สายเขียวยิ้ม ปลดล๊อค “กัญชา-กระท่อม” จัดโซนเสพไม่ผิด

สนช. ไฟเขียวผ่านร่าง พ.ร.บ.ฯ ถอด“กัญชา-กระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แล้ว เพื่อวิจัย-รักษาโรค เล็งจัดโซนนิ่ง ปลูก-เสพ ไม่ผิดกฎหมาย

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ที่มีนายสมชาย แสวงการ เป็นประธานฯ พิจารณาเสร็จแล้ว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น การพิจารณาปลดล็อกกัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ให้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมและดูแลทางการแพทย์ได้ โดยการจะผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด และความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และหากมีปริมาณการครอบครองเกิน10 กิโลกรัม ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ถอดรหัสร่างกฎหมายเปิดช่องปลูก“กัญชา”รักษาโรค )

สำหรับหน่วยงานที่จะได้รับอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชาได้นั้นประกอบด้วย 1.หน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามแก้ปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย 2.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 3.สถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาและวิจัยด้านการแพทย์ 4.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชน 5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6. ผู้ป่วยที่เดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดติดตัวเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว และ7.ผู้ขออนุญาตอื่นที่รมว.สาธารณสุขเห็นชอบ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)ให้ความเห็นชอบการกำหนดโซนนิ่งในการปลูกกัญชา หรือผลิตทดสอบ เสพ หรือครอบครองในปริมาณที่กำหนด รวมถึงมีอำนาจกำหนดให้ท้องที่ใดเป็นพื้นที่เสพกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ส่วนบทลงโทษนั้น หากครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมีปริมาณกัญชาไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม จำคุก 1- 15 ปี ปรับ 100,000 -1,500,000 บาท เป็นต้น

สำหรับในร่างกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดว่า เมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว 3 ปี ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประเมินผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการผลิต นำเข้าส่งออกจำหน่าย หรือครอบครองกัญชาทุก 6 เดือนด้วย

หลังจากที่สมาชิกสนช.ได้อภิปรายกันจนครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมสนช.จึงได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษด้วยคะแนน 166 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง ให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป