ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการบริการด้านสุขภาพ เพราะไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในบริการด้านสุขภาพจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยหลายปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุน ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยขยายตัวต่อเนื่อง แต่สถานบริการด้านสุขภาพของไทยส่วนใหญ่ ยังกระจุกตัวอยู่ตามกรุงเทพและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ซึ่งพร้อมในบริการด้านการแพทย์และบริการด้านการท่องเที่ยวรองรับผู้ใช้บริการด้านสุขภาพจากชาวต่างชาติได้ ความได้เปรียบด้านสุขภาพหลายประการของไทย ความพร้อมด้านบุคลากรการแพทย์ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญในโรคเฉพาะทางและค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าบริการที่มีคุณภาพในมาตรฐานเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวและมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ช่วยเกื้อหนุนต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น
เมื่อพิจารณาข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริการที่ชาวต่าง ชาติใช้ในโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ ตรวจสุขภาพ รองลงมา ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม ศัลยกรรมกระดูก ผ่าตัดหัวใจ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสความใส่ใจในสุขภาพที่มีมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเดิมเน้นบริการด้านการรักษาโรคต่างๆ หันมาพัฒนาบริการด้านส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งบริการด้านเสริมความงามเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบจากความน่าเชื่อถือในการให้คำปรึกษาของแพทย์ แต่เนื่องจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมตั้งแต่การเข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์ในโรงพยาบาลไปจนถึงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยพร้อมกิจกรรมทางการแพทย์และการแพทย์ทางเลือกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นการยากที่จะกำหนดขนาดของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยรวมของไทยได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน
เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรองรับการเปิดเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการขนาดของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยในเบื้องต้น จากข้อมูลผู้ป่วยชาวต่างชาติและรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย ซึ่งรวบรวมโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2555 ชาวต่างชาติมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยประมาณ 2.53 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 2.24 ล้านคน และก็มีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้แก่โรงพยาบาลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 121,658 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าประมาณ 97,874 ล้านบาท
กระแสใส่ใจในสุขภาพ…กระตุ้นการขยายตัวของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ
จากกระแสความใส่ใจด้านสุขภาพที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต่างให้การสนับสนุนธุรกิจเอกชนที่ให้บริการด้านสุขภาพเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา(แต่ยังขาดความพร้อมของบริการด้านสุขภาพในประเทศ) และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าบริการด้านสุขภาพอยู่ในระดับสูงรวมทั้งยังต้องรอคิวการใช้บริการเป็นเวลานาน
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) คือ การที่ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลในอีกประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศพร้อมใช้บริการด้านสุขภาพ อาทิ ตรวจสุขภาพ ทำฟัน ศัลยกรรมความงาม ในโรงพยาบาลของประเทศนั้นๆ ปัจจุบันหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศในแต่ละปี เพราะนอกจากการใช้จ่ายสำหรับบริการด้านการแพทย์ของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนของไทยแล้ว ยังมีการใช้จ่ายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่นการท่องเที่ยวที่มาทั้งจากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้ติดตามผู้ป่วยต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายในบริการแพทย์ทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น นวดแผนไทย สปาสมุนไพร การรักษาแพทย์แผนโบราณแนวธรรมชาติบำบัด จากสถานบริการต่างๆ ที่ให้ดำเนินการเฉพาะด้านกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลในการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของการท่องเที่ยวแห่งประเทศเมื่อปี2556ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 12.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 15 ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโลก หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่สำคัญ คือ สิงคโปร์ ไทย อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยสิงคโปร์มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 33 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ไทย สัดส่วนร้อยละ 26 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท และอินเดียสัดส่วนร้อยละ 19 คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท
ประเทศไทยกับการพัฒนาบริการด้านสุขภาพเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ
แม้ประเทศไทยยังตามหลังประเทศหลังสิงคโปร์ แต่ก็นับว่ามีการเติบโตในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีความได้เปรียบในบริการด้านสุขภาพหลายประการ เหนือกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เช่น ความพร้อมในด้านบุคลากรทางการแพทย์ของเราที่มีความสามารถเชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง ค่าใช้จ่ายการบริการที่ต่ำ แต่บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นที่นิยมและ รู้จักไปทั่วโลกและการบริการรองรับด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลคอยเกื้อหนุนต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นอย่างดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยเพื่อสู่กับตลาดต่างประทศ ดังนี้
จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย
จุดแข็ง
– ความคุ้มค่าเงินที่จ่ายไปทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขภาพ
– ความพร้อมของทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างหลากหลายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เอื้อต่อการท่องเที่ยวพักผ่อน และการพักฟื้นหลังการบำบัดรักษา
– ความพร้อมของบริการด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะด้านที่พัก ซึ่งมีบูติคโฮเต็ลที่โดดเด่น
– ความพร้อมของบุคลากรด้านการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์และพยาบาล ซึ่งมีอัธยาศัยที่ดี และจิตใจโอบอ้อมอารี
– สถานพยาบาลของไทยหลายแห่งได้มาตรฐานระดับนานาชาติ (Joint Commission International – JCI) – ความมีชื่อเสียงด้านการแพทย์เฉพาะทาง จากความเชี่ยวชาญของแพทย์ ความทันสมัยด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการค้นคว้าวิจัยด้านการแพทย์แขนงต่างๆ
– ทักษะด้านบริการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการนวดแผนไทย และ สปาซึ่งใช้สมุนไพรไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
โอกาส
– แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ความต้องการที่พำนักระยะยาว (Long Stay) ซึ่งรวมทั้งบริการด้านสุขภาพในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นตาม โดยมีประเทศในเอเชียที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่ำกว่าเป็น ปลายทางเป้าหมาย
– สภาพการดำรงชีวิตในสังคมเมือง ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ก่อให้เกิดความเครียด และโรคภัยต่างๆ ตามมา เป็นโอกาสในการขยายตัวของบริการส่งเสริมสุขภาพ
– การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เกื้อหนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอาเซียน ส่งผลดีต่อประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนใน ธุรกิจบริการทางการแพทย์ และการขยายเครือข่ายเข้าไปรับบริหารโรงพยาบาล ในประเทศกลุ่ม CLMV
– ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ประกอบกับการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศ เกื้อหนุนต่อการเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพของไทย
จุดอ่อน
– ระยะเวลาพำนัก ของชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศไทยและผู้ติดตามโดยไม่ต้องทำวีซ่า เพียง 30 วัน ไม่เอื้อต่อการเดินทางเข้ามารักษาบางโรคที่ใช้เวลานาน (อยู่ระหว่างการดำเนินการ ขยายระยะเวลาเป็น 90 วัน โดยขั้นต้นจะผ่อนผันให้สำหรับ 5 ประเทศในกลุ่มอาหรับ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรต กาตาร์ คูเวต โอมาน และบาห์เรน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2555 เป็นต้นไป)
– ข้อจำกัดด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ของคนไทย
– การกำหนดเพดานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไว้ที่ 49% ไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่อง มือทางการแพทย์ ที่ยังต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ
– สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ และภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในประเทศไทยของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ
อุปสรรค
– ความคล้ายคลึงด้านวัฒนธรรมในความเป็นประเทศมุสลิม รวมทั้งการมีอาหารฮาลาลของบางประเทศ อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์ สามารถดึงดูดตลาดกลุ่มมุสลิมได้ง่ายกว่า
– ความได้เปรียบด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของหลายประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน
– มาเลเซียกำลังดำเนินการขยายเวลาพำนักในประเทศให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้านการแพทย์และผู้ติดตาม จาก 30 วันเป็น 180 วัน (โดยต้องมีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาลในมาเลเซียที่ ผู้ป่วยจะเข้ารับบริการทางการแพทย์)
– ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ อาทิ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจได้ 100%
ความท้าทายหลัง AEC..ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เติบโตแบบก้าวกระโดดของไทย
– ขยายตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนของไทย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และประเทศที่นักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อสูงคือ อินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันมีหลายปัจจัยหนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
– ขยายตลาดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากนอกภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วและมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศสูงกว่าประเทศในอาเซียนและประเทศมุสลิมที่มีศักยภาพสูง เพราะเป็นผู้ผลิตน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปรักษาในสหรัฐอเมริกาที่เข้มงวดด้านความปลอดภัยมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิลด์ เทรดเมื่อ 11 กันยายน 2001 – จุดเด่นในด้านการให้บริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากลของธุรกิจบริการด้านการแพทย์ของไทย และเป็นจุดแข็งที่ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือเข้าไปรับบริการโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่มประเทศCLMV(กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)
อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงของการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการด้านสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยนักลงทุนที่มาจากประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนจะขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจบริการด้านการแพทย์ทางเลือกที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพ เช่น นวดแผนไทย สปา ธุรกิจการแพทย์ เน้นส่งเสริมสุขภาพ การบัดรักษา การฟื้นฟูสุขภาพ การเสริมความงามจากโรงพยาบาล สถานบริการด้านการแพทย์ ด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านบริการที่พัก โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
แม้ศักยภาพของประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่งของเราในอนาคต เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเพิ่มความสามารถ เช่น คุณภาพการให้บริการด้านการแพทย์ การมีจิตใจในการให้บริการ (Service Mind) เพื่อต้องการเข้ามาขอมีส่วนแบ่งในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าสูงในภูมิภาคอาเซียน แต่ประเทศไทยมีจุดแข็งและปัจจัยหนุนสำคัญ คือ ความคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายรูปแบบเป็นที่นิยมไปทั่วโลก การท่องเที่ยวด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐาน การมีจิตใจในการให้บริการที่สามารถสร้างความประทับใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีก
อย่างไรก็ตาม ทักษะการสื่อสารภาษาที่สาม รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศและภัยธรรมชาติยังคงเป็นข้อจำกัดและอาจจะเป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นปลาย ทางในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และปัจจัยด้านบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายทั้งก่อนและหลังการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี2558 เนื่องจากแรงงานฝีมืออาจเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า “ปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญและหาวิธีแก้ไข หากต้องการแข่งขันเพื่อช่วงชิงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาใช้บริการในประเทศไทย”
———
เขียน/เรียบเรียง/ข้อมูลจาก :ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,บทความAEC
ขอบคุณภาพจาก internet