ซาอุฯ จับใส่กุญแจมือ เนรเทศชาวโรฮิงญาไปบังกลาเทศ (คลิปวิดีโอ)

เด็กชายคนหนึ่งยืนอยู่หน้าเต็นท์ที่บริจาคโดยซาอุดิอาระเบียที่ค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่า [ไฟล์: Jonas Gratzer / Getty Images] Via Aljazeera

ชาวโรฮิงญาหลายสิบคนถูกเนรเทศจากซาอุดิอาระเบียไปยังบังกลาเทศ แม้พวกเขาจะมาจากพม่าก็ตาม อัลจาซีรารายงานอ้างมิดเดิลอีสต์อาย

ในวิดีโอคลิปที่ถูกส่งไปยังเว็บไซต์ของสำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อาย (MEE) เมื่อวันอาทิตย์ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา เผยให้เห็นมีคนเข้าแถวรอการเนรเทศที่ศูนย์กักกันชูมัยซี (Shumaisi) ในเจดดาห์

ชาวโรฮิงญาบางคนถูกใส่กุญแจมือหลังจากที่พวกเขาพยายามที่จะต่อต้านการเนรเทศไปยังบังกลาเทศ ตามคลิปที่ถูกส่งถึงสำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อาย

ชายชาวโรฮิงญาที่ถ่ายทำวิดีโอกล่าวว่า ผู้ชายที่ถูกขังในศูนย์กักกันซาอุดิอาระเบียนานถึงหกปีก็จะถูกเนรเทศ

“ผมอยู่ที่นี่มาห้าถึงหกปีแล้ว ตอนนี้พวกเขากำลังส่งผมไปยังบังกลาเทศ โปรดอธิษฐานให้ผมด้วย” ชายในวิดีโอกล่าว

“ พวกเขามาถึงห้องขังของเราในตอนกลางคืนเวลา 12.00 น. (เที่ยงคืน) บอกให้เราเก็บกระเป๋าและเตรียมพร้อมสำหรับบังกลาเทศ” นักโทษชาวโรฮิงญาที่ขอให้ปิดบังชื่อบอกกับมิดเดิลอีสต์อาย

“ตอนนี้ผมถูกใส่กุญแจมือและถูกนำตัวส่งไปยังประเทศที่ผมไม่ได้จากมา – ผมเป็นชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชาวบังกลาเทศ”

มีรายงานว่าพวกเขาหลายคนเข้าประเทศซาอุดิอาระเบียด้วยวีซ่าแสวงบุญ แต่อยู่เกินกำหนดเพื่อทำงาน

ผู้ถูกคุมขังบางคนถูกขังบอกว่า พวกเขาอาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียตลอดชีวิตของพวกเขา และถูกส่งไปยังศูนย์กักกันหลังจากตำรวจซาอุดิอาระเบียพบพวกเขาที่ไม่มีเอกสาร

ไม่มีใครพร้อมช่วยเหลือ

เนย ซาน ลวิน (Nay San Lwin) นักกิจกรรมชาวโรฮิงญาบอกกับอัลจาซีรา จากแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีว่า ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เข้าสู่ซาอุดิอาระเบียในปี 2012 (พ.ศ.2555) หลังจากความรุนแรงในรัฐยะไข่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

ตั้งแต่นั้นมาพวกเขาได้ช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ แต่เมื่อเครื่องของพวกเขาลงจอดในกรุงธากา พวกเขาจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยและถูกนำไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์

เนย ซาน อธิบายว่า เมื่อเข้าสู่ซาอุดิอาระเบีย ลายนิ้วมือของพวกเขาได้รับการลงทะเบียนเป็น “อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เนปาล” เนื่องจากไม่ยอมรับตัวตนของชาวโรฮิงญา

“ตามกฎหมายของซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากพวกเขาถูกจดทะเบียนเป็นสัญชาติอื่น เราจึงไม่สามารถทำสิ่งใดในแง่ของความช่วยเหลือทางกฎหมายได้” เนย ซาน กล่าว และว่า

“ซาอุดิอาระเบียจะนำเจ้าหน้าที่จากสี่สถานทูตไปที่ศูนย์กักกัน สถานทูตสามแห่งปฏิเสธ [ที่จะยอมรับพวกเขา] บังกลาเทศเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยอมรับพวกเขา”

ชาวมุสลิมโรฮิงญาจากพม่านั้นถูกอธิบายว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกรังแกมากที่สุดในโลก พวกเขาต้องเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงในพม่ามานานหลายทศวรรษ

ชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนถูกบังคับให้ลี้ภัยในบังกลาเทศหลังจากกองทัพพม่าตอบโต้การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธ และได้เปิดปฏิบัติการทางทหารอย่างโหดร้ายเพื่อต่อต้านชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศในปี 2560