โดย : นิวัช ศรีวิไลวัชร์
ชุมชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่งที่จะมองข้ามเลยไปไม่ได้ คือ ชุมชนมุสลิมในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) รวมกัน 10 ประเทศแล้ว มีประชาชนที่เป็นมุสลิมรวมกันแล้วกว่า 260 ล้านคน หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในภูมิภาคแห่งนี้ ชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ที่มีความอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพมาตั้งแต่เริ่มปรากฎประวัติศาสตร์ของชุมชนมุสลิมในภูมิภาคแห่งนี้ในราวศตวรรษที่ 14 มีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว เช่นเดียวกันระบบการศึกษามุสลิมที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งเรียกว่า “ปอเนาะ”(Pondok) ก็ยังคงเป็นกำลังหลักและมีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาของชาวมุสลิมในภูมิคภาคอย่างเข้มแข็งเช่นเดียวกัน
ดังที่มีงานวิจัยของ อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต ได้กล่าวถึง ระบบการศึกษาของประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มีอยู่ 2 ระบบควบคู่กัน แต่ทั้ง 2 ระบบนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่ปรัชญาแตกต่างกัน เป้าหมายการศึกษาทั้ง 2 ระบบจึงแตกต่างกันโดยปริยาย กล่าวคือ ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม (Traditional System) หรือเรียกว่า “ระบบการศึกษาศาสนา” (Religious System) ที่จะเน้นหนักการศึกษาทางด้านศาสนา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความศรัทธาต่ออัลลอฮ และนำศาสนามาเป็นวิถีการดำเนินชีวิต กับระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตกและปรัชญาเซคคิวลา (Secular) ซึ่งแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร ยอมรับความรู้ทางวิทยาศาตร์ต่างๆ มาจากการทดลองทาง วิทยาศาตร์เท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้
“ปัจจุบันการศึกษาทั้งสองระบบมีบทบาทสำคัญในประเทศมุสลิม ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากการศึกษาแบบสมัยใหม่มักจะได้ทำงานกับภาครัฐและได้ดำรงตำแหน่งที่สูง ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากกระบวนการศึกษาแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับการเป็นครูสอนศาสนา บางคนอาจจะได้รับราชการบ้างแต่ก็ได้รับตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำ”
“นักเรียนนักศึกษาที่มีสติปัญญาดี มักจะเลือกเรียนในสถาบันที่ใช้ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ ส่วนบรรดานักเรียนนักศึกษาที่มีสมรรถภาพทางสติปัญญาที่ปานกลางหรือค่อนข้างต่ำส่วนใหญ่จะเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาแบบดั้งเดิม อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ผผลิตทางการศึกษาแบบดั้งเดิมไม่สามารถที่จะเทียบเคียงกับผลผลิตทางการศึกษาแบบสมัยใหม่”
“ในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมและระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ บางสถาบันการศึกษาก็จะมีทั้งสองระบบ แต่ก็จะเป็นอิสระต่อกัน”
ในโลกปัจจุบันซึ่งยิ่งนับวันก็จะมีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น ในขณะที่การปรับตัวของระบบการศึกษาของมุสลิมแบบดั้งเดิม หรือปอเนาะนั้น ยังไม่ได้ตอบสนองต่อการปรับตัวของสังคมแต่อย่างใด ในอดีตเมื่อเกือบ 100 ปีเป็นเช่นไรก็ยังคงเป็นเช่นเดิม แม้ในวิชาการที่มีการเรียนการสอนอยู่นั้นจะมีองค์ประกอบสำคัญๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เปิดกว้างรับเอาความรู้วิทยาการใหม่ๆ เข้าไปบูรณาการกับระบบการศึกษาที่มีอยู่อย่างเท่าที่ควร จึงทำให้ประเทศที่เจริญกว่าในโลก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ฯลฯ ซึ่งมีความได้เปรียบกว่าในหลายๆ ด้าน ทั้งทุน เทคโนโลยีและวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบนั้น และมีมุมมองต่อประเทศกลุ่มชาวมุสลิมว่าเป็น “ผู้บริโภค” มากกว่าจะมองว่าเป็น “ผู้ผลิตที่มีศักยภาพ” และความล้าหลังในการพัฒนาศักยภาพของตนเองก็เลยทำให้กลายเป็นผู้ที่มีเทคโนโลยีการผลิตหรือครอบครองกระบวนการผลิตที่มีศักยภาพที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกนี้
คำกล่าวข้างต้นได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งจากวิทยากรหลายท่านในการช่วงของการประชุมนานาชาติ AMRON (ASEAN Muslim Research Organization Network) จัดประชุม นานาชาติ AMRON ครั้งที่ 1 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้หัวข้อ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา : เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2553 มี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม หน่วยงานและผู้ที่มีบทบาทผลักดันให้ความสำเร็จเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ได้แก่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาเซียน รองศาสตราจารย์ ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ศิริพัธนะ ผู้ประสานงานหลักเครือข่ายวิจัย AMRON Mr. Heru Wicaksono กงสุลประเทศอินโดนีเซีย และผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บรูไน รวมทั้งญี่ปุ่น ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดและเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งแรก
โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาเซียน ได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การศึกษาสร้างพลังชุมชน” โดยสรุปดังนี้ ในภูมิภาคอาเซียนมีประชากรประมาณ 592 ล้านคน เป็นชาวมุสลิมจำนวนนี้ 45-47% และส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรม แต่ในสังคมยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ชาวมุสลิมยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ได้ จนอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง การเผชิญหน้าและความรุนแรงต่างๆ ตามมามากมาย สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้คือการศึกษา เพราะการศึกษาสามารถเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิม มีความรู้ใหม่ๆ มีอาชีพใหม่ ทันต่อเทคโนโลยี ที่สำคัญเป็นพลังให้เข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของสังคมชาวมุสลิม และจะเป็นเวทีให้นักวิจัย/นักวิชาการร่วมกันผลักดันให้ชาวมุสลิมมีการศึกษา ที่ดี เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมโลกให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป
ในวันที่ 3 ตุลาคม 2553 ฯพณฯ จุฬาราชมนตรีอาศิส พิทักษ์คุมพล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เสริมสร้างสันติภาพและความปรองดองโดยการศึกษาอิสลาม (Enhancing Peace and Harmony through Islamic Education)”
ดังนั้น ต่อไปนี้ มุสลิมในภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้จะไม่ใช่ “เหยื่ออันโอชะ”ของประเทศที่เจริญแต่เพียงอย่างเดียว แต่กำลังยกระดับของตัวเองขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเริ่มจากกระบวนการพัฒนาระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบของเครื่องข่าย AMRON นี่เอง
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นมุสลิมคนหนึ่งที่ได้เรียนรู้และเติบโตจากโรงเรียนปอเนาะจนกระทั่งก้าวสู่การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และในปัจจุบันนี้คือ เลขาธิการอาเซียน ตำแหน่งสูงสุดของประเทศกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN จึงได้ร่วมกันกับหน่วยงานทีเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมกันจัดตั้ง AMRON หรือ “ASEAN Muslim Research Organization Network” หรือในภาษาไทย “เครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมแห่งอาเซียน” ขึ้น
เป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรเหมือนร่วมรับเอาผู้วิจัยหรือสถาบันที่มีความเป็นห่วงต่อระบบการศึกษาของมุสลิมในภูมิภาคแห่งนี้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหรือมีแต่ก็ต่างคนต่างทำ ไม่เคยมีการนำเอาองค์ความรู้วิชาการด้านการจัดการระบบการศึกษาหรือความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดระบบการศึกษาของมุสลิมเข้ามารวมกัน เอาจุดแข็งและจุดอ่อนเข้ามาแบ่งปันเพื่อให้เกิดการประสานความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เนื่องจากการแบ่งปันวิชาความรู้นั้นเป็นไปตามหลักการสำคัญอันหนึ่งของอิสลาม
AMRON คืออะไร?
ปี 2540 ได้มีการริเริ่มโดยเจ้าของ ผู้จัดการ ผู้บริหาร และบุคลากรของโรงเรียนปอเนาะ มีการจัดทำโครงการปฏิรูปหลักสูตรสำหรับโรงเรียนปอเนาะในเอเชียตวันออกเฉียงใต้ : ภาคใต้ของประเทสไทย (Curriculum Reform for Pondok in Southern Thailand Section–CPR-Project) โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิซาซากาว่า ประเทศญี่ปุ่น ผ่านความร่วมมือมายังมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนประทีปศาสน์ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) โดยโครงการได้มีข้อตกลงให้เกิดความร่วมมือและให้การช่วยเหลือแก่โรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามภายใต้กรอบความร่วมมือกัน 3 ประการ คือ เปิดวิสัยทัศน์ผู้บริหาร พัฒนาหลักสูตรการเรยนการสอน พัฒนาบุคลากรและผู้เรียน
AMRON ย่อมาจาก “ASEAN Muslim Research Organisation Network” หรือในภาษาไทย “เครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมแห่งอาเซียน” นอกจากนั้นคำว่า AMRON ในภาษาอาหรับหมายถึง “การทุ่มเทเพื่อทำให้เกิด การงานหรือเพื่อที่ให้การงานบางอย่างสำเร็จ”
AMRON เป็นเครือข่ายของความร่วมมือเกี่ยวกับการวิจัยและเป็นชุมชนของนักวิจัย ในการสร้างรูปแบบของความร่วมมือ (Platform) ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยในระดับนานาชาติที่มีความยืดหยุ่น และมีมาตรฐานสูง และยังจะทำหน้าที่ส่งเสริมงานสัมนา การประชุมวิชาการ กิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม และการปฏิสัมพันธ์กับศาสนิกอื่นๆ
เป้าหมายของ ARMON มุ่งเน้นไปสู่นักวิจัยทั้งมุสลิมและที่ไม่ใช่มุสลิม รวมถึงนักพัฒนาชุมชน นักสันติศึกษา นักสังคมวิทยาและผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่สนใจเรื่องการสร้างความปรองดองระหว่างผู้คนที่มีพื้น ฐานทางด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.34 พ.ย. 53