ช่วงปลายปี 2539 ประเทศไทยเกิดวิกฤติสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์รุนแรง ในบ้านเรา โดยมีการตรวจพบที่ชุมชนมุสลิมย่านอ่อนนุช ที่มีโรงฆ่าสัตว์และชำแหละเนื้อวัวส่งขาย เหตุการณ์นี้ทำให้กทม.ต้องเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเร่งด่วน และพบว่ามีการระบาดหนักเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่นั่นก็ได้สร้างความตื่นกลัวให้ กับผู้ที่บริโภคเนื้อวัวเป็นหลัก ถึงขั้นเนื้อวัว ขายไม่ออกไปทั่วประเทศ
ธุรกิจการค้าเนื้อวัวในประเทศจึงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน นั่นทำให้ผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในวังวนธุรกิจนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มเลี้ยงวัวไปจนถึงพนักงานหรือแรงงานทุกระดับล้วนได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น
เจ้าของฟาร์มและผู้ดำเนินธุรกิจค้าเนื้อถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว หลายรายต้องปิดฟาร์ม ล้มละลายกลายเป็นหนี้เป็นสิน บางรายเลือกที่จะหนีปัญหาด้วยการจบชีวิตตัวเอง บางรายยังดีที่ใจสู้พยายามตั้งหลักใหม่
คุณโสภา รัตนภิบาล เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในปีนั้น แต่เธอไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา การยึดมั่นในศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นแรงขับดันให้เธอสู้ต่อด้วยใจที่มุ่งมั่นและเข้มแข็ง จนสามารถฝ่าวิกฤติในครั้งนั้นไปได้ จน ณ วันนี้อาณาจักรธุรกิจในนาม บริษัท สเต็ก สินธร จำกัด เจ้าของภัตตาคารสินธร สเต็กเฮ้าส์ และบริษัท สินธรมีทซัพพลาย จำกัด เจ้าของกิจการผลิตอาหารฮาลาลปรุงสำเร็จ สามารถยืนหยัดในแวดวงธุรกิจอาหารฮาลาลได้อย่างมั่นคงแข็งแกร่ง ขยายขอบข่ายลูกค้าไปในวงกว้าง ไม่เฉพาะแต่มุสลิมเท่านั้น นี่จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของหญิงแกร่งคนนี้
อะไรคือเคล็ดลับสู่หนทางแห่งความสำเร็จนี้ และการหยัดยืนสู้อยู่เบื้องหลังสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มากไปด้วยความมุ่งมั่น จะต้องก้าวผ่านสิ่งใดมาบ้าง…ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของเธอ
พลิกวิกฤติสู่โอกาส…ทุกปัญหาแก้ได้หากสู้ ไม่ถอย !
ในช่วงวิกฤติธุรกิจการค้าเนื้อวัว จากข่าวโรคแอนแทร็กซ์นั้น สองสามีภรรยา ‘กิตติศักดิ์ บินซอและห์-โสภา รัตนภิบาล’ ช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตินั้นมาได้จากการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้ไอเดียและความอดทนในการแก้ปัญหา ด้วยการแตกไลน์ธุรกิจจากที่มีเนื้อวัวสดค้างอยู่ในสต็อกเพราะขายไม่ได้ จากที่เคยขายได้วันละกว่า 10 ตัว ต้องเหลือเพียง 2 วัน ต่อ 1 ตัวกว่าจะขายหมด ทั้งคู่จึงคิดปรุงเนื้อเป็นสเต็กสำเร็จรูปแพ็กส่งขาย เป็นการพลิกวิกฤติอันนำไปสู่ ‘สินธรสเต๊กเฮ้าส์’ ในปัจจุบัน
“สต็อกเนื้อราวหมื่นกิโลกรัมที่อยู่ในห้องเย็น ทำให้ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจ เพื่อให้อยู่รอด จึงมีไอเดียว่าเวลาไปส่งเนื้อที่เขาใหญ่ ก็จะซื้อดอกไม้ ดอกกุหลาบกลับมากรุงเทพฯ เพื่อหารายได้มาพยุงธุรกิจ โดยนำมาตกแต่งหน้าร้าน”
คุณโสภาใช้พรสวรรค์ด้านการตกแต่งที่มีอยู่ในตัว แปลงเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจเสริมควบคู่กับการส่งเนื้อไปด้วย แม้ว่าขณะนั้นปริมาณการส่งเนื้อจะลดลงมาก เพราะคนกลัวโรคแอนแทรกซ์ นอกจากฝ่ายภรรยาจะงัดเอาพรสวรรค์บวกกับไอเดีย มาเป็นตัวเสริมแล้ว ฝ่ายสามีอย่าง คุณกิตติศักดิ์ บินซอและห์ ก็ยังงัดเอาตำราจากประสบการณ์ที่เคยทำงานโรงแรมมาก่อน มาลองผลิตเนื้อสเต็กบรรจุใส่ถุงแช่ตู้เย็นขาย
“เราแข่งกับเวลามากกว่า เรามาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านมันไปให้ได้ ตอนช่วงวิกฤติเรามองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดานะ เพราะเราเตรียมตัวมาตั้งแต่ทีแรกแล้วในการทำธุรกิจ เราไม่ได้คิดว่าจะต้องคาดหวังกับมันแบบปูพรมไปตลอด สักวันมันก็ต้องมีร่วงมีตกบ้าง อย่างช่วงที่เกิดโรค ทุกคนที่ทำตรงนี้ก็เกือบจะจบกันหมด แต่เราผ่านมันมาได้ เราคิกว่าเพราะเรามีพระเจ้านะ… มันเป็นการทดสอบมากกว่า ถ้ามัวไปคิดตีโพยตีพาย มันก็เหมือนบั่นทอนเราลงไปอีก เรามาหยุดตั้งสติดีกว่า ช่วงนั้นทำเนื้อแล้วมันแย่ เราก็มาคิดว่าเราจะทำอะไรมาทดแทนกันไปได้บ้าง ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้เราหันมาจับงานหลายด้าน เมื่อก่อนทำเนื้ออย่างเดียว พอล้มมันก็จะล้มเลย พอจะลุกขึ้นมาใหม่แล้วไม่มีอะไรสำรองมันจะยากมาก แต่เรามีกำลังใจ และหวังในความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าของเรา จะให้ในสิ่งที่ดีๆ แก่เรา และเรายังมีลูกๆ เรา คิดแต่ว่าท้อไม่ได้ อ่อนแอไม่ได้ คิดแต่ว่าฉันจะทำอย่างไร ไปอย่างไร นี่คือบททดสอบของพระเจ้าอีกบทหนึ่ง”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คุณโสภา หันมาจับธุรกิจอีกหลากหลาย ทั้งด้านจัดสวน จัดดอกไม้ ธุรกิจคอสเมติกส์ และ ด้านอาหาร ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเสมือนสิ่งที่พระเจ้าได้ประทานให้ ทั้งที่เธอไม่เคยร่ำเรียนมาทางด้านใดเลยที่กล่าวมา แต่เธอก็พยายามเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเอง ทั้งการใฝ่หาผู้รู้มาสอน และการฟังคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ ที่สำคัญคือ เธอได้ลูกค้าเป็นครู ในการชี้แนะสำหรับการลองผิดลองถูก จนที่สุดจึงลงตัวกับทุกธุรกิจที่ทำ บนปณิธานที่ตั้งมั่นว่า ‘ซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบคนอื่น และจริงใจต่อสิ่งที่ทำ’
ณ วันนี้เธอและสามี จึงสามารถผลักดันธุรกิจทั้งหมด และอาณาจักรธุรกิจในนามสินธร ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างน่าชื่นใจ
กลยุทธ์ธุรกิจบนปณิธานจริงใจต่อลูกค้า
“ถามว่าเหนื่อยมั้ย…เหนื่อย เพราะกว่าจะกลับจากร้านนี้ (สินธร สเต็กเฮ้าส์ ย่านรามคำแหง) ก็ตีหนึ่งได้ นอนตื่นขึ้นมาละหมาด หกโมงเช้าก็ไปที่โรงเนื้อ บ่ายเข้าครัว พอพักเบรกเสร็จก็ต้องเข้าไปดูแลคนงานที่โรงเนื้อต่อ เสร็จตอนเย็นก็จะมาที่สินธรนี่ ก็ทำวนเวียนอย่างนี้ตลอด ซึ่งผิดจากคนทั่วๆ ไป ที่เขาทำอย่างเดียวก็จบแล้ว แต่เราวันๆ หนึ่ง เราต้องดูแลหลายอย่าง”
ขณะเดียวกันธุรกิจจัดสวนก็ยังคงทำอยู่ คุณโสภาเล่าว่า ได้ไปจัดหลายที่ ซึ่งเป็นลักษณะที่ลูกค้าบอกต่อกัน แม้แต่จัดสวนในสนามกอล์ฟ เธอ ก็ทำมาแล้ว ธุรกิจจัดสวนนี้ทำเงินได้ดีและไปได้สวย เธอจึงไม่คิดจะทิ้งมันไป เพราะในช่วงวิกฤติ ธุรกิจนี้ถือว่าได้ช่วยต่อชีวิตให้กับครอบครัวของเธอ และต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นในเครือด้วย หากใครที่ได้มีโอกาสไปทานอาหารที่ภัตตาคารสินธร สเต็กเฮ้าส์ ก็จะได้เห็นฝีมือการจัดตกแต่งสวนภายในร้านที่ดูสวยงาม ร่มรื่น และสดชื่นไปด้วยธารน้ำตกจำลองด้านในร้าน
ในส่วนของธุรกิจเครื่องสำอาง ที่มาจากการบอกต่อของลูกค้า และในช่วงหลายปีก่อนเกิดการบูมของครีมลดน้ำหนัก ประกอบกับเป็นช่วงที่คุณโสภา เพิ่งจะคลอดลูกคนแรกและมีปัญหาน้ำหนักเพิ่มมากถึงร้อยกว่ากิโล โดยหลังคลอดแล้วก็ยัง ไม่ยอมลด เธอจึงเกิดไอเดียว่า น่าจะเอาตัวเองเป็นผู้ทดลองใช้ครีมนี้เสียเอง เพื่อให้มั่นใจว่าเห็นผลจริง จนนำมาสู่การค้าครีมลดน้ำหนัก โดยใช้ตัวเองเป็นเหมือนพรีเซนเตอร์ ส่งผลให้ขายดีและสร้างผลกำไรให้อย่างน่าพอใจ ควบคู่ไปกับการจัดดอกไม้จัดสวน เมื่อต้องออกไปพบเจอลูกค้า เธอก็จะ ขนเอาเครื่องสำอางค์ออกไปเสนอขายด้วยตัวเอง ทั้งครีมลดน้ำหนัก ครีมรักษาฝ้ากระ จากการค้าแบบซื่อสัตย์จริงใจ ชนิดที่เอาตัวเองเป็นผู้ใช้เมื่อเห็นผล จึงแนะนำต่อลูกค้า เป็นการทำธุรกิจบนความสุขและพึงพอใจของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
“ลูกค้าเห็นเรา ก็ถามว่าทำไมไม่มีฝ้ากระเลย ดูแลตัวเองยังไง เราก็แนะนำไป ลูกค้าก็จะบอกต่อกัน เราก็จะบอกตามตรง หรือแม้แต่การจัดดอกไม้ ถ้าลูกค้าบอกมีงบประมาณเท่านี้ มีสามพันก็จะจัดให้แบบเต็มที่ ในพื้นที่นิดเดียว ขอเวลา 3 ชั่วโมงเดี๋ยวหนูจัดให้ เราก็เอาลงเต็มที่ ทำให้ลูกค้าพอใจที่สุด แฮปปี้ที่สุด บางทีเขาบอกว่าโห…เอามาเยอะจัง จัดยังไงเนี่ย เราบอกเดี๋ยวจัดให้ค่ะ สามชั่วโมงจะทำให้ เราไม่ได้จะหวังกำไรมากไง แต่เราก็ได้ลูกค้าต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถขายเครื่องสำอาง ได้ด้วย ต่อมาพอคลอดลูก เราต้องผ่าถึง 3 ครั้ง คุณหมอก็เลยขอว่าให้หยุดการยกของหนัก ก็เลยหยุดตรงนั้นไป หันมาทุ่มเทกับโรงเนื้อเหมือนเดิม ซึ่งก็เป็นช่วงที่การค้าเนื้อฟื้นขึ้นมาได้พอดี ซึ่งกว่าจะฟื้นมาได้ก็เหนื่อยเหมือนกัน”
เมื่อทำทุกอย่างด้วยใจรักและด้วยความ ชื่นชอบส่วนตัว บวกกับความทุ่มเท ทำให้ทุกธุรกิจที่เธอเลือกทำอย่างมีความสุขนั้นไปได้ด้วยดี กระทั่งกิจการโรงเนื้อฟื้นฟูและกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อยอดมาสู่ธุรกิจภัตตาคารที่เธอให้ความทุ่มเทอย่างจริงจังและทำงานหนักในแต่ละวัน จนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าที่นอกจากจะมาทานที่ร้านแล้วยังมีการขอให้ไปจัดเลี้ยงนอกสถานที่อีกด้วย นี่จึงเป็นที่มาของธุรกิจจัดเลี้ยงอาหารอีกทางหนึ่ง
“ที่เราเปิดร้านอาหารเนี่ย ทีแรกก็กะว่าจะขายแต่สเต็กเท่านั้น ไม่อยากทำอย่างอื่นแล้ว แค่นี้มันเต็มมือแล้ว แต่มีลูกค้ามาจัดงานแต่งงาน เขาอยากให้มีอาหารหลากหลาย ก่อนที่จะมามีร้านนี้ (ปัจจุบันคือสินธร รามคำแหง ที่เดิมคือหมู่บ้าน สินธร ตลาดแฮปปี้แลนด์) เราเห็นว่าร้านอื่นจัดวางเนื้อปะปนกัน บางทีมีเนื้อวัว มีหมูวางปนด้วย เราก็มาคิดว่าจะทำอาหารให้เป็นฮาลาลจริงๆ เราก็มาคิดค้นสูตรของเราเอง ไปซื้อหนังสือมาดู แล้วลองทำเอง ถ้าอยากรู้อะไร อยากเรียนอะไรก็ไปจ้างกุ๊กจากโรงแรมมาสอน แล้วเราก็ประยุกต์ให้เป็นสูตรของเรา ส่วนของสินธรมีทซัพพลาย เราก็ขยายการส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ กว้างมากขึ้น ส่งตามร้านอาหารด้วย ทำแบบฮาลาลจริงๆ ไม่ปะปนอะไรอื่น เพราะเราเห็นที่เขาเอามีดตัดหมู ตัดอะไรแล้วมาตัดเนื้อมันปนกัน เราก็คิดว่าโห….ที่เรากินๆ กันมาเนี่ยล่ะ? เราเลยคิดทำเอง ส่งเองดีกว่า มีการหมักเนื้อ พอผลตอบรับดี ลูกค้ามากขึ้นก็ต้องขยับขยาย จนมาได้พื้นที่ร้านนี้ซึ่งแต่เดิมคือ ภัตตาคาร แวร์ซาย ซึ่งเราเห็นแล้วอยากได้ แต่ปรากฎว่าเราต้องมาทำมาตกแต่งปรับปรุงอะไรเยอะเลย แทบร้องไห้เลย เพราะเหนื่อยมาก แต่ลูกค้าสถานทูตก็มาถามว่ามีห้องจัดเลี้ยงมั้ย… เราก็ต้องรีบขยับขยาย ต้องรีบทำเพื่อรองรับลูกค้าให้ได้ และตั้งใจว่าต่อนี้ไปจะทำร้านต้องทำให้สุดๆ ดูแลเองหมดตามที่เราต้องการทั้งวันทั้งคืน ใช้เวลา 2 เดือนเองก็เสร็จ มันต่างจากร้านเดิม ไม่อึมครึม เราสองคนก็พอใจแล้ว ผลที่ออกมามันก็ดีมาก”
ดีมากทั้งลูกค้าที่มาอุดหนุนกันอย่างเนืองแน่นทุกวัน ทั้งในส่วนของบุฟเฟ่ต์เนื้อกระทะ ทั้งส่วนของซีฟู้ดที่เปิดมารองรับคนชอบอาหารทะเลสดๆ ราคาไม่แพง และยังประสบความสำเร็จกับส่วนสเต็กเฮ้าส์ และบริการจัดเลี้ยงที่มีทั้งแขกวีไอพี แขกบ้านแขกเมืองมาประชุมสัมมนา และมาสั่งจัดเลี้ยงระดับเอ็กซ์คลูซีฟ ไปจนถึงจัดงานแต่งงานที่ครบวงจรทั้งอาหารและการจัดดอกไม้ที่เธอถนัดอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้คือคำตอบของความมุ่งมั่นและจริงใจในธุรกิจที่ทำนั่นเอง
ความสำเร็จในธุรกิจสู่การคืนกำไรแก่สังคม
จากความบากบั่นสู่ความสำเร็จจากปณิธานที่เธอและสามีตั้งใจจริง ทำให้วันนี้เธอตั้งใจจะแบ่งปันให้คนอื่นที่ยากไร้ได้รับโอกาสบ้าง เป็นเหมือนการคืนกำไรสู่สังคม ทุกสุดสัปดาห์ที่สินธร สเต็กเฮ้าส์ จึงมีการจัดเลี้ยงอาหารและให้ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้า ด้วยความคิดที่ว่า การให้ย่อมส่งผลต่อความสุขในใจทำให้เกิดพลังในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง “เราเชื่อนะ เราจึงทำควบคู่กันไปทั้งทำธุรกิจ และการให้ผู้อื่นด้วย ทำกันเงียบๆ มาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว”
วันที่เราไปสัมภาษณ์เธอนั้นเป็นวันสิ้นเดือน ปรากฎว่า มีเด็กๆ นำโดยคณะครูจากโรงเรียนและสุเหร่าใกล้ๆ ย่านรามคำแหง มาทานอาหารที่ทางร้านจัดเลี้ยงให้ และทุกสัปดาห์ในวันศุกร์ ทางร้านจะมีการเลี้ยงอาหารให้กับเด็กกำพร้า โดยร่วมกับแขกที่มาทานอาหาร และมีการบริจาคสิ่งของและเงินให้กับเด็กกำพร้าดังกล่าว สิ่งเหล่านี้คุณโสภาบอกว่า เป็นความตั้งใจหนึ่งที่เธอย้อนนึกถึงตัวเองว่า “ถ้าเราไม่มีเหมือนเขาล่ะ เราจะเป็นยังไง ตอนนี้เรามีกำลังจะให้ เราก็อยากทำอยากให้ อาจไม่มากแต่เราคิดว่าจะมากจะน้อยก็ขอให้ได้ทำตรงนี้เถอะ และคิดว่าจะทำตลอดไปด้วย”
นอกจากความตั้งใจของหญิงแกร่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคนนี้แล้ว สามีของเธอ…คุณกิตติศักดิ์ ก็มีปณิธานและคติในการทำธุรกิจเช่นเดียวกัน “ผมมีคติประจำตัวว่า ทำแล้วต้องทำให้ดี ถ้าไม่มีต้องไปหา แล้วอย่าใช้คำว่าจะ นอกจากนี้พันธสัญญาที่มีไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านคือ ร้านต้องเปิดทุกวัน อีกทั้งตั้งปณิธานว่ารายได้ส่วนหนึ่งจากการทำธุรกิจต้องนำกลับไปดูแลเด็กกำพร้าและบริจาคช่วยเหลือตามมัสยิดต่างๆ ตามความเหมาะสม”
ความสำเร็จวันนี้คือ อาณาจักรพื้นที่ภัตตาคาร แวร์ซายน์เดิม บริเวณซอย 85-87 ถนนรามคำแหง มาสู่ความเป็นภัตตาคารระดับ 5 ดาว ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาที่ลูกค้าทุกระดับให้ความเชื่อถือ ไว้วางใจเป็นลูกค้าประจำ ส่งให้ภัตตาคารสินธร สเต็กเฮ้าส์ รวมทั้ง บริษัท สินธรมีทซัพพลาย จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องการทำเนื้อส่งขาย กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งจากภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง และโรงแรมชั้นนำเกือบทั่วประเทศ
เมื่อถามถึงความต้องการ ณ วันนี้ของคุณโสภา เธอบอกว่า อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ พอแล้วและมีความสุขแล้วกับงานที่ทำ และธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เธออยากทำมันต่อไปให้ดีที่สุดและมั่นคงแข็งแกร่งที่สุด เพื่อการสืบต่อของทายาท นั่นก็คือ ลูกๆ ของเธอที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้ดูแลธุรกิจของสินธรรุ่นต่อไปใน
อนาคตข้างหน้า….เราเชื่อว่าลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น และฐานรากที่แข็งแกร่งจากสองมือของหญิงแกร่งผู้ผลักดันและเดินเคียงข้างสามีคนนี้ จะก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงแน่นอน…
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.34 พ.ย. 53