อนุญาตให้ชาวมุสลิมแสดงความยินดีกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามเนื่องในเทศกาลทางศาสนาของพวกเขา (เช่น เทศกาลคริสต์มาส) ได้หรือไม่? ต่อไปนี้คือมุมมองของ “ดารุลอิฟตาร์ อัลมิซรียะห์” สำนักวินิจฉัยปัญหาศาสนาแห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐบาล ก่อตั้งเพื่อดูแลด้านกิจการศานาอิสลามและเป็นศูนย์กลางการวินิจฉัยปัญหาศาสนาที่ถูกต้อง
คำตอบ :
อนุญาตให้แสดงความยินดีกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในโอกาสทางศาสนาได้โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม การผดุงรักษาความสัมพันธ์ การมอบของขวัญ เยี่ยมเยียน และแสดงความยินดีกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนามุสลิม ทั้งหมดนี้เป็นการปฏิบัติที่ใจกว้างมีความโอบเอื้อเมตตา
อัลลอฮ์ทรงสั่งให้เราพูดด้วยถ้อยคำสุภาพต่อทุกคน พระองค์กล่าวไว้ว่า “จงพูดจากับเพื่อนมนุษย์ด้วยถ้อยคำที่ดีงาม” (บทบากอเราะห์ โองการที่ 83)
อัลลอฮ์ทรงสั่งให้เราเป็นคนใจกว้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นอยู่เสมอ พระองค์กล่าวว่า “แท้จริงอัลเลาะห์ทรงบัญชาใช้เรื่องความยุติธรรมและการทำคุณงามความดี” (บทอัลนะห์ลุ โองการที่ 90)
อัลลอฮ์มิได้ทรงห้ามมิให้เรารักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่มิใช่มุสลิม การแลกเปลี่ยนของขวัญ หรือจากการกระทำอย่างอื่น อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
“อัลลอฮ์ไม่ได้ทรงห้ามเจ้าทำดีต่อพวกเขาและให้ความเป็นธรรมต่อพวกเขา ผู้ซึ่งมิได้ต่อสู้กับพวกเจ้าใน (เรื่องราวของ) ศาสนาและมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริงอัลเลาะห์นั้นทรงรักผู้มีความยุติธรรม” (บทอัลมุมตะฮะนะห์ โองการที่ 8)
ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ยอมรับของขวัญของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับผ่านฮะดีษที่สอดคล้องกันหลายสายรายงาน (ฮะดีษมุตะวาติร) ว่าท่านศาสดา (ซ.ล.) ยอมรับของขวัญจากคนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม โดยท่านยอมรับของขวัญจาก “อัล-มุเกากิซ” (Al-Muqawqis) ผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ของอียิปต์โบราณ
อาลี บินอะบีตอลิบ (รฎ.) รายงานว่า กษัตริย์โคสโรว์ ซีซาร์ และกษัตริย์คนอื่นๆ ได้ส่งของขวัญให้ท่านศาสดามูฮัมหมัด และท่านก็ยอมรับของขวัญเหล่านั้น (บันทึกโดยอะห์หมัด ในมุสนัด และติรมีซีย์ในสุนัน ของเขา)
นักวิชาการของศาสนาอิสลามเข้าใจจากฮะดีษเหล่านี้ว่า อนุญาตในการมอบหรือรับของขวัญจากคนที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะมันคือการกระทำดีมีเมตตา ยิ่งไปกว่านั้นมันคือแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของท่านศาสดาด้วย
ศาสดามูฮัมหมัดได้ให้ของขวัญแก่ผู้ที่มิใช่มุสลิม
ความเห็นเกี่ยวกับการมอบของขวัญแก่คนไม่ใช่มุสลิมของศาสดามุฮัมมัด อัล – ซาร์คาซี กล่าวว่า “การมอบของขวัญให้กับผู้อื่นเป็นไปตามศีลธรรมอันดีงามตามคำพูดของท่านศาสดา (ซ.ล.)ที่ว่า “ฉันถูกส่งมาเพื่อสร้างมารยาทที่ดีงาม” ดังนั้นนักวิชาการจึงเข้าใจดีว่า การแลกเปลี่ยนของขวัญระหว่างชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมนั้นก็เหมือนๆ กัน (ชัรฮุซซียาร อัลกาบีร เล่ม 1 หน้า 96)
ในหนังสืออัลฟะตาวา อัลฮินดียะห์ ระบุว่า มูฮัมหมัดบินหะซัน กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องเสียหายสำหรับการไปเยี่ยมเยียนและเป็นเจ้าภาพต้อนรับอะลุลซิมมะห์ (ผู้ไม่ใช่มุสลิมที่อยู่ร่วมอย่างสันติกับมุสลิม) แม้พวกเขาจะเป็นเพียงคนรู้จักกันก็ตาม ในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องเสียหายใด ๆ ที่ชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยือนคนที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนใกล้ชิดหรือไม่” (อัลฟะตาวา อัลฮินดียะห์, เล่ม 5, หน้า 347)
ในหนังสือฟัตฮ์ อาลีอะลี อัลมาลิก (เล่ม 2, หน้า 349) เชค อีลีช ถูกถามว่า สามารถแสดงความยินดีกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้หรือไม่ เขาตอบว่า “การแสดงความยินดีกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม โดยปรารถนาให้เขามีชีวิตที่ยืนยาว ไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งความเชื่อ เพราะมันไม่ได้หมายความถึงการเคารพบูชา หรือยอมรับการปฏิเสธศรัทธา”
คำวินิจฉัย
จากข้อความข้างต้น ทั้งอัลกุรอาน หะดีษ และความเห็นนักวิชาการ เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า การรักษาความสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ด้วยการผลัดกันเยี่ยมเยือน การแสดงความเสียใจและส่งความปรารถนาดี การแลกเปลี่ยนของขวัญ และสิ่งที่คล้ายคลึงกันนั้น ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติที่ใจกว้างมีความโอบเอื้อเมตตา และนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการเชิญชวนเรียกร้องสู่ศาสนาของอัลลอฮ์ผ่านทางมารยาทอันสูงส่ง อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง
อ้างอิง http://www.dar-alifta.org/Foreign/ViewFatwa.aspx?ID=6815