หญิงสาวซาอุดิอาระเบียวัย 18 ปีที่ถูกกักตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ ซึ่งเธอกล่าวว่าหนีการทารุณกรรมจากครอบครัวได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อขอความช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้ถูกเนรเทศโดยทางการไทย อัลจาซีรารายงาน
ราฮาฟ โมฮัมหมัด อัลกูนูน กล่าวว่า เธอหนีออกจากคูเวตในขณะที่ครอบครัวของเธอเดินทางมายังประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซียแห่งนี้ และวางแผนที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังออสเตรเลียเพื่อหาที่ลี้ภัย เธอบอกว่า ถูกควบคุมตัวหลังจากออกจากเครื่องบินในกรุงเทพฯ และบอกว่าเธอจะถูกส่งตัวกลับไปยังคูเวต
ในวันจันทร์ 7 ม.ค. ราฮาฟได้เผยแพร่รูปภาพตัวเธอเองบนทวิตเตอร์ ขณะถูกขังอยู่ในห้องพักของโรงแรมที่สนามบิน ซึ่งเธอถูกกักตัวไว้ตั้งแต่เดินทางมาถึงเมื่อวันอาทิตย์ (6 ม.ค.) โดยเจ้าหน้าที่และตำรวจรวมตัวกันที่ด้านนอกประตูเพื่อพาเธอไปที่เครื่องบินที่จะพาเธอกลับไปที่คูเวต
ราฮาฟขอให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ช่วยเหลือเธอ
“ฉันจะไม่ออกจากห้องจนกว่าฉันจะเห็นเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์” เธอกล่าวในวิดีโอที่โพสต์บนทวิตเตอร์ “ฉันต้องการลี้ภัย”
https://twitter.com/rahaf84427714/status/1082212804549959687
องค์กรสิทธิมนุษยชน “แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล” ออกแถลงการณ์ในวันจันทร์ (7 ม.ค.)ว่า การริบหนังสือเดินทางโดยพลการนั้น “ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง” องค์กรสิทธิฯ ยังกล่าวอีกว่า สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ได้ร้องขอการเข้าถึงราฮาฟ ซึ่งทางการไทยยังไม่ได้เปิดช่องให้
“ทางการไทยมีข้อผูกพันตามข้อห้ามทั่วไป ที่จะไม่เคลื่อนย้ายบุคคลไปยังสถานที่ใดๆ ที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แท้จริงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ราฮาฟมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องอย่างยุติธรรมและมีประสิทธิภาพต่อการถูกเนรเทศ และได้รับการปกป้องจากนานาชาติ” ซามาห์ ฮาดีด (Samah Hadid) ผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางของแอมเนสตี้ฯ กล่าวในแถลงการณ์
ราฮาฟถูกควบคุมตัวหลังจากที่เธอออกจากเที่ยวบินในกรุงเทพ และมีกำหนดจะถูกส่งกลับไปยังสายการบิน คูเวต เที่ยวบิน 412 ออกจากเมืองหลวงของไทยเวลา 11.15 น. ในวันจันทร์นี้
เธอกล่าวว่าเดิมทีเธอวางแผนที่จะใช้เวลาสองสามวันในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการรักษาทางการแพทย์ ดังนั้นการกระทำของเธอจะไม่สร้างความสงสัยเมื่อเธอออกจากคูเวต
“เมื่อฉันลงจอดที่สนามบิน มีคนมาและบอกว่าเขาจะดำเนินการขอวีซ่าไทย แต่เขาเอาพาสปอร์ตของฉันไป เขากลับมาพร้อมกับสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบิน และบอกว่าพ่อแม่ของฉันคัดค้านและบอกว่าฉันต้องกลับซาอุฯ ผ่านสายการบินคูเวต “เธอบอกสำนักข่าวรอยเตอร์
คำกล่าวอ้างของเธอว่าหนังสือเดินทางของเธอถูกยึดได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรตส์วอตช์ (HRW)
เธอบอกว่าเธอพยายามหนีครอบครัวของเธอ ซึ่งเธอกล่าวหาว่า ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเธอ
ราฮาฟกล่าวว่าเธอมั่นใจว่าเธอจะถูกจำคุกถ้าถูกส่งตัวกลับ
“ครอบครัวของฉันเข้มงวดและขังฉันไว้ในห้องเป็นเวลาหกเดือนเพื่อตัดผมของฉัน” เธอกล่าว
“ฉันแน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ว่าพวกเขาจะฆ่าฉันทันทีที่ออกจากคุกซาอุดิอาระเบีย” เธอกล่าวพร้อมเสริมว่า เธอ “กลัว” และ “สูญเสียความหวัง”
ยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวว่า ตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (the principle of non-refoulement) ผู้ขอลี้ภัยไม่อาจถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางได้หากพวกเขากลัวว่าชีวิตของพวกเขาจะถูกคุกคาม
“หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ติดตามพัฒนาการนี้อย่างใกล้ชิด และพยายามหาทางเข้าถึงจากทางการไทยเพื่อพบกับ ราฮาฟ โมฮัมหมัด อัลกูนูน เพื่อประเมินความต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศของเธอ” แถลงการณ์ระบุตามรายงานของอัลจาซีรา
นายเกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยได้เขียนลงในทวิตเตอร์ว่า เขามี “ความกังวลอย่างมาก” สำหรับกรณีของราฮาฟ และได้ติดต่อกับทางการไทยและสถานทูตของประเทศอื่นเกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอ
ราฮาฟถูกกักไม่ให้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อเธอบินจากคูเวตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยกล่าวกับเอเอฟพี
“เธอไม่มีเอกสารเพิ่มเติมเช่นตั๋วไปกลับหรือเงิน” เขากล่าวและว่า ขณะนี้ราฮาฟอยู่ในโรงแรมสนามบิน
“เธอหนีออกมาจากครอบครัวเพื่อเลี่ยงการแต่งงาน และเธอกังวลว่าเธออาจมีปัญหาหากกลับไปยังซาอุดิอาระเบีย เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลเธอแล้วตอนนี้” เขากล่าว
จนถึงวันจันทร์นี้ไทยยังยืนยันว่า ราฮาฟจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรตส์วอตช์ฝ่ายเอเชีย ได้ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ไทย
“ประเทศแบบไหนกันที่อนุญาตให้นักการทูตเดินไปรอบๆ ส่วนที่ปิดของสนามบินและยึดหนังสือเดินทางของผู้โดยสารได้?” เขากล่าว
ขณะที่ มิเชล เพจ รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางของฮิวแมนไรตส์วอตช์ ก็กล่าวในแถลงการณ์เช่นกันว่า “ทางการไทยควรหยุดการเนรเทศโดยทันที และอนุญาตให้เธอเดินทางไปออสเตรเลียต่อ หรืออนุญาตให้เธออยู่ในประเทศไทยเพื่อขอความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย”
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน 2560 ดีนา อาลี เลสลูม หญิงชาวซาอุดิอาระเบียอีกหนึ่งคนก็ถูกยับยั้งการเดินทางในฟิลิปปินส์ เมื่อเธอพยายามหนีครอบครัวของเธอ
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสายการบินบอกกับนักกิจกรรมว่า ได้ยินดีนา “กรีดร้องและขอความช่วยเหลือ” ขณะที่ผู้ชายคนหนึ่งหิ้วตัวเธอ “ที่ถูกเทปพันที่ปากเท้าและมือ” ที่สนามบิน
ล่าสุด เมื่อเวลา 18.11 ที่ผ่านมาของวันนี้ (จันทร์) โซเฟีย แมคนีล ผู้สื่อข่าวของเอบีซีนิวส์ ได้ทวีตว่า สหประชาชาติสามารถพบกับราฮาฟได้แล้ว “สหประชาชาติมาถึงแล้ว พวกเขากำลังสัมภาษณ์ราฮาฟ และให้สัญญาว่าเธอจะอยู่ในความดูแลของพวกเขา และตอนนี้เธอปลอดภัยแล้ว นี่คือสิ่งที่พวกเขาสัญญา”
UN has arrived. They are interviewing Rahaf. They gave their word that she would remain in their custody & that she is now safe. This is what they promised @UNHCRThailand @Reaproy @melissarfleming
— Sophie McNeill (@Sophiemcneill) January 7, 2019