สัมพันธ์ไทย-OIC
เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และความสนใจจาก OIC มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณีมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และการสลายม็อบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 เม.ย. และ 25 ต.ค. 2004 ตามลำดับ ตลอดระยะเวลา 6 ปีของความรุนแรงที่ยังไม่มีทีท่าจะสงบลง OIC ก็ยังคงให้ความสนใจกับปัญหา นี้อยู่ และคาดว่าจะเป็นหัวข้อที่จะถูกนำไปพูดคุยในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีของ OIC ต่อไป
ความจริงรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลตั้งแต่อดีต ก็ได้ให้ความสำคัญกับ OIC เพราะมีทัศนะว่าอิทธิพลขององค์กรนี้จะสามารถเข้าไปช่วยเพิ่มปัญหา หรือลดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ที่สำคัญหากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ให้เกิดความเสียหายได้โดยง่ายในสายตาประชาคมมุสลิมโลก
หากลำดับเหตุการณ์จะพบว่า ปี 2004 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้จะได้ตอบโต้เลขาธิการ OIC อย่างรุนแรง หลังจากที่ OIC ได้วิพากษ์แนวทางการจัดการปัญหามุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้1 แต่ก็ได้ส่งตัวแทนพิเศษ (Special Envoy) ประกอบด้วย นายนิสสัย เวชชาชีวะ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นายมหดี วิมานะ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน และ ดร.จรัญ มะลูลีม ไปพบ ศาสตราจารย์เอ็กมิลิดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการ OIC ชาวตุรกี เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่กรุงญิดดะฮ์ (Jedda) ประเทศซาอุดีอาระเบีย พร้อมกันนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ OIC ให้เดินทางมาเยือนไทย เพื่อรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงด้วย
2-13 มิถุนายน 2005 OIC ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ของตนมาเยือนไทย โดยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ OIC มีนาย ซัยยิด กอซิม อัลมัสริ (Syed Gasim Almasri) เป็นหัวหน้าคณะ (Head of Delegation) ทั้งนี้ นายซัยยิด เป็นอดีตผู้ช่วยเลขาธิการ OIC และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เป็นเอกอัครราชทูตถาวรของอียิปต์ประจำสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และเป็นเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศต่างๆ หลายประเทศ
หลังจากนั้น ในปี 2007 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ได้เชิญเลขาธิการ OIC พร้อมคณะเดินทางเยือนประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.ถึง 1 พ.ค. 2007) ซึ่งในการเดินทางมาเยือนไทยในครั้งนั้น เลขาธิการ OIC ได้พบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งระดับผู้นำศาสนาและระดับรัฐบาล ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้กับคณะของเลขาธิการ OIC เป็นอย่างมาก ใน ครั้งนั้น เลขาธิการ OIC ได้มีหนังสือถึงชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันคัดค้านการใช้ความรุนแรง และให้อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ พร้อมกับให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยให้ใครนำศาสนาอิสลามไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย และผู้กระทำผิดจะต้องถูกนำตัว มาลงโทษ ให้ทุกคนมีความเสมอภาคทางกฎหมายในการอยู่ร่วมกัน
ศาสตราจารย์เอ็กมิลิดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการ OIC ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางสมานฉันท์ของรัฐบาลไทยที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิก OIC ที่ประเทศปากีสถาน และยืนยันว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ใช่ปัญหาการกีดกันทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2009 นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ครั้งที่ 36 ที่กรุงดามัสกัส ซีเรีย เมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2009 ว่า OIC มีความพยายามที่จะนำเรื่องสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ไปออกข้อมติเฉพาะรายประเทศ นายพนิตกล่าวด้วยว่า OIC ยังต้องการที่จะส่งคณะเข้ามาตรวจสอบการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายพนิตคิดว่าไม่สมควร และหลายประเทศก็เห็นว่า OIC ไม่มีหน้าที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด ไทยจึงยืนยันไม่ให้คณะของ OIC เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไทยจะส่งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาไปให้ OIC และประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศ 2
ข้อเสนอแนะต่อไทย
จากการศึกษาในกรณีตัวอย่างปัญหาชน กลุ่มน้อยมุสลิมที่ OIC เข้าไปมีบทบาทตามประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินเดีย และบัลแกเรีย อาจพอสรุปเป็นแนวทางและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐของไทยได้ว่า ควรดำเนินความสัมพันธ์กับ OIC และโลกมุสลิมอย่างไร ในประเด็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
1. ไทยควรให้ความสำคัญกับ OIC โดยอาจจัดให้มีหน่วยงานเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของ OIC อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะตอนที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้น ไทยควรมีตัวแทนพิเศษที่ประจำการอยู่ในสำนักงานใหญ่ OIC และส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ตามความเหมาะสมของวาระและโอกาส ทั้งนี้การประชุมระดับรัฐมนตรีทุกครั้งของ OIC จะมีการพิจารณาถึงปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม ซึ่งรวมถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากไทยไม่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสถานะของประชากรมุสลิมในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ OIC ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้ภาพพจน์ของไทยในสายตาของประชาคมมุสลิมโลกเสียหาย
2. หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับทัศนคติและพยายามทำความเข้าใจในบทบาทของ OIC ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศมุสลิม ที่มีหน้าที่ทางศาสนาในการดูแลปกป้องประชาคมมุสลิม โดยเฉพาะประชากรมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องประชาชาติ อิสลาม (Islamic Ummah) รัฐต้องมีความไว้วางใจในเบื้องต้นว่า ความพยายามของ OIC ในการที่จะเข้ามามีบทบาทในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูจากกรณีศึกษา) ไม่ได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงอธิปไตยของไทย แต่ OIC คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และความเท่าเทียมเสมอภาคตามหลักการศาสนา
3. จากกรณีศึกษาทั้งหมดเห็นได้ว่า ทุกกรณีที่ OIC เข้ามามีบทบาท จุดเริ่มต้นเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศนั้นๆ ต่อประชากรชนกลุ่มน้อยมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเชิงกายภาพ และการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมความเชื่อหรือศาสนา ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง ต้องระมัดระวังในการจัดการกับปัญหา ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ควรมีการศึกษาทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนอิสลาม เพราะการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมในเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นมุสลิม) ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนอิสลาม ควบคู่ไปกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
4. จากกรณีศึกษาทั้งหมดผู้เขียนพบว่า ปัจจัยหนึ่งซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ OIC ออกข้อมติเฉพาะรายประเทศในเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม เกิดจากการผลักดันอย่างหนักจากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนติดกับพื้นที่ที่เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม และเป็นประเทศสมาชิกที่มีชาติพันธุ์เดียวกันกับประชากรมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นได้ว่า ในกรณีมุสลิมอินเดียและแคชมีร์นั้น ปากีสถานเป็นฝ่ายที่รุกหนักเพื่อผลักดันให้ OIC ออกข้อมติเฉพาะรายประเทศ ส่วนกรณีของมุสลิมบัลแกเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายเติร์กนั้น ปรากฏว่าผู้ที่ผลักดันอย่างกระตือรือร้นคือตุรกี ส่วนกรณีของมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์นั้น มีทั้งลิเบียและมาเลเซียเป็นประเทศกดดันสำคัญ
หากนำกรณีศึกษาเหล่านี้มาเทียบกับไทยในปัญหาภาคใต้ มาเลเซียและอินโดนีเซียน่าจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญที่สุด การอธิบายเช่นนี้มิได้หมายความว่าต้องคอยหวาด ระแวงทั้งสองประเทศ แต่ทางรัฐไทย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ต้องให้ความสำคัญและรับฟังข้อเสนอที่มีเหตุผล ตลอดจนสร้างความร่วมมือและทำความเข้าใจในเรื่องสถานการณ์ นโยบาย และแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบกับเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศอย่างจริงใจ เพราะมาเลเซียนอกจากจะเป็นประเทศสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ของไทย ทั้งในฐานะที่มีเขตแดนติดไทย ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และตอนเหนือของมาเลเซีย มีลักษณะร่วมกันในโลกวัฒนธรรมมลายูแล้ว มาเลเซียยังเป็นมิตรประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวที OIC อีกด้วย
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาร่วมกันในสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ควรให้อยู่บนบรรทัดฐานและความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
5. การร้องขอของ OIC เพื่อเข้ามาตรวจสอบศึกษาข้อเท็จจริงสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย มุสลิมถือเป็นจุดหักเหสำคัญอันอาจก่อให้เกิดความร่วมมือหรือความขัดแย้งก็เป็นได้ ดังนั้น ไทยควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จากกรณีศึกษาจะเห็นได้ว่า การปฏิเสธของอินเดียอย่างดื้อรั้นนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่าง OIC กับอินเดีย ซึ่งตามมาด้วยมาตรการกดดันระดับต่างๆ ของ OIC ต่ออินเดีย การปฏิเสธ OIC ไม่ให้เข้ามาศึกษาข้อเท็จจริง ทำให้ OIC ต้องหันไปพึ่งแหล่งข้อมูลอื่นภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสื่อองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มขบวนการ นักวิชาการ และผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่นอกประเทศ เป็นต้น
ฉะนั้น แนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกของไทย คือการไม่พยายามปิดกั้นในเรื่องของการเข้ามาศึกษาข้อเท็จจริงของ OIC แต่ควรปรึกษาหารือร่วมกันถึงวิธีการศึกษาข้อเท็จจริง อันจะทำให้ฝ่ายไทยมั่นใจได้ว่า ผลสรุปจากการศึกษาจะสะท้อนออกมาอย่างมีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือ
และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง OIC กับไทย ในการช่วยกันแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เชิงอรรถ
(1) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘นายกฯ ทักษิณ พบสื่อมวลชน’ ที่ทำเนียบรัฐบาล แสดงความไม่พอใจกรณีที่เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลยังใช้ความรุนแรงกับชาวไทยมุสลิมในการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยกล่าวว่า การออกแถลงการณ์แบบนี้เป็นการก้าวล่วงอธิปไตยของประเทศอื่น และไม่เข้าใจว่าออกทำไม เพราะก่อนหน้านี้รองเลขาธิการ OIC ก็เคยมาดูพื้นที่ และพบคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กับประชาชน และอธิบายให้เข้าใจแล้วว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย แม้เป็นห่วงพี่น้องมุสลิม แต่อย่าเอาศาสนามาเกี่ยวกับการเมือง และจะพูดถึงแต่ชาวมุสลิมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนไทยพุทธกับพระสงฆ์ก็ถูกฆ่าตายเหมือนกัน ‘อยากให้เลขาธิการ OIC ไปอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะเขียนไว้ชัดว่าชาวมุสลิมจะอยู่ที่ไหนก็ต้องเคารพกติกาและเคารพกฎหมาย ของประเทศนั้น บางครั้งมนุษย์ลืมไปว่าสิ่งที่สอนดีอยู่แล้วแต่ไม่ได้อ่าน’ และว่าไม่มีผู้นำประเทศไหนอยากเห็นการฆ่ากันตาย แต่อยากให้เกิดสันติ และพร้อมจะทำทุกวิธีเพื่อให้เหตุการณ์ยุติพร้อมย้อนว่า ประเทศอิรักก็มีการฆ่ากันเองแต่ไม่เห็น OIC ออกแถลงการณ์อะไร
(2) สยามจดหมายเหตุ. การก่อความไม่สงบในภาคใต้ 4. (20-28 พ.ค. 52).
http://www.siamarchives.com/node/1879
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.33 ต.ค. 53

ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย