นักวิชาการจี้’บ.น้ำเมา-ร้านค้า’ร่วมรับผิดชอบเจ็บ-ตายปีใหม่

นักวิชาการ ศวส.เรียกร้องให้ธุรกิจน้ำเมา-ร้านค้า ร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบเจ็บตายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง7วันอันตรายปีใหม่

นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) เปิดเผยว่า อีกไม่กี่วันจะเริ่มนับถอยหลังสู่ช่วงวันหยุดยาว ของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นอกจากเป็นเทศกาลที่คนไทยใช้วันหยุดร่วมกันในครอบครัวแล้ว ยังเป็นเทศกาลที่คร่าชีวิตหลายร้อยคน เกิดความสูญเสีย พิการอีกหลายพันคนในรอบแค่เพียง 7 วัน และเกือบทั้งหมดของความเสียหาย มีสาเหตุจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขความรุนแรงไม่เคยลดล

โดยในแคมเปญโฆษณาของผู้ผลิตแอลกอฮอล์ มักใช้คำว่า “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายตรงตัวคือ “ผู้ดื่ม” เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้ขาย ผู้ผลิต หรือ เจ้าภาพ จะอยู่นอกเหนือจาก “ความรับผิดชอบ” ถือเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวของผู้ผลิตและผู้ขาย ที่กอบโกยกำไรจากการขายสินค้า แม้จะจ่ายภาษีให้รัฐบาล แต่ก็ปล่อยให้ผู้ดื่มและรัฐบาลต้องมารับผิดชอบผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยกตัวอย่างเช่น หากมีอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ผู้ที่รับผิดชอบคือผู้ดื่มต้องจ่ายชดเชยความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินของคู่กรณี หรือ รัฐบาลกลายเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ผ่านการใช้บริการสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนคนผลิต คนขาย ร่ำรวยมหาศาลจากสินค้าอันตราย แต่ไม่เคยต้องมารับผิดชอบใดๆ เลย

นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับต่างประเทศของทวีปยุโรป หรือ อเมริกา38 รัฐ เขาจัดทำกฎหมายที่เรียกว่า Dram shop liability หรือ Social liability ขึ้นมา เพื่อให้มีคนรับผิดชอบความเสียหายจากแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ดื่มเพียงคนเดียว กฎหมายที่กำหนดว่า หากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ได้สร้างความเสียหาย หรือมีแนวโน้มจะสร้างความเสียหาย หรือ มีอาการเมาขาดสติ ผู้บังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการตามหาร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์ให้กับผู้ดื่มรายนั้นทันที เพื่อให้มาร่วมรับผิดชอบความเสียหาย หรือ เรียกมาปรับกรณีเมาขาดสติแล้วยังขายแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าอยู่ นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ งานสังคม ที่เลี้ยงแอลกอฮอล์ หากงานไหนมีคนเมาขาดสติทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าภาพต้องร่วมรับผิดชอบ

“ไทยมีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา40 ห้ามขายให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน2หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่น่าเหลือเชื่อมากว่าตลอด10ปีที่ประกาศใช้ กลับไม่เคยลงโทษ หรือ แจ้งโทษในมาตรานี้เลย ดังนั้นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ จึงไม่อยากเห็นความเสียหายของสุราเกิดขึ้น สังคมต้องตระหนักช่วยกันเป็นหูเป็นตาใช้กฎหมายมาตรานี้ เน้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บังคับใช้จริงจัง รวมถึงเข้มงวดกวดขันเรื่องเมาไม่ขับ และหวังว่าอนาคตจะพัฒนาให้โทษปรับของร้านค้านั้นครอบคลุมถึงการร่วมรับผิดชอบทางแพ่งต่อความสูญเสียด้วย ให้ได้มาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างที่หลายรัฐ ในสหรัฐอเมริกาบังคับใช้” นักวิชาการ ศวส.กล่าว และว่า การรณรงค์ต้องเน้นย้ำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งหลายเริ่มเอาจริงเอาจัง ทั้งคนดื่ม คนไม่ดื่ม คนผลิต คนขาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย