คุณสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ได้อธิบายเหตุระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นคือจุดเริ่มต้นของ “โมเดลพลีชีพในตะวันออกกลาง…เป็นปฏิบัติการที่ถูกปั่นหัว สร้างความเชื่อว่าตัวเขาพร้อมตายแทนคนที่เขารักที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอันตรายมาก” (อ้างไว้ใน มองปม ‘ระเบิดพลีชีพ’ จากอิสราเอลถึงไทย บทเรียนที่ ‘ไม่แตกต่าง’, มติชน รายวัน, 12 ตุลาคม 2553, หน้า 3)
พูดอีกอย่างหนึ่งตามนัยยะของคุณ สุริยะใสคือ แทนที่มือระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่นจะเสียสละชีวิตตนเพื่อศาสนาเหมือนอย่างมือระเบิดพลีชีพในตะวันออกกลาง เขากลับทำไปเพราะความรักที่บ้าคลั่งต่อผู้นำของเขา ซึ่งแม้จะมีความต่างในด้านความเชื่อและบริบทแวดล้อม แต่ก็มีลักษณะแรงจูงใจที่คล้ายคลึงกัน “ซึ่งอันตรายมาก”
ฉะนั้นบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนออย่างสรุปเกี่ยวกับแรงจูงใจของนักระเบิดพลีชีพผ่านงานศึกษาวิจัยเรื่องของ Robert Pape ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในงานของ Pape เขาได้รวบรวมคลังข้อมูลที่เกี่ยวกับนักระเบิดพลีชีพทั้งหลายไว้มากมายถึง 462 คน ซึ่งทั้งหมดได้ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพเข่นฆ่าศัตรูจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 ถึง 2004 หลังจากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลสถิติประชากร ตลอดจนจิตวิทยาของผู้ก่อการและแรงจูงใจทางการเมืองและอุดมการณ์ของพวกเขาแล้ว เขาจึงได้ให้ข้อสรุปไว้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่นับว่าน่าสนใจทีเดียว
ข้อสรุปแรกที่ Pape ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ แนวคิดอิสลามรากฐานนิยม (Islamic Fundamentalism) ไม่ได้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการระเบิดพลีชีพอย่างที่หลายคนเข้าใจ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในศาสนาไม่ได้เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้ก่อการเลือกที่จะใช้วิธีระเบิดพลีชีพเพื่อเข่นฆ่าคนที่พวกเขาคิดว่าเป็นศัตรู
Pape ให้เหตุผลประกอบว่า การระเบิด พลีชีพครั้งแรกในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 เป็นปฏิบัติการของพวกพยัคฆ์ทมิฬ (Tamil Tigers) ของประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากว่าความกล้าหาญของพวกเขาที่ยอมแม้แต่การสละชีวิตของตัวเองนั้น มีแรงจูงใจมาจากศาสนา เพราะถึงแม้ว่าชาวทมิฬส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาฮินดู แต่พวกพยัคฆ์ทมิฬกลับนิยมแนวคิดทางโลกย์อย่างลัทธิมาร์กซ์
ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเราย้อนกลับไป ดูประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นได้ว่า การพลีชีพซึ่ง ใช้เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์นั้น ถูกใช้ครั้งแรก ในยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในช่วงสงครามครูเสด ซึ่งปฏิบัติการโดยพวก Knights Templar และในการปฏิวัติเบลเยียมโดยชาวดัตช์ในปี ค.ศ.1830 จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยใหม่ พวกนักบินชาวญี่ปุ่นของฝูงบินกามิกาเซ่ ก็ได้นำเอากลยุทธ์การพลีชีพมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อโจมตีเรือนาวิกโยธินของฝ่ายสหรัฐ ดังนั้น จึงไม่ถูกต้องทีเดียวที่จะพูดว่าการระเบิดพลีชีพเป็นผลผลิตของชาวปาเลสไตน์ ชาวอิรัก หรือชาวตะวันออกกลางโดยรวม เพราะการพลีชีพถูกนำมาใช้ในการโจมตีศัตรูเป้าหมายมาอย่างยาวนานนับหลายศตวรรษก่อนหน้านี้แล้ว
ประเด็นที่สองที่ Pape ให้ความสำคัญ คือ การโจมตีแบบพลีชีพไม่ได้มีเหตุจูงใจมาจากศาสนา มากเท่ากับการที่ผู้ก่อการ มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายในการขับไล่ชาติมหาอำนาจ ให้ถอนกองกำลังทหารออกไปจากดินแดน ที่ผู้ก่อการถือว่าเป็นมาตุภูมิของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของ เลบานอน ศรีลังกา เชชเนีย แคชเมียร์ ปาเลสไตน์ ไปจนถึงอัฟกานิสถานและอิรักในปัจจุบัน Pape เห็นว่า ยิ่งกองกำลังสหรัฐขยายฐานทัพไปประจำการในต่างแดนมากเท่าใด ความถี่ของการระเบิดพลีชีพต่อต้านสหรัฐ และชาติพันธมิตรก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น
ข้อสังเกตที่ว่านี้มีความสำคัญทีเดียว เพราะเท่ากับเป็นการแนะให้รัฐบาลมหาอำนาจ ถอนกองกำลังออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนฐานที่มั่นทางการทหารของสหรัฐในตะวันออกกลางทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซาอุดิอาระเบีย Pape พยายามอธิบายให้สหรัฐเข้าใจว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นหลังจากที่สหรัฐถอนฐานทัพเหล่านั้นออกมา เขาได้ยกตัวอย่างกรณีเลบานอน ซึ่งเป็นประเทศที่เคยเกิดเหตุระเบิดพลีชีพถึง 41 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1982-1986 แต่ท้ายที่สุดการระเบิดพลีชีพก็หยุดลงเมื่อสหรัฐและฝรั่งเศสตัดสินใจถอนกองกำลังออกไป พร้อมๆ กับที่อิสราเอลได้ถอยร่นกองทัพของตนไปประจำอยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่งทางภาคใต้ของเลบานอนเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ตามความคิดของ Pape การระเบิดพลีชีพจึงเกิดจากเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของผู้ก่อการเป็นหลัก โดยที่อิสลามถูกใช้ให้เป็นแค่ตราประทับรับรองความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเท่านั้น อาทิ มือระเบิดพลีชีพชาวปาเลสไตน์จะยอมรับสันติภาพ ก็ต่อเมื่ออิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดน ยึดครองทั้งหมด ด้วยความจริงใจเท่านั้น
ในประเด็นปาเลสไตน์นี้ Avishai Marqalit ได้เขียนไว้ใน The New York Review of Books ว่า ถึงแม้ว่าภาษา หรือศัพท์แสงที่มือระเบิดพลีชีพชาวปาเลสไตน์ใช้นั้น มักจะแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นอิสลาม แต่อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขานับว่ามีความสลับซับซ้อนมากกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของ Mahmoud Ahmad marmash มือระเบิดพลีชีพชาวปาเลสไตน์วัย 21 ปี ที่ระเบิดตัวเองในเมือง Netanya เมื่อ ปี ค.ศ.2001 ก่อนหน้าที่เขาจะปฏิบัติภารกิจ เขาได้เขียนบันทึกทิ้งไว้ว่า “ฉันต้องการล้างแค้นให้แก่เลือดชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นเลือดของ ผู้หญิง เลือดของคนชรา หรือเลือดของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ Iman Hejjo ผู้ซึ่งความตายของเธอทำให้ฉันสั่นสะท้านไปถึงแก่นกลาง”
ส่วนจดหมายที่ส่งไปถึงครอบครัว เขาเขียนว่า “ความยุติธรรมของพระเจ้าจะได้รับชัยชนะด้วยการญิฮาด ด้วยการหลั่งเลือด และด้วยซากมนุษย์เท่านั้น” จากบันทึกนี้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของนักระเบิดพลีชีพรายนี้บ่งบอกถึงความต้องการแก้แค้น ความโกรธ และความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งอารมณ์เหล่านี้เป็นตัว ขับเคลื่อนให้ชาวปาเลสไตน์ เลือกใช้วิธีระเบิดพลีชีพมากกว่าที่จะเป็นแรงจูงใจทางศาสนา
ในทำนองเดียวกัน มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตผู้นำมาเลเซีย ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ไว้ว่า แม้อิสลามจะสั่งห้ามการฆ่าตัวตาย (Suicide) ไว้อย่างเด็ดขาด และถือเป็นบาปใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับชาวปาเลสไตน์เมื่อคำนึงถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดการพลีชีพ พวกเขาต้องต่อสู้มาอย่างยาวนาน เพียงเพื่อต้องการปกป้องดินแดนของตนเอง และเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง
เริ่มแรกชาวปาเลสไตน์ก็พยายามที่จะบรรลุเป้าหมายนี้โดยการทำสงครามตามรูปแบบโดยได้รับความร่วมมือจากรัฐอาหรับ แต่ก็ล้มเหลว ต่อมาจึงใช้วิธีดื้อแพ่งและขว้างปาก้อนหิน แต่ก็ไม่เป็นผล จากนั้นจึงใช้วิธีการทางการทูตและการเจรจาเป็นเวลาหลายปี ทีเดียว แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ไม่ได้อะไรกลับคืน จึงทำให้พวกเขาเกิดความท้อแท้หมดหวัง เกิดความรู้สึกว่าทุกๆ วิถีทางถูกปิดกั้นไว้หมด คงเหลือแต่ทางสุดท้ายคือการโจมตีแบบพลีชีพ (Amir Taheri, Diplomacy Need of Hour (interviews Dr. Mahathir), Arab News, May 23, 2003)
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.34 พ.ย. 53

ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย