นำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นมากมายในอดีต 

การนำชาติพันธ์มากำหนดศาสนานั้น ทำให้อิสลามกลายเป็นเครื่องมือของชาตินิยมหรือชาติพันธ์ไปในที่สุด ดังจะเห็นได้จากนโยบายของ “จอมพล ป พิบูลสงคราม” ที่ต้องการกำหนดให้ศาสนา/วัฒนธรรมพุทธมาแบ่งแยกชาติพันธ์ในการสร้างชาติไทย นำมาซึ่งความแตกแยกของคนไทยภายในประเทศ  

ผลที่ได้รับจากแนวคิดดังกล่าวนั้น  แทนที่จะทำให้ชาวโลกเกิดความรู้สึกวิตกจริตต่ออิสลาม แต่กลับทำให้ชาวโลกรู้สึกอยากรู้อยากเข้าใจอิสลามมากยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์แพร่ขยายของอิสลามในโลกอย่างหยุดยั้งไม่ได้ ทำให้โลกได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและเข้าใจอิสลามมากยิ่งขึ้น 

จากแนวคิดดังกล่าว ดูจะมีผลกระทบกับมุสลิมมากกว่า ที่ทำให้สังคมมุสลิมเกิดความรู้สึกห่วงใยจนถึงขั้นหึงหวงอิสลามมากขึ้น ความหึงหวงที่น่ากลัว คือ ความหึงหวงทั้งที่ยังไม่เคยรู้จัก หึงหวงทั้งที่ยังไม่เคยเข้าใจ ยิ่งเมื่อสื่อเทคโนโลยีพัฒนามากในปัจจุบัน ทำให้การแสดงออกถึงความหมายของอิสลามถูกเปิดเผยอย่างมีอิสรเสรีภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการแสดงออกของอิสลามจากผู้รู้อิสลามที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย เพราะสังคมมุสลิมได้ผ่านการสร้างมาตรฐานด้วยหลักแนวคิดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวคิดของมัซฮับทั้งสี่ และกลุ่มแนวคิดอีกมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งด้านศาสนศาตร์ ประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ

แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกวิตกจริตต่ออิสลามภายในกลุ่มของมุสลิมเอง  ปรากฏการณ์ที่เห็นอย่างหนึ่งคือการสร้างประเด็นความขัดแย้งในเรื่องซุนนะห์ในอิสลาม ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีข้อยุติ  ซุนนนะห์คือสิ่งที่ศาสนากำหนดให้ทำด้วยความสมัครใจ กล่าวคือ ปฎิบัติแล้วได้ผลบุญ แต่หากไม่ปฎิบัติก็ไม่เป็นโทษใดๆ ซึ่งต่างจากประเด็นของวาญิบ ฟัรดู ที่มีความชัดเจนในตัวมันเอง แต่แม้จะมีความแตกต่างและขัดแย้งกันอยู่บ้าง ก็เป็นประเด็นที่สามารถหาข้อยุติในการถกเถียงกันได้ตลอดมา  

เพราะการถกเถียงกันในประเด็นซุนนะห์นั้น เป็นการถกเถียงที่ไม่มีข้อยุติ ยังแต่จะสร้างความขัดแย้งและความแตกแยกภายในสังคมมุสลิมเองมากกว่า ความไม่ชัดเจนและหาข้อยุติในประเด็นที่ถกเถียงกันไม่ได้ ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความหึงหวงอิสลามทางสังคมมุสลิมขึ้นมา เป็นความหึงหวงที่ต้องการให้อิสลามเป็นของตัวเองเพียงคนเดียวหรือเพียงกลุ่มเดียว 

เพราะซุนนะห์คือสิ่งที่ท่านศาสดามุฮำหมัดได้เคยทำไว้ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งบางครั้งในหนึ่งซุนนะห์ของท่านศาสดา อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซุนนะห์คือการยอมรับความแตกต่าง จึงจะเห็นว่า หลายครั้งที่ท่านศาสดาตอบปัญหาหรือให้คำตอบกับผู้ที่ถามด้วยคำตอบที่แตกต่างกัน   ตอบปัญหาเดียวกันกับคนที่แตกต่างกัน นั่นคือซุนนะห์ของท่านศาสดาที่ควรพิจารณา ท่านแสดงให้อุมมะห์ของท่านเห็นถึงการยอมรับความแตกต่างที่ออกมาจากตัวท่าน ซึ่งท่านเองคือผู้แสดงออกซึ่งความแตกต่างหลากหลายจากตัวของท่านเอง โดยปัญหาหนึ่งๆที่ท่านตอบนั้น ท่านจึงคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคมในยุคท่าน คำตอบจากคำถามจึงไม่เหมือนกันและมีความแตกต่างกัน  

เพราะคนในสังคมของท่านนั้นมาจากหลายกลุ่มหลายศาสนาหลายชาติพันธ์ หลายแนวคิด ท่านจึงคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นความจริงของคนในสังคมของท่าน หลายเรื่องที่ท่านไม่ตอบ แต่เพียงเงียบเฉย เพื่อต้องการให้ความแตกต่างหลากหลายนั้นคงอยู่ต่อไป เพราะปัญหาบางเรื่องของสังคมไม่สามารถจะตอบให้เป็นความชัดเจนลงไปเพียงว่าถูกหรือผิด โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเรื่องซุนนะห์ซึ่งถกเถียงกันโดยไม่มีข้อยุติ ที่ว่าไม่มีข้อยุตินั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีบัญญัติที่กำหนดว่าถูกต้องหรือผิดพลาด แต่ไม่ควรมองเป็นความผิด เพราะมันเป็นเรื่องซุนนะห์ที่ใครทำจะได้รับผลบุญและหากไม่ทำก็ไม่มีบาปใดๆ 

แต่สังคมมุสลิมกลับมองว่า ซุนนะห์เป็นเรื่องวายิบหรือฟัรดู จึงวางความคิดไว้อย่างตายตัวว่า ต้องปฎิบัติ ไม่ปฎิบัติแล้วจะมีโทษ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดแต่แรกแล้ว การวางกฎของตัวเองในเรื่องซุนนะห์ภายในสังคมมุสลิม นับเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ต้องกลับมาทบทวนถึงคุณภาพในการตีความซุนนะห์และการประยุกค์ใช้ซุนนะห์ให้สวยงามกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง