โดยในที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาของการสอนภาษาไทยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่นักเรียนควรจะได้รับ โดยครูที่สอนส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาเอกภาษาไทย หรือไม่ได้รับวุฒิการศึกษาและ ใบประกอบวิชาครูจากคุรุสภาโดยตรง อีกทั้งคุณครูและนักเรียนมีการใช้ภาษาถิ่นคือภาษามาลายู ในการสื่อสารเป็นหลักจึงทำให้อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ชัดเจน ไม่รู้จักพยัญชนะและสระของภาษาไทย เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนได้มีมาตรการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ ด้วยการหากิจกรรมที่สอดแทรกสื่อการเรียนการสอนภาษาไทย ให้สามารถสะกดคำและเขียนตามคำบอก สามารถกล้าแสดงออก มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับครูผู้สอนอย่างสนุกสนานโดยใช้ภาษาไทยเป็นหลัก รวมถึงมีนิสัยรักการอ่านหนังสืออีกด้วย
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีความเป็นห่วงการเรียนการสอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและถวายรายงานต่อพระองค์ในเรื่องของการพัฒนาด้านการศึกษาว่ามีความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้วบ้าง ซึ่งถือว่าการศึกษาในพื้นที่ของเราเป็นโครงการพิเศษที่เราจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาทำให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ ถึงแม้ว่าในพื้นที่ของเราตอนนี้กำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ หลายแง่มุมเราก็จะต้องรักษาแผ่นดินไทยของเราไว้ รวมถึงเยาวชนที่เติบโตมาจะต้องเป็นคนดี มีงานทำในอนาคตต่อไป
รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เบื้องต้นต้องขอบคุณคณะคุณครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำให้เด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยหาเทคนิคหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดแทรกนำมาเป็นสื่อการเรียนการสอนเพิ่มเติมลงไปให้มีความเหมาะสมตามระดับชั้น
และหลังจากการหารือจบสิ้น ศอ.บต. จะร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมหากิจกรรมที่หาสามารถเสริมสร้างให้ตรงกับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพชีวิตทางการศึกษาที่ดีขึ้น