ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา
(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2540
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย เครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษาใหม่ให้เหมาะสม
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 กระทรวงศึกษาธิการจึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540”
ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3. ให้ยกเลิกความใน 5.8 ของข้อ 5. แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“5.8 สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
5.8.1 เสื้อ ชาย ผ้าสีขาว แบบคอเชิ้ต แขนสั้นหรือแขนยาว หญิง เสื้อกุรงสีพื้นไม่มีลวดลาย แบบคอกลมไม่มีปีก สำหรับนักเรียนชายสถานศึกษาอาจให้ใช้หมวกสีขาว (กะปิเยาะห์) หรือหมวกดำ (ซอเกาะห์) ในเวลาแต่งเครื่องแบบนักเรียนได้ในโอกาสสมควร สำหรับนักเรียนหญิง มีผ้าคลุมศรีษะ ผ้าสีพื้นไม่มีลวดลาย ลักษณะเย็บเป็นถุง หรือตัดเย็บในลักษณะอื่น ซึ่งต้องคลุมศรีษะทั้งหมด เว้นใบหน้า ชายผ้าคลุมศรีษะคลุมถึงไหล่
5.8.2 กางเกง ผ้าสีดำ สีน้ำเงินหรือสีกรมท่า แบบสุภาพขายาว
5.8.3 กระโปรงหรือโสร่ง กระโปรง ผ้าสีพื้นไม่มีลวดลาย แบบทรงปลายบาน ไม่มีจีบหรือเกล็ด ความยาวเมื่อสวมแล้วชายกระโปรง คลุมข้อเท้า
โสร่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับผ้าถุงหรือผ้าโสร่งทั่วไป เป็นผ้าสีพื้นไม่มีลวดลายขนาดกว้างพอเหมาะ ไม่ผ่าข้างหรือรัดรูป ความยาวเมื่อสวมแล้วชายผ้าโสร่งคลุมข้อเท้า
5.8.4 เข็มขัดชาย หนังสีดำ หัวเข็มขัดเป็นโลหะชนิดหัวกลัดหรือหัวเข็มขัดเป็นตราของสถานศึกษา
5.8.5 รองเท้า ถุงเท้า ชาย รองเท้าหนังหรือผ้าใบสีดำแบบหุ้มส้น ถุงเท้า สั้นสีดำ หญิง รองเท้าหนังหรือผ้าสีขาว แบบหุ้มส้น หุ้มปลายเท้า ถุงเท้าสั้นสีขาว”
ข้อ 4. ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น 5.9 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2527
“5.9” สถานศึกษาที่มีนักเรียนและนักศึกษานับถือศาสนาอิสลาม
5.9.1 เครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษาชายมุสลิม ประกอบด้วย เสื้อผ้าสีขาว แบบคอเชิ้ต แขนสั้น โดยปักอักษรย่อ ปักสัญลักษณ์ หรือติดเข็มเครื่องหมายของสถานศึกษาตามที่สถานศึกษากำหนด
กางเกง ใช้ผ้าสีเดียวกันกับสีผ้าของกางเกงนักเรียนและนักศึกษาทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษานั้น ขายาวระดับตาตุ่ม ปลายขาพับเข้าด้านใน
เข็มขัด หนังสีดำ หรือสีน้ำตาล หัวเป็นโลหะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชนิดหัวกลับ สำหรับผู้ที่เป็นลูกเสือจะใช้เข็มขัดลูกเสือแทนก็ได้ หรือหัวเข็มขัดเป็นตราของสถานศึกษา
รองเท้า ถุงเท้า รองเท้าหนังหรือผ้าใบสีดำหรือสีน้ำตาลแบบหุ้มส้นชนิดผูก ถุงเท้าสั้นสีขาว สีน้ำตาล หรือสีดำ
5.9.2 เครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษาหญิงมุสลิม ประกอบด้วย เสื้อผ้าสีขาว คอปกบัว ผ่าด้านหน้าตลอด แขนยาว ปลายแขนจีบรูดมีมาบกว้างไม่เกิน 5 เซ็นติเมตร ตัวเสื้อยาวคลุมสะโพกไม่รัดรูป
ผ้าคลุมผม ใช้ผ้าสีขาวเกลี้ยงไม่มีลวดลาย หรือสีเดียวกันกับสีผ้าของกระโปรง สี่เหลี่ยมจตุรัส ความยาวด้านละ 109-120 เซ็นติเมตร ขณะสวมใส่เย็บติดตลอดตั้งแต่ใต้คางจนถึงปลายมุมผ้า ปักอักษรย่อ ปักสัญญลักษณ์หรือติดเข็มเครื่องหมายของสถานศึกษาตามที่สถานศึกษากำหนด
กระโปรง ใช้ผ้าสีเดียวกันกับสีผ้าของกระโปรงนักเรียนและนักศึกษาทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษานั้น แบบสุภาพ พับเป็นจีบข้างละ 3 จีบ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีความยาวคลุมข้อเท้า
รองเท้า ถุงเท้า ใช้รองเท้าหุ้มส้น สีดำ มีสายรัดหลังเท้าหรือแบบหุ้มส้น หุ้มปลายเท้า มีส้นสูงไม่เกิน 2 นิ้ว ไม่มีลวดลาย ถุงเท้าสีขาว ไม่มีลวดลาย ปลายถุงเท้าไม่พับ
การแต่งกายเครื่องแบบของนักเรียนและนักศึกษานับถือศาสนาอิสลามตาม 5.9 ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ”
ข้อ 5. ให้ยกเลิกความใน 8.6 ของข้อ 8 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“8.6 สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ใช้เครื่องหมายชื่ออักษรย่อของสถานศึกษาปักที่อกเสื้อเบื้องขวา บนเนื้อผ้าด้วยด้ายหรือไหมสีแดง”
ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน 2540
( นายชิงชัย มงคลธรรม )
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ภายหลังจากประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาใหม่นี้แล้ว สร้างความยินดีปรีดาแก่บรรดาผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ ไม่เสียแรงที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยเป็นเวลาหลายสิบปี ที่จะดูลูกหลานของตนไปเรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐบาลด้วยเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาที่เป็นไปตามศาสนาอิสลามบัญญัติ ในที่สุดความฝันจึงกลายมาเป็นความจริง ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากจากผลงานชิ้นโบว์แดงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษามุสลิมแล้ว นายอารีเพ็ญฯเสมา 2 จัดให้มีสถานที่ละหมาดในกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ปลัดกระทรวงจัดหาห้องหนึ่งห้องและหาอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จะอำนวยความสะดวกสำหรับเจ้าหน้าที่ข้าราชการมุสลิมที่ทำงานในกระทรวง จะได้ไม่ต้องออกไปละหมาดนอกกระทรวง ทำให้เสียเวลาและกลับมาทำงานสายเนื่องจากการจราจรติดขัด ซึ่งห้องละหมาดแห่งนี้ในปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ข้าราชการมุสลิมในกระทรวงศึกษาธิการและจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาละหมาดวันหนึ่งๆ ประมาณ 80 คน
นอกจากนั้นประมาณกลางเดือนกันยายน 2540 มีนายการีม อับดุลเลาะ ได้มีหนังสือร้องเรียนเรื่องมัสยิดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทายาทของเจ้าของที่ดินที่บิดายกที่ดินให้มัสยิดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังไม่ทันทำนิติกรรมจดทะเบียนยกให้ที่ดินให้เรียบร้อย จะไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนที่ดินให้กับมัสยิด แต่ปรากฎว่า จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามระเบียบของกรมที่ดินคิดเป็นเงินหลายแสนบาท ไม่มีปัญญาที่จะจดทะเบียนแก่มัสยิดได้ นายอารีเพ็ญฯเสมา 2 จึงหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้นำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี จนกรมที่ดินได้เสนอแก้ไขค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินให้วัดและมัสยิดจากร้อยละ 2.50 บาท เป็นร้อยละ 0.001 บาท
ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2540 นาย อารีเพ็ญฯเสมา 2 ได้ไปตรวจเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดตรัง ในคณะประกอบด้วยนายมุข สุไลมาน ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจิรายุส เนาวเกตุ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์) และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมที่กำกับดูแล เมื่อคณะของเสมา 2 ถึงสนามบินจังหวัดตรัง ก็มุ่งหน้าไปยังบ้านบ้านของนางถ้วน หลีกภัย มารดาของนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีและ ส.ส. จังหวัดตรังหลายสมัย เพื่อเป็นการเคราพนับถือให้เกียรติในฐานะผู้อาวุโสมารดาของนักการเมืองที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของชาวใต้ เมื่อเสร็จการเยี่ยมเยียนแล้ว ได้ไปที่ศาลากลางจังหวัดตรังเพื่อฟังรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดตรังคือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หลังจากฟังการบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดจบแล้ว ได้ออกเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยได้ลงเรือติดเครื่องหางยาว ไปแจกเครื่องยังชีพประมาณ 3 หมู่บ้าน จนถึงเวลากลางคืน รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ได้อาบน้ำละหมาดในห้องนอนในโรงแรมเสร็จแล้ว ได้ออกไปพบผู้นำมุสลิมในจังหวัดตรังประมาณ 20 คน ที่รออยู่ในห้องรับรองของโรงแรม ได้พูดคุยถามทุกข์สุขและจุดประสงค์ในการมาพบเสมา 2 ในเวลาค่ำคืน ซึ่งคณะที่มาผู้หนึ่งได้ยื่นหนังสือขอเปิดโรงเรียนเอกชานสอนศาสนาอิสลาม และได้พูดด้วยวาจาว่า ในจังหวัดตรังยังไม่มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแม้แต่หลังเดียว จึงขอความกรุณาจากเสมา 2 เพื่อขอเปิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตามความต้องการของชาวมุสลิมในจังหวัดตรังที่มีจำนวน 30 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดในจังหวัดตรัง
นายอารีเพ็ญฯเสมา 2 ได้ฟังแล้ว จึงถามด้วยความสงสัยว่า จังหวัดตรังเคยมี ส.ส. ที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว ทำไมไม่เคยขอหรือ ? ผู้ที่ยื่นหนังสือคำร้องขอตอบว่า “ เคยขอมาแล้ว แต่ท่านรัฐมนตรีตอบว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายให้เปิด ครับ “
นายอารีเพ็ญฯเสมา 2 จึงสั่งการให้ นายนภดล ชูพูล ศึกษาธิการจังหวัดตรังขณะนั้น ให้ดำเนินการอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นมาหนึ่งแห่งตามที่คณะผู้นำศาสนาอิสลามได้ร้องขอ
ในที่สุดแล้ว จังหวัดตรังจึงได้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกของจังหวัด คือ โรงเรียนแสงธรรมวิทยา ตั้งอยู่ตำบลปริก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าภายใต้การบริหารของบุตรีโต๊ะครูผู้บุกเบิกที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งบุตรีของโต๊ะครูผู้นี้มีความรู้ทางการศึกษาระดับปริญญาเอกเชียวครับ !
(อ่านต่อฉบับหน้า
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช