นักกิจกรรมชี้ “มาเลเซียใหม่” แต่ “ความคิดเก่าเดียวกัน” ในการต่อต้าน “ชีอะห์” และมุสลิมอื่นๆ

ดร.อะหมัด ฟารุก มูซา / ภาพ freemalaysiatoday

นักกิจกรรมมุสลิมแถวหน้าของมาเลเซีย “ดร.อะหมัด ฟารุก มูซา” กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มุสลิมในพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ซึ่งเป็นแนวร่วมทางการเมืองในมาเลเซีย ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการของพวกเขา ที่ยังคงแบ่งแยกและกดทับชนกลุ่มน้อยทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสำนักคิด “ชีอะห์” ซึ่งถูกติดป้ายว่าเป็นกลุ่ม “เบี่ยงเบน” จากเจ้าหน้าที่อิสลามในท้องถิ่น

“ดร.อะหมัด ฟารุก มูซา” (Dr Ahmad Farouk Musa) นักกิจกรรมจากองค์กรอิสลามิก เรอเนสซองส์ ฟร้อนท์ (Islamic Renaissance Front – IRF) ผู้ซึ่งได้ออกมาพูดต่อต้านหน่วยงานบังคับใช้ศาสนาอิสลามในมาเลเซียอย่างสม่ำเสมอ กล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) ทำได้ดีในแง่ของการกำจัดการทุจริตและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ฝ่ายบริหารกิจการศาสนาอิสลามก็ยังคงต้องรับมือกับจุดอ่อนเดียวกัน

เขากล่าวว่า ตัวอย่างเช่น ชาวมุสลิมชีอะห์ ยังคงถูกแบ่งแยกผ่านพิธีละหมาดวันศุกร์ประจำสัปดาห์ รวมทั้งการบุกตรวจค้นในการชุมนุมของพวกเขา

เขาบอกว่า มันได้มาถึงขั้นที่ชาวมุสลิมเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้ถูกนับเป็นสมาชิกมุสลิมในการตีความอย่างเป็นทางการ มีสถานะที่เลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมในมาเลเซีย

“ถ้าคุณบอกว่า ชาวคริสเตียนถูกจำกัดไม่ให้สร้างไม้กางเขนบนอาคารของพวกเขา หรือว่าสิทธิของพวกเขาที่จะแสดงความศรัทธาในพื้นที่สาธารณะจะถูกจำกัด เช่นนั้นชาวมุสลิมชีอะห์และอะห์มาดียะห์ (Ahmadi) ก็เผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายกว่ามากนัก” เขากล่าวกับ สื่อ ฟรีมาเลเซียทูเดย์ ในระหว่างการประชุมเกี่ยวกับความคลั่งไคล้ศาสนาและชนกลุ่มน้อยเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.61)

ฟารุกกล่าวว่า รัฐบาลยังไม่เด็ดเดี่ยวในการจัดการกับการบิดเบือนภาพลักษณ์ (demonization) ต่อชาวมุสลิมชีอะห์ พร้อมเสริมว่า พวกเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติตามความเชื่อของพวกเขา

“ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกคนมีสิทธิที่จะยอมรับและปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องผิดและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่จะจำกัดชาวมุสลิมชีอะห์จากการปฏิบัติตามความศรัทธาของพวกเขา” เขากล่าว

“เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 ถ้าเราคิดว่าศรัทธาของเราเป็นความเชื่อที่ถูกต้องที่สุด ทำไมเราจึงกลัวที่จะปล่อยให้คนอื่นปฏิบัติตามความเชื่อของพวกเขา? “เขาตั้งคำถาม

เขาเรียกร้องให้รัฐบาลจากพรรคแนวร่วมแห่งความหวังว่า อย่าเดินในเส้นทางของรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ “พูดอย่างหนึ่งแต่ความหมายอีกอย่าง” (double-speak) ในประเด็นศาสนา

เขากล่าวว่า เช่น กรณีฝ่ายบริหารของนาจิบ ราซัค ที่โปรโมททางสายกลาง (moderation) ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการยับยั้งกลุ่มศาสนาปีกขวา

“รัฐบาลนี้จะต้องไม่ตกอยู่ในนิสัยแบบเดียวกันนั้น” ฟารุกกล่าว

ฟารุก กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลมาจากการบิดเบือนรัฐธรรมนูญอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะมี “รัฐโลกวิสัย พหุสังคม และความเป็นประชาธิปไตย” เป็นฐานรากก็ตาม

เขากล่าวว่า “มาเลเซียใหม่” ควรจะหลีกออกไปจากแนวคิด “ฝ่ายขวาและแนวคิดเป็นเลิศเหนือกว่าผู้อื่น” (right-wing and supremacis) โดยต้องให้เป็นเรื่องที่วางอยู่บนสิทธิมนุษยชนสากล

อย่างไรก็ตาม ฟารุกกล่าวว่า เขายังไม่คิดว่าการเล่าเรื่องใหม่ๆ นี้จะมาจากนักการเมือง

“เป็นเรา ประชาชนที่ต้องต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ เราไม่สามารถพึ่งพานักการเมืองผู้ที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง” ดร.ฟารุก กล่าว