บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ “ไอแอม” เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 5 โซน Outlet In Town หลังจากที่ซุ่มทำงานมาเกือบ 3 ปีตามนโยบายปลดหนี้ของรัฐบาล ภารกิจหลักคือ การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือ ไอแบงก์
“พรรณขนิตตา บุญครอง” ประธานกรรมการ บริษัท บริหารทรัพย์สิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวในพิธีเปิดว่า บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ “ไอแอม” จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน พุทธศักราช 2559 และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยมีสถานะเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งเดียวที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมาบริหารจัดการ
ด้าน “ธงรบ ด่านอำไพ” ผู้จัดการบริษัท บริหารทรัพย์สิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (ไอแอม) เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง โดยมีภารกิจหลักคือ การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาบริหารจัดการภายใต้หลักชะรีอะฮ์ ตามสัญญาสินเชื่อที่ได้รับโอนมามีมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้กว่า 27,000 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกินกว่า 20 ล้านบาท มีจำนวน 174 ราย มีมูลค่ามากกว่า 42,000 ล้านบาท และลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 20 ล้านบาท มีจำนวนรายมากกว่า 27,000 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การเรียกเก็บหนี้ตั้งแต่ได้รับโอนมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2560 ไอแอม สามารถเรียกเก็บหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 500 ล้านบาท และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2561 จะสามารถเรียกเก็บหนี้ได้กว่า 2,000 ล้านบาท
“บริษัท บริหารสินทรัพย์ฯ เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เฉพาะกิจ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายหลายฉบับ ทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การบริการสินทรัพย์ หรือแม้แต่กฎหมายรัฐวิสาหกิจ และปฏิบัติการตามหลักของสถาบัญการเงินซึ่งต้องมีความแม่นยำในกฎระเบียบที่รัดกุม ซึ่งแม้ว่าช่วงนี้จะเป็นการวางระบบงาน แต่ผลงานก็ต้องมีออกมาให้เห็น ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าประจักษ์กับสายตาแล้วจากยอดเงินที่บริษัทเรียกคืนมาได้ร่วม 500 ล้านบาท เชื่อว่าปีนี้น่าจะเรียกเก็บหนี้ได้ถึง 2,000 ล้านบาททั้งรายใหญ่และรายย่อย และเชื่อว่าจะสามารถเคลียร์หนี้ทั้งหมดให้กับธนาคารอิสลามได้ทั้งหมดภายในปี 2567″ ผู้จัดการบริษัท บริหารสินทรัพย์ฯ กล่าวกับพับลิกโพสต์
นอกจากนี้นายธงรบยังกล่าวด้วยว่า ถึงแม้หนี้ที่ได้รับโอนมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จะไม่ใช่หนี้เสียที่เป็นของชาวมุสลิม แต่บริษัท บริหารทรัพย์สินก็ต้องบริหารงานตามหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งรับรองได้ว่าจะไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับธนาคารอิสลามอย่างแน่นอนในรูปแบบของการตามหนี้ เพราะเราจะดำเนินการเองทุกอย่างโดยไม่มีการขายหนี้ ซึ่งจะเสี่ยงกับการไปคิดดอกเบี้ยซึ่งขัดกับหลักการ แต่เรื่องค่าธรรมเนียมก็ยังคงเป็นไปตามปกติ