รองปธน.สหรัฐฯ วิจารณ์พม่ากรณีโรฮิงญา “ซูจี” สวน “เราเข้าใจประเทศของเราดีกว่าใคร”

อองซาน ซูจี และ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ประชุมทวิภาคีในสิงคโปร์ / วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 / REUTERS/Athit Perawongmetha

วันนี้ (พุธ 14 พ.ย.) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ “ไมค์ เพนซ์” วิพากษ์วิจารณ์ทหารพม่ากรณีการประหัตประหารชาวมุสลิมโรฮิงญาในการประชุมกับนายอองซาน ซูจี ผู้นำตัวจริงพม่า และบอกว่า เขากระตือรือร้นที่จะได้ยินว่า ผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงจะถูกนำตัวมารับผิดชอบ แชนแนลนิวส์เอเชีย สื่อสิงคโปร์รายงาน

“ความรุนแรงและการประหัตประหารโดยทหารและศาลเตี้ยที่ส่งผลให้ชาวโรฮิงญา 700,000 คนต้องเดินทางสู่บังคลาเทศนั้นไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ” เขากล่าวกับซูจีในการพบปะสั้นๆ กับสื่อมวลชน ก่อนที่พวกเขาจะพูดคุยเป็นการส่วนตัวในที่ประชุมสุดยอดเอเชีย-แปซิฟิก ที่สิงคโปร์

“ผมรู้สึกกระตือรือร้นที่จะได้ยินถึงความคืบหน้าที่คุณกำลังทำในการนำผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้น ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่ทำให้คนหลายแสนต้องพลัดถิ่น และสร้างความทุกข์ทรมาน รวมทั้งการสูญเสียชีวิต” เขากล่าวเสริม

เขากล่าวว่า วอชิงตันก็กระตือรือร้นที่จะได้ยินความคืบหน้าในการทำให้ชาวโรฮิงญาสามารถกลับไปที่รัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า จากค่ายอพยพผู้ลี้ภัยในภาคใต้ของประเทศบังคลาเทศ ซึ่งปัจจุบันพวกเขาอาศัยอยู่

สหรัฐอเมริกาได้กล่าวหา ทหารพม่าว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกดูแคลนอย่างกว้างขวางในพม่าซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นักวิจัยจากสหประชาชาติได้กล่าวหาว่า กองทัพพม่าปล่อยแคมเปญการฆ่า การข่มขืน และการลอบวางเพลิง โดยมีเจตนา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

พม่ากล่าวว่าปฏิบัติการในรัฐยะไข่นั้นเป็นการตอบโต้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย อันเนื่องจากกองกำลังรักษาความปลอดภัยถูกโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายชาวโรฮิงญาในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

นางซูจีตอบสนองต่อ “ไมค์ เพนซ์” โดยกล่าวว่า “แน่นอนว่าคนเรามีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นก็คือ คุณควรแลกเปลี่ยนมุมมองเหล่านี้ และพยายามที่จะเข้าใจกันและกันให้ดียิ่งขึ้น”

“ในทางหนึ่ง เราสามารถพูดได้ว่า เราเข้าใจประเทศของเราดีกว่าประเทศอื่นๆ และฉันแน่ใจว่าคุณจะพูดแบบเดียวกันว่า คุณเข้าใจประเทศของคุณดีกว่าคนอื่นๆ” เธอกล่าวเสริม

ในสัปดาห์นี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ริบคืนรางวัลสิทธิมนุษยชนอันทรงเกียรติที่สุดจากซูจี โดยกล่าวหาว่าเธอได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการไม่พูดถึงเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา

ครั้งหนึ่งซูจีเคยถูกยกย่องว่าเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปีพ.ศ. 2534