เอ็นไอเอ เปิด 4 เฟรมเวิร์คพัฒนานวัตกรรมจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งเป้าดัน “Halal Tourism District” หนุนการท่องเที่ยวภาคใต้ ปี 62

กระบวนการผลิตข่าวเกรียบปลา (กรือโป๊ะ)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.) ดำเนินโครงการ “การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” โดยการอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ ตลอดจนเชื่อมโยงหน่วยงานวิชาการในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยมุ่งต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืน

สำหรับการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ รวมถึงสตาร์ทอัพให้ความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 ราย นอกจากนี้ ยังได้เผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในปี 2562 ของกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มวัฒนธรรม สุขภาพ และเกษตรกรรม การจัดทำย่านนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Halal Tourism District เพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยว จากชายแดน เช่น กลันตัน ตรังกานู ฯลฯ

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ได้ร่วมกับ ศอบต. ดำเนินโครงการ “การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ด้วยการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์กรของภาครัฐ มหาวิทยาลัย ไปสู่ผู้ประกอบการ – วิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข การอำนวยความสะดวกสบาย ตลอดจนพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบการเดิมต้วยการเติมนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและการบริการ

ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมการตระหนักรู้และการสร้างนวัตกรรมด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับทุนต่างๆจากแหล่งทุน การมอบทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธุรกิจ การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การจัดแสดงผลงานการจับคู่ธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งตลอดระยะเวลา กว่า 2 ปีที่ผ่านมานั้น (ปี 2559 – 2561) มีธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพให้ความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 ราย ทั้งยังเกิดผลสำเร็จของการพัฒนาที่เห็นเป็นรูปธรรมโดยมีการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ และการนำนวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าในธุรกิจ ได้แก่ โครงการ ฟินเดลิเวอรี่ : แพลตฟอร์มระบบซื้อ-ขายสินค้าและวัตถุดิบที่มีความสะดวกในเรื่องของเวลาและการเดินทาง โครงการพินซูก : ตลาดซื้อขายสินค้าฮาลาลออนไลน์ที่กระจายพื้นที่อยู่ในประเทศไทย แบบเสร็จสรรพ เบญจเมธา ผลิตภัณฑ์เซรามิกจากเนื้อดินท้องถิ่น ที่ผสมผสานนวัตกรรมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแดนใต้ และนัสรีน ผลิตภัณฑ์กือโป๊ะ ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการผลิตกึ่งอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการผลิต

ผลิตภัณฑ์เซรามิกจากเนื้อดินท้องถิ่น

นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมในปีถัดไป NIA ได้จัดงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ไว้ทั้งสิ้น 22.4 ล้านบาท ซึ่งมุ่งที่จะขยายผลนวัตกรรมเดิม รวมทั้งบูรณาการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาใช้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสล.) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YES) จัดประชุมเพื่อบูรณาการแผนการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในปี 2562 ตามกรอบความร่วมมือ และรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยกำหนดแผนงานเดิมและเพิ่มเติมแผนงานใหม่ ได้แก่

การพัฒนาโครงการ/ผู้ประกอบการ ด้วยการหาความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาพปัญหา เช่น การจัดการภัยพิบัติ การจราจร การดูแลสุขภาพ ซึ่งจะต้องมีความแตกต่างกันไปใน แต่ละบริบทของพื้นที่ โดยแนวทางดังกล่าวยังเป็นการดึงดูดการลงทุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการขยายผลนวัตกรรมให้เกิดกระจายไปสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม หรือ Maker Space ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ หรือระบบดิจิทัล รวมถึงอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากรัฐและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ (Big Brothers) มาคอยให้คำแนะนำหรือชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา

มองการพัฒนานวัตกรรมให้นอกเหนือจากเรื่องอาหาร โดยมุ่งเป้าไปที่วัฒนธรรม (Culture Based) สุขภาพ และเกษตรกรรม ด้วยการใช้นวัตกรรมเป็นตัวเชื่อมคุณค่าและความเปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น แพลตฟอร์มบริการการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับกลุ่มสินค้าฮาลาล (Halal Tourism) การพัฒนายางพาราสู่สินค้าเพื่อสุขภาพ ปาล์มน้ำมันสู่พลังงานทดแทน บริการทางการเงิน เป็นต้น

การสร้างเครือข่าย (Innovation Regional Connect) และการอบรมให้ความรู้ อาทิ การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในตลาดนวัตกรรม หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ส่วนการสร้างเครือข่ายจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับหน่วยงานคู่ขนาน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย Startup Thailand League เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมตามที่แต่ละองค์กรมีความเชี่ยวชาญ และสามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 การจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมฯ และการจัดทำย่านนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Halal Tourism District เพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยว จากชายแดน เช่น กลันตัน ตรังกานู ให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมสรรหาพื้นที่   ที่มีศักยภาพ หรือความโดดเด่นเฉพาะตัวเพื่อดึงนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุน

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th