“ประชาชนจะต้องได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก เราต้องการประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานโดยไม่มีมือเปี่ยมเมตตาที่ไหนมาประคองให้เราลุก เพราะเราต้องเรียนรู้ที่จะลุกเอง เจ็บเอง ขอร้องอย่าเสือกกับเรา ถ้าจะเสือกก็ต้องเสือกแบบไม่ใช้ภาษีของเรา” – คำ ผกา นักเขียนฝีปากกล้า (เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย เสียงที่ไม่ได้พูด/สิ่งที่พูดไม่ได้ ในการปฏิรูปประเทศไทย 17 ต.ค. 53)
นับตั้งแต่การมีอยู่ของ ‘คณะปฏิรูปประเทศไทย’ (คปร.) ก็ไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันใดๆ เลยเกิดขึ้น แต่กลับใช้งบประมาณอย่างมหาศาล ในการดำเนินงาน ทั้งเบี้ยประชุม ทั้งการจัดเลี้ยงอาหารอย่างหรูหรา ทั้งค่าสถานที่ และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่นับรวมที่มาที่ไปของ คปร. ที่เกิด ขึ้นหลังจากการสังหารหมู่อย่างป่าเถื่อนใจกลาง เมืองหลวง ไม่นับว่า คปร. เป็นใครมาจากไหนก็ ไม่รู้อยู่ๆ ก็มาทำตัวเป็นเทวดาเหาะลงมายื่นมือเข้ามาช่วยโดยใช้ภาษีของมนุษย์ตาดำๆ โดย ไม่ได้รับการยินยอม ทั้งยังมีความเชื่อที่ว่าประชาชนโง่ ระดับคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกของประชาชนยัง ไม่ผ่านการวิวัฒน์และประชาชน อยู่ในสปีชีส์ที่ต่ำเกินกว่าจะปกครองตนเองได้
ได้ยินมาแว่วๆ ว่า เวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ‘ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ’ ของ คปร. ที่ม.ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมามีประชาชนจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมปรึกษาหารือ คปร.ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่แหม จากจดหมายที่ คปร. ออกเชิญไปกว่าหนึ่งพันฉบับ แต่กลับมีคนมาร่วมประชุมแค่ราวๆ สามร้อย ขนาดแถมค่าเดินทางอะไรต่อมิอะไรให้อีกนะเนี่ย ทั้งยังมีกลุ่ม ‘ปรองดองเรนเจอร์’ เข้ามาเยี่ยมเยือนระหว่างการประชุมทำให้อานันท์ ปันยารชุน ถึงกับอ้ำอึ้งเมื่อชูป้าย ‘เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป’ ตลอดการประชุม
ในวันเดียวกันอีกฟากฝั่งหนึ่งของประเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหา วิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่มจับตาเคลื่อนไหวประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch) สำนักข่าวประชาธรรม และประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์จัด ‘เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย เสียงที่ไม่ได้พูด/สิ่งที่พูดไม่ได้ ในการปฏิรูปประเทศไทย’ คู่ขนานไปกับ ‘เวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ’ ของ คปร. ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา
บนเวทีมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ คปร. อย่างดุเดือด “ประชาชนจะต้องได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก เราต้องการประชาธิปไตย ที่ล้มลุกคลุกคลานโดยไม่มีมือเปี่ยมเมตตาที่ไหนมาประคองให้เราลุก เพราะเราต้องเรียนรู้ที่จะลุกเอง เจ็บเอง ขอร้องอย่าเสือกกับเรา ถ้าจะเสือกก็ต้องเสือกแบบไม่ใช้ภาษีของเรา” คำ ผกา กล่าว
ในขณะเดียวกัน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าตนได้รับเชิญให้มาปาฐกถานำด้วยเหตุผลที่ว่าผู้สูงอายุคนอื่นไปปฏิรูปประเทศกันหมดแล้ว และเมื่อเห็นว่าเป็นเวทีคู่ขนานกับระดับชาติก็เลยคิดที่จะพูดปัญหาเรื่องสังคมการเมืองที่ผ่านมา โดยมีข้อสังเกตว่าคำว่าสองมาตรฐานกลายเป็นคำที่ใช้อยู่ตลอด และคำว่าไพร่ที่ไม่น่าติดตาม จนกระทั่งกลุ่มเสื้อแดงประท้วง และคำว่าไพร่น่าจะตกเวทีกลับถูกนำมาใช้ สินค้าที่มีคำว่าไพร่ขายดีมาก ซึ่งน่าแปลก แสดงถึงนัยยะอะไรหลายอย่างต่อการเมืองปัจจุบัน
แล้วยังกล่าวอีกว่า ระบอบประชาธิปไตย รัฐ ประชาชาติ ลัทธิชาตินิยม ที่ลงหลักปักฐานมากว่า 200 ปีนี้ ได้กลายเป็นรูปแบบ หลักการ มาตรฐาน และสากล ของสิ่งที่เป็นนามธรรมที่ว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่รัฐ/ประเทศ สมัยใหม่ต้องเผชิญ ต้องรับ ต้องปรับและต้องปรุง และทำให้เป็นรูปธรรม ให้เข้ากับสภาพการณ์ของตน ไม่ว่ารัฐ/ประเทศนั้นจะเป็นสถาบันกษัตริย์ ระบอบประธานาธิบดี ระบอบทหาร ระบอบอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบพรรคเดียว หลายพรรค หรือระบบ ระบอบใดๆ ก็ตาม นี่เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้านนายอานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ จ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สังคมไทยเปลี่ยนแปลงแต่โครงสร้างอันเก่ายัง ไม่เปลี่ยน เกิดความครอบงำ 3 อย่างตามมาคือ 1. ความคิดที่เน้นความชาตินิยมแบบบ้าระห่ำ เช่น บ้าเรื่องพรมแดน มีค่านิยมฆ่าแล้วไม่บาป เช่น สมัยทักษิณ ผู้คนเฉยๆ และดีใจที่ชาวมุสลิมถูกฆ่าตายที่ตากใบ กรือเซะ เป็นค่านิยมที่ไร้สติ 2. เชื่อว่าเมื่อมีปัญหาต้องใช้สถาบันเดิมแก้ เช่น บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ซึ่งมันแก้ไม่ได้ เพราะโลกปัจจุบันไร้พรมแดนไปแล้ว 3. มองความขัดแย้งในเชิงลบและรุนแรง นำมาซึ่งการปิดปากไม่ให้ประชาชนพูด
“หากคิดได้แค่นี้ก็ไม่ต้องไปปฏิรูปแล้ว การขัดแย้งต้องต่อสู้ทางความคิดให้มาก การเปลี่ยนแปลงต้องเคลื่อนไหวทางสังคม ความ ขัดแย้งต้องมองในเชิงลบและบวกคู่กันไป อย่ามองอะไรด้านเดียว การจะปฏิรูปต้องทำอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คนไทยเน้นฟรีแต่ ไม่แฟร์ ต้องเปลี่ยนแปลงกลไกเชิงสถาบันต้องปรับดุลยภาพอำนาจใหม่ ลดการขูดรีดแรงงานไม่ให้เกิดความเสี่ยง ระบบกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันเป็นเชิงเดี่ยวซึ่งมีปัญหา ต้องใช้เชิงซ้อนหรือพหุนิยมทางการเมืองหลายฝ่ายต้องช่วยกัน เสริมอำนาจประชาชนเข้าไปช่วยเสริมและจัดการปัญหาประชาธิปไตย”
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ คปร. ควรทำก่อนทะเยอทะยานเป็นเทวดามาชุบชีวิตประเทศไทย คือ คปร.ต้องออกมาต่อต้านการรัฐประหาร 49 อย่างออกนอกหน้า ไม่ใช่งุบงิบพูดไปอายไป ต้องตั้งความถามกับรัฐบาลที่ได้มาเป็นรัฐบาลอย่างไม่ชอบมาพากล คปร.ต้องเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่ใช่พูดวันเดียวเป็นข่าวแล้วหายไปเลย ยกเลิกการมีอยู่ของ ศอฉ. ต้องออกมาเรียกร้องให้กับประชาชนที่ถูกจับกุม คุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ต้องกดดันใน รบ.ออกมารับผิดชอบการสลายการชุมนุม
เรื่องแค่นี้ยังทำไม่ได้แล้วจะไปปฏิรูปอะไรได้ไม่ทราบ
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.34 พ.ย. 53