สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงศึกษาศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โต๊ะอิหม่ามมาเฝ้าฯ ถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเสมอ เพื่อจะได้ทรงกำหนดรัฐประศาสโนบาย ที่สามารถสมานน้ำใจของชนในชาติได้อย่างสุขุมคัมภีรภาพ และทรงยินดีพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอิสลามอย่างเต็มพระราชหฤทัย ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ชาวมุสลิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
“น้ำใจไมตรีต่อชนอิสลาม ไม่ได้ผิดกับชนศาสนาอื่น บรรดาที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม…เมื่อมาขอให้เราเป็นผู้อุปถัมภ์อิสลามศาสนิก เราก็มีความยินดีเต็มใจรับภารอันนี้ไว้ อิสลามศาสนิกจงเชื่อใจว่าเราตั้งใจกระทำกรณียกิจในหน้าที่อุปถัมภ์เต็มความสามารถของเรา ให้ท่านทั้งหลายได้ร่มเย็นเป็นสุขเช่นที่ท่านเคยได้รับมาแล้ว และเราเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาจำเป็น ชนอิสลามคงจะได้มาเข้าพวกเราช่วยกันปกป้องชาติและพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาของท่านทั้งหลาย ซึ่งเหมือนกับท่านทั้งหลายช่วยป้องกันศาสนาของท่านเอง นับว่าเป็นบุญกิริยาสมควรจะประพฤติ เพราะตรงกับอนุศาสน์ของพระมะหมัด ว่าผู้ที่สละชีวิตเพื่อป้องกันศาสนาเป็นผู้กอบการกุศล จะได้รับผลอันเป็นสุขในเบื้องหน้า”
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต วันที่ 25 พฤศจิกายน จึงถูกยกย่องเป็น “วันมหาธีรราชเจ้า” อันมาจากพระสมัญญานาม “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ที่พระองค์ได้รับการถวาย จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เนื่องจากทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม
และสำหรับคนไทยแล้ว พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าบุคคลสำคัญมากกว่าด้านวัฒนธรรม เพราะทรงมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน อันนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศดังในปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา