ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับตัวแทนธนาคารโลกจากประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกา เน้นกระบวนการสันติภาพต้องเดินหน้า พร้อมเปิดพื้นที่กลางแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนภาคประชาสังคมจาก สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กลุ่มชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ วิทยาลัยประชาชน สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) และตัวแทนจากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับตัวแทนธนาคารโลก ณ ห้องเพรสซิเดนท์ โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ บอกกล่าวถึงกิจกรรมที่สภาฯ เคลื่อนไหวเรียกร้องฝ่ายรัฐและคนในพื้นที่ได้คิดว่ามีหนทางต่อสู้อื่นอีกหรือไม่ที่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้อาวุธกับคนบริสุทธิ์ ประชาชนทั่วไป คนแก่ ผู้หญิงและเด็ก
“อย่าให้คนบริสุทธิ์ตกเป็นเครื่องมือใครหรือถูกฆ่าโดยไม่รู้ตัว เมื่อก่อนตายเพียงคนเดียวก็จะมีข่าวไปทั่ว แต่เดี๋ยวนี้ตายเป็นยี่สิบคนก็เฉย”
“ต้องพูดถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมที่มีสิทธิในความเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง เป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมต้องนำก่อน ต้องทำเพื่อมนุษย์ อย่าให้ใครรู้สึกเป็นส่วนเกิน สมัยรัฐบาลรัฐประหารได้รับผลกระทบแต่ยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้บ้าง การทำงานเพื่อสันติภาพในพื้นที่ยังทำได้อยู่ โดยต้องให้ข้างล่างเป็นผู้ชี้ประเด็นและร่วมกันทำทุกฝ่าย” นายประสิทธิ์ กล่าว
ด้าน “มูฮัมหมัดอายุป ปาทาน” จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวว่า “ภาคประชาสังคมต้องประเมินสถานการณ์จากความเป็นจริง ไม่ใช่จากแหล่งข่าวอย่างเดียว ต้องคุยกันว่าจะเดินต่ออย่างไร กลับมาสู่การทบทวน“
“ต้องกล้าทำงานกับคนที่เห็นต่างมากขึ้น ค่อยๆ ขยายและสร้างเวที กล้าคุยข้ามกลุ่มมากขึ้น ซึ่งสองปีที่ผ่านการพูดคุยสันติภาพมีพัฒนาการที่น่าสนใจ สภาประชาสังคมฯ ควรมีรายงานและข้อเสนอเป็นยุทธศาสตร์
“สำคัญคือต้องคุยกันเองมากขึ้นโดยสลับพื้นที่กัน“ มูฮัมหมัดอายุปย้ำ
ขณะที่ “นางโซรยา จามจุรี” จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ผู้หญิงชายแดนใต้ตั้งวงคุยว่า ต้องมี 4 อ. คือ อาหาร อาชีพ อนามัยที่ดี และอัตลักษณ์
“ส่วน อ. ที่ต้องไม่มีเลยคือ อยุติธรรมซึ่งไม่ใช่จากกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ต้องได้รับในการใช้ชีวิตแต่ละวันของทุกคน เช่น เรื่องการคลุมฮิญาบที่สามารถคลุมแล้วไปเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่ถูกกีดกัน แต่ความจริงคือเด็กเรียนดีที่คลุมฮิญาบไปเรียนในโรงเรียนบางแห่งที่อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นนำของภาคใต้ไม่ได้ ทั้งที่ระเบียบถูกแก้ไปแล้ว หรือสิทธิที่ละหมาดได้ 5 เวลา แต่สร้างมัสยิดที่จ.น่านไม่ได้ และพี่น้องชาวพุทธต้องมีสิทธิเสรีภาพที่ได้ทำและได้รับการคุ้มครองเช่นกัน”
“ส่วน อ. อำนาจมองใน 2 ระดับคือ การปกครอง ต้องมีการแชร์อำนาจส่วนกลางกับอำนาจท้องถิ่น กระจายมาในพื้นที่มากขึ้น”
“ผู้หญิงยังเป็นเสียงเงียบที่อยู่ในอำนาจของคนที่ด้อยอำนาจ ต้องเสริมอำนาจนี้ เพราะผู้หญิงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ระวังตัวในการใช้สื่อสาธารณะ รู้สึกไม่มีสิทธิ์ในการสื่อถึงความต้องการอย่างเต็มที่เทียบกับช่วงเวลาปกติ” นางโซรยา กล่าว
[quote_box_left]
นายมันโซร์ สาและ [/quote_box_left]
ส่วน “นายมันโซร์ สาและ” รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ บอกว่า ทศวรรษที่ผ่านมายังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความสับสนที่สองตัวละครหลักคือฝ่ายรัฐไทยและขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีกระทำต่อกัน คนปาตานีไม่ได้วางเป้าหมายเอกราช สิบปีที่ผ่านมามี 3 ฝ่ายหลักคือ รัฐ ขบวนการ และภาคประชาสังคม ภาคประชาสังคมจะทำอย่างไรให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
“สันติภาพเป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง มีความหลากหลายในการตีความ เป็นการบ้านสำคัญที่ต้องค้นหาว่าสันติภาพที่ภาคประชาสังคมต้องการคืออะไร ประชาชนต้องมีอำนาจมาจากฐานราก ต้องมีภูมิคุ้มกัน เมื่อดูสังคมที่ถูกปลดปล่อยเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผ่านอำนาจ จากชาติพันธุ์หนึ่งไปสู่อีกชาติพันธุ์หนึ่ง การพัฒนาตนเองของคนในพื้นที่ การเกิดองค์กรต่างๆ ในแต่ละช่วงอาจมาจากสถานการณ์ แต่ว่าจะอยู่รอดหรือไม่ เราจะขับเคลื่อนไปอย่างไรในขณะที่มีชีวิตอยู่”
ขณะที่ “นายตูแวตานียา ตูแวแมแง” ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพลวัตของความขัดแย้งที่มีตั้งแต่ปีค.ศ.1786 มาถึงปี 2547 ที่เป็นจุดเปลี่ยนแรกของสมัยใหม่ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมและไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นปฏิบัติการมวลชนของประชาชน
“จนปี 2550 มีตัวแสดงใหม่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่มัสยิดกลางปัตตานี มีชาวบ้านมาร่วมเกือบหมื่นคนด้วยการปิดหน้า มีนักศึกษา 7 คนที่เปิดหน้า ทำให้มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ในการเป็นกระบอกเสียงที่เอาข้อมูลข้อเท็จจริงอีกด้านมานำเสนอต่อสาธารณะซึ่งสื่อหลักไม่เปิดพื้นที่ให้”
ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าประชาชนมีการปรับทัศนคติตัวเองต่อปัญหารากเหง้า เน้นเครือข่ายหลากหลาย พัฒนาการสื่อสารสาธารณะที่อิงความรู้มากขึ้น มีวาทกรรมกำหนดชะตากรรมตนเอง วาทกรรมเอกราชที่รณรงค์ให้เห็นว่าประชาชนต้องการ ผ่านการสื่อสารเป็นสัญลักษณ์ด้วยป้ายผ้า การพ่นสี มีสัญญาณการเชื่อมร้อยมวลชน ประชาชน นักวิชาการคือ การปรากฏตัวของฮัซซันตอยยิบ มีการตอบรับที่กัวลาลัมเปอร์ ทำให้มีพื้นที่ทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางกา”
“ยืนยันว่า สันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนต้องยึดโยงกับเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ขณะนี้ประชาชนยังอยู่ในการสู้รบ การใช้กฎหมายพิเศษ การต่อสู้จึงจะยังคงยืดเยื้ออีกหลายสิบปี”
ด้านตัวแทนธนาคารโลกอย่าง นายมุสลาฮุดดีน ดาวุด (Muslahuddin Daud) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคม ของธนาคารโลก (Social Development Specialist) จากประเทศอินโดนีเซีย เล่าถึงประสบการณ์ของอาเจะห์ที่ลำบากกว่าชายแดนใต้ ด้วยการปฏิบัติการทางทหารมาสิบกว่าปีมีภาคประชาสังคมเข้าไปทำงานน้อยมากเพราะประธานาธิบดีซูฮาร์โตไม่ยอม
“ในสถานการณ์ที่อาเจะห์คุณจะได้รับเพียงกาแฟแก้วเดียว ไม่มีเสรีภาพใดๆ ในการแสดงออกทั้งสิ้น ไม่สามารถทำอะไรไม่ได้เลย แต่ในปีค.ศ.1997 มีภาคประชาสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ็นจีโอระดับชาติหนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง การสื่อสาร ถ้าไม่มีเราคงทำอะไรไม่ได้ เรามาจากหลายกลุ่ม ผมต้องดูแล 140 องค์กรให้เข้มแข็ง มีระบบการเฝ้าติดตามสถานการณ์ มีสถาบันวิจัย ซึ่งทุกอย่างไม่ได้ง่ายเพราะมีเป้าหมาย ทิศทาง การดำเนินงานที่ต่างกันแต่กระบวนการสันติภาพทำให้มารวมตัวกัน”
มุสลาฮุดดีน ชี้ว่า ประชาชนชายแดนใต้ต้องระบุให้ได้ว่า สันติภาพของทุกคนคืออะไร
“คือการกระจายอำนาจ หรือการแสดงออก หรือความเจริญมั่งคั่งของประชาชาชนในท้องถิ่น ความหมายแต่ละอย่างมียุทธศาสตร์ หากมีหัวใจเป็นธรรมในการหาสันติภาพหรือการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกอย่างต้องเข้าใจร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ทุกอย่างคือส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ ไม่มีสูตรสำเร็จไม่ว่าที่ใดในโลก การปรับเปลี่ยนกับบริบทเป็นสิ่งสำคัญ บทบาทของการสร้างสันติภาพต้องให้ภาคประชาสังคมทุกฝ่ายยอมรับเพราะเป็นประโยชน์ยาวนาน”
“คุณรู้ปัญหาของคุณมากกว่าผม ต้องหาสูตรของที่นี่ ผมไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นสิ่งที่ที่นี่ยังหาไม่เจอเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือกระบวนการสันติภาพต้องดำเนินต่อไป”
ขณะที่ โรแบโต บี โตเดซิลลา (Roberto B. Todecilla) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมอีกคนจากประเทศฟิลิปปินส์ให้ความเห็นว่า การพูดคุยแบบนี้เป็นเรื่องปกติของภาคประชาสังคมที่ต้องมีการตัดสินใจหลากหลาย สะท้อนเรื่องการพูดคุยเรื่องอัตลักษณ์เป็นสำคัญ
“ปัญหาของที่นี่และมินดาเนาเหมือนกันในเรื่องของอัตลักษณ์ รัฐบาลไม่ยอมให้มีการทำในเรื่องนี้ ความรุนแรงไม่เคยหยุด เชื่อในพลังของการเจรจา ปัจจัยหลักที่มินดาเนาคือการหยุดยิงในปี 2001 ความรุนแรงลดลงร้อยละ 80-90 ทุกขั้นตอนของสันติภาพนำไปสู่การตัดสินใจ การยอมรับอัตลักษณ์ของมุสลิม ให้มีอำนาจปกครองดูแลตนเองมากขึ้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงสวัสดิการของกลุ่มอื่นด้วย และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม”
เขาระบุว่า บทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการคือ มีตัวแทนในการเจรจาต่อรองหรือเฝ้าติดตาม ส่วนไม่เป็นทางการคือ เป็นเครือข่ายที่มีตัวแทนที่ทุกฝ่ายยอมรับ กลุ่มนี้จะดึงทุกฝ่ายเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา เป็นตัวแทนภาคประชาสังคมของฟิลิปปินส์ที่ทุกฝ่ายเชื่อฟังความคิดเห็น ปัจจุบันกลุ่มนี้ทำงานกันอย่างสามัคคี มีวาระเดียวร่วมกันคือ สันติภาพ ทุกคนไม่ได้ใช้อาวุธ ใช้การเจรจากัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการดึงประชาชนในมินดาเนามาร่วมมือกัน ต้องเป็นนักสังเกตการณ์ที่เป็นกลาง มีประวัติการทำงานเป็นที่ยอมรับ การมีวาระร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญของกลุ่มที่เข้ามาเจราจา
“องค์ประกอบของภาคประชาสังคมที่เป็นกลาง ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ผลักดันวาระต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปต้องเตรียมพร้อมในการถูกทดสอบจากทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายใช้ความรุนแรงอาจมองว่ามาจากฝ่ายตรงกันข้าม ภาคประชาสังคมจึงต้องเข้าร่วมทั้งสองฝ่าย เกิดความสมดุลย์กันไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวว่าถือข้างฝ่ายไหน ทั้งสองฝ่ายคือสิ่งสำคัญ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ต้องจับเข่าคุยกันเพื่อให้เกิดสันติภาพให้ได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมกล่าว
ปิดท้ายด้วย เมลินา เปโตรวา (Melina Petrova Stetanova) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (Opeation officer) วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า
“จากรายงานการพัฒนาของโลกในการลดความขัดแย้ง ข้อเสนอแนะหนึ่งคือ ในฐานะแหล่งทุนสนใจในการพัฒนาศักยภาพ สร้างความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชน จัดการสานเสวนาระหว่างกัน เกิดพันธมิตรกับหลายฝ่าย สร้างพลังให้ชุมนอย่างมีส่วนร่วม บอกถึงความต้องการของชุมชน ทำงานกับรัฐบาลว่าต้องยอมรับเสียงชุมชน มีนโยบายที่สะท้อนความต้องการของประชาชน”
“ในกระบวนการสันติภาพเป็นระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ข้อมูล ความรู้ที่ต้องใช้ในการไปเจรจากันเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อมีความไว้ในใจกันก็สามารถสนับสนับสนุนได้ในเรื่องความยุติธรรมในระบบเปลี่ยนผ่าน แก้ไขปัญหาความคับแค้นใจ ฟื้นฟู สร้างรายได้ อาชีพ ให้มั่นใจว่าคนที่เปราะบางไม่กลับไปสู่ความขัดแย้งอีก” เมลินา กล่าว
ด้านภาคประชาสังคมมีข้อเสนอแนะต่อธนาคารโลกในหลายประเด็น อาทิ ควรสนับสนุนงานวิชาการ ความรู้ ที่ต้องมองไปข้างหน้า, มีเวทีต่างๆ และข้อเสนอมากขึ้น หนุนเสริมกิจกรรมโครงการของภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ทำงานทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่มากขึ้น ขยายทำงานกับภาครัฐมากขึ้นเพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะกับทหารที่มีหัวก้าวหน้า เน้นทักษะความรู้ในงานสื่อสารสาธารณะ เปิดโอกาสและปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มด้อยโอกาส คนเห็นต่าง เยาวชน ผู้หญิง ผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลทางความคิดกับคนในพื้นที่มากขึ้นให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งต่อการสร้างสันติภาพ ต้องให้มีความรู้หรือให้รับรู้ถึงเจตจำนงที่มีเหตุและผล ความรู้ควรคู่กับพื้นที่ทางการเมืองของชุมชนที่ต้องเปิดรับ งานความรู้ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเปิดพื้นที่สนับสนุนเรื่องการเยียวยาด้วยงานปกป้องสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องความเป็นธรรม การสื่อสารสาธารณะ ในระดับชุมชนเป็นตัวช่วยให้ชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิ์สามารถป้องกันความรู้สึกที่ได้รับความเป็นธรรมเพื่อรักษาพื้นที่ทางการเมืองเดิมได้ เป็นต้น
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้