“เที่ยวตลาดน้ำ” เป็นเรื่องปกติที่ผู้เขียนไปเป็นประจำด้วยเหตุผลที่ว่า ของกินที่มีหลากหลาย ราคาไม่แพงและใกล้กรุงเทพฯ ได้อุดหนุนสินค้าไทย “เมื่อไทยทำเอง ไทยก็ใช้เอง” และปีนี้ยังตรงกับนโยบายของการท่องเที่ยวฯ ประจำปี 2558ที่ว่า “ปีแห่งการเที่ยววิถีไทย” การเที่ยวตลาดน้ำก็เป็นการเที่ยวแบบวิถีไทยแท้ๆ ฉะนั้น เราจึงต้องสนองนโยบายของรัฐ ตามหน้าที่พลเมืองที่ดี โดยการไปเที่ยวเมืองไทยและหาสถานที่ท่องเที่ยวแบบวิถีไทยๆที่ “ตลาดริมน้ำคลองสวน100ปี”
นอกจากเหตุผลดังข้างต้นที่ชอบเที่ยวตลาดน้ำแล้ว สำหรับผู้เขียนที่พิเศษก็คือ ตลาดริมน้ำโบราณแห่งนี้ เป็นบ้านเกิดของผู้เขียนเอง เมื่อเป็นเด็ก น้าๆ พานั่งเรือพายไปจ่ายตลาดมาตั้งแต่ยังเป็นตลาดริมน้ำธรรมดา การจราจรทางน้ำยังหนาแน่นและมีเรือวิ่งสัญจรเป็น 100 ลำ ไม่ได้เป็นคลองใหญ่ที่โล่งและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนทุกวันนี้ (ปัจจุบัน ในวันธรรมดาชาวบ้านก็ยังมาจับจ่ายซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันที่ตลาดแห่งนี้)
ตลาดคลองสวน100ปี ตั้งอยู่ริมคลองประเวศน์บุรีรมย์ (ชาวบ้านเรียก “คลองเจ้า” หรือชื่อเต็ม “คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต”) ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
ตลาดคลองสวนเป็นตลาดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าย้อนกลับไปในอดีต.. การเดินทางโดยเรือสะดวกและเร็วที่สุด ถ้าเดินทางจากฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพ จะต้องใช้เรือเมล์ขาวของนายเลิศ ซึ่งมีเพียงลำเดียว รับคนจากประตูน้ำผ่านท่าถั่ว ..พ่อแม่ของผู้เขียน “ชอบเล่าความ หลังครั้งนั่งเรือเมล์ขาวของนายเลิศว่า”จะเข้ากรุงเทพฯ ต้องนั่งเรือกันเป็นวันๆ ก็เลยมีเรื่องตลกของแม่มาเล่า __แม่ไม่ยอมนั่งเก้าอี้ เพราะคิดว่า ถ้าไม่นั่งเก้าอี้จะเสียค่าเรือแค่ครึ่งเดียว จนเถียงกับเด็กเก็บตั๋วที่บอกว่า“ จะนั่งเก้าอี้หรือไม่นั่ง ก็ต้องเสียค่าโดยสารเรือเท่ากัน ”เป็นเรื่องเล่าของแม่ที่ฟังกี่ครั้งก็ขำ “เพราะแม่บอกว่า อุตส่าห์ทนยืนเมื่อยมาตั้งนานเพื่อจะได้ประหยัดตังค์ ที่ไหนได้ก็ต้องเสียตังค์อยู่ดี นึกว่าฉลาดแล้ว ต้องมายืนเมื่อยฟรีๆซะงั้น
ย้อนกลับไปเมื่ออดีต ตลาดคลองสวนร้อยปีแห่งนี้ เป็นตลาดใหญ่ แยกมาจากแม่น้ำบางปะกง เป็นลำคลองใหญ่ เรียกชื่อว่า“คลองเจ้า” เป็นศูนย์รวมการคมนาคมและเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าสารพัดชนิด เรือในคลองคับคั่งจนมา ถึงปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตของชาวคลองสวนทั้งไทยจีน ไทยพุทธ ไทยมุสลิมก็ยังคงมีวัฒนธรรมผสมผสานในการดำรงชีวิตประจำวันที่กลมเกลียวและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขเหมือนครั้งอดีต จะเห็นได้จากโรงเจ วัด สุเหร่าที่สร้างอยู่ใกล้เคียงกัน มีการร่วมทำบุญด้วยกัน และตลาดยังเป็นแหล่งนัดพบของผู้คน เพื่อมาพูด คุย แลกเปลี่ยนความคิดกัน เช่น ร้านกาแฟ,ร้านตัดผม,ร้านโชห่วย
ปัจจุบันตลาดคลองสวน100ปี ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการและคนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์บ้านเรือน การดำเนินชีวิตให้คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายเช่นอดีต เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เดินทางมาสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้ เลือกชมวิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่ยังมีกลิ่นอายในรัชสมัยรัชกาลที่5 ได้ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
มาเที่ยวตลาดคลองสวน100ปี เพียงแค่คุณก้าวข้ามสะพานไม้ที่กั้นระหว่าง 2 จังหวัด ก็เหมือนได้มาเที่ยวตลาดริมน้ำถึง 2 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา และสมุทราปราการ “บรรยากาศของตลาดคลองสวน100ปี อบอวลด้วยมนต์เสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวในวิถีชุมชนอย่างแท้จริง เพราะที่แห่งนี้เป็นตลาดโบราณที่เกิดขึ้นกว่า100 ปี จนนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงมนต์เสน่ห์แห่งอดีตที่ยังเกิด ขึ้นในปัจจุบันและที่แห่งนี้ได้ โดยไม่ต้องไปสร้างขึ้นมาใหม่เหมือนที่อื่นๆ เพราะบรรยากาศเก่าๆ เดิมๆ มีให้ชื่นชมอยู่แล้ว ทั้งชาวบ้านในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ก็ยังนิยมมาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันและมาเลือกซื้ออาหารอร่อยๆสารพัดอย่างที่ตลาดคลองสวนร้อยปีแห่งนี้อยู่เป็นประจำ
ของกินของฝาก เช่นไข่เป็ดไข่ไก่และไข่เค็ม 8 ริ้ว มะม่วงอกร่อง ปลาสลิดบางบ่อก็มีขายเหมือนเดิม ของกินอร่อยๆ ของใช้แบบชาวบ้านท้องถิ่น ของฝากและของที่ระลึกก็มีให้เลือกซื้อมากมาย อาหารขึ้นชื่อในตลาดฯ ทั้งของพุทธ มุสลิม จีนก็มีให้เลือกซื้อ เช่น เป็ดพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวเนื้ออิสลาม ข้าวหมกไก่ ซุปหางวัว แกงมั่สหมั่น แกงกุรุหม่า หมี่กรอบ5รส หอยจ๊อปู ลูกชิ้นเนื้อย่าง ขนมหวานต่างๆ ของเล่นและขนมสมัยโบราณก็มีขาย ร้านกาแฟโบราณ ซึ่งเป็นจุดขายของตลาดคลองสวนตั้งแต่เริ่มแรก“แป๊ะหลี” ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้วและมนต์เสน่ห์แห่งร้านกาแฟแห่งนี้อาจจะลดน้อยไปบ้าง แต่ความเป็นอัตลักษณ์ของร้านกาแฟแป๊ะหลี ยังคงอยู่คู่กับตลาดคลองสวน100ปีเสมอ
บ้านเรือนและบรรยากาศเก่าๆ ของร้านค้า ที่ตั้งอยู่ในตลาดของสวนร้อยปี ยังเป็นของเก่าดั้งเดิม เจ้าของร้านยังคงพักอาศัยอยู่ชั้นบนของร้าน ร้านโชห่วยหรือร้านขายสินค้าเกี่ยวกับเกษตรยังคงขายและจัดวางสินค้าเหมือนเดิมเพราะชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงคุ้นชินกับวิถีชีวิตชุมชนแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งอดีต รุ่นสู่รุ่น แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม แต่ความผูกพัน ในชุมชนที่อยู่ด้วยกันมาเนิ่นนานและมีอยู่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
ตลาดคลองสวน100ปีกับ“อดีตที่สัมผัสได้” เสน่ห์..ตลาดริมน้ำโบราณที่ยังคงเป็นเอกลักษ์ “อบอวลในอดีต แต่กลมกลืนกับปัจจุบัน” ซึ่งนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาเห็นและมาเรียนรู้วัฒนธรรมเหล่านี้ สามารถมาสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อมีโอกาสมาเที่ยวที่ตลาดริมน้ำโบราณแห่งนี้ เพราะบรรยากาศเก่าๆ ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้เห็น วิถีชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การค้าขาย ทำเกษตร ทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้งและฯลฯ ของชาวไทยเชื้อสายต่างๆ ไทย จีน อิสลาม นักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสที่ตลาด100ปีแห่งนี้ได้เสมอ
มาสัมผัสกับรอยยิ้มและมิตรไมตรี ของตลาดโบราณที่เคยซ่อนตัวอยู่ในอดีต มาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมแต่ดั้งเดิม และมาสัมผัสกับ วิถีชุมชนการท่องเที่ยวแบบไทยๆ ที่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดในโลกจะเลียนแบบได้“เสน่ห์.. ตลาดริมน้ำโบราณ” ตลาดคลองสวน100ปี
——–
หมายเหตุ: เนื่องจากผู้เขียน ถ่ายภาพไม่สวย(แม้จะถ่ายไว้มากมาย) จึงขอยืมภาพจาก http://www.dooasia.com ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ค่ะ