นายสมัย เจริญช่าง อดีต ส.ส.กทม. หลายสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ร่อนจดหมายลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ซัดพรรคฯ ไม่มีนโยบายเพื่อมุสลิม และไม่เคารพเสียงประชาชนในพื้นที่
เมื่อวันพุธ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา โลกโซเชียลของชาวมุสลิมได้มีการเผยแพร่และแชร์จดหมายลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ของนายสมัย เจริญช่าง อดีต สส. หลายสมัย จากพรรคประชาธิปัตย์
ใจความในจดหมายลาออกของนายสมัย ระบุว่า ตน “เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 34 ปี บัดนี้มีความจำเป็นต้องขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ในจดหมายฉบับนี้นายสมัยไม่ได้อธิบายว่าอะไรคือ “ความจำเป็น” ของเขาในการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้
ทว่าในการเป็นวิทยากรอบรมศาสนธรรม ของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เมือวันที่ 12 ม.ค. เขากล่าวว่า วันนี้ตนตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หลังทำงานการเมืองมา 33 ปี และจะได้พูดของจริงให้พี่น้องเข้าใจ “จนถึงวันนี้ผมก็สดับตรับฟังทุกพรรค ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เขียนนโยบายถึงมุสลิมเลยแม้แต่พรรคเดียว รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมเป็นสมาชิกทำงานมาให้ 33 ปี” นายสมัยกล่าว
เขากล่าวต่อว่า ที่พรรคการเมืองไม่เขียนนโยบายเกี่ยวกับมุสลิม “เพราะทุกพรรคกลัวว่าถ้าเขียนเกี่ยวกับมุสลิม เดี๋ยวคนพุทธจะไม่เลือก” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าเขาหมายถึง “พุทธที่ต่อต้านอิสลาม”
“ผมไปบอกคุณอภิสิทธิ์ตั้งแต่ 1 เมษายนว่า เรื่องของอิสลามมี 2 สองกลุ่ม คือกลุ่มใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มนอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดังนั้น) ต้องทำนโยบายต่างกัน”
“ถ้าไม่มีคนทำผมอาสาตั้งทีมงานขึ้นมาทำให้สำหรับนโยบายที่เกี่ยวกับมุสลิมนอก 3 จชต.” เขากล่าว “แต่ปรากฏว่าคุยตั้งแต่ 1 เมษายนมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ไม่มีเสียงตอบรับ”
ด้วยเหตุนี้เขาจึงบอกว่าจะไปลาออกจากสมาชิกพรรค “เพราะถ้าอยู่แล้วทำอะไรเพื่อมุสลิมไม่ได้แล้วจะไปอยู่ทำไม” นายสมัยกล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือน ม.ค. นายสมัย ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวสด ว่าในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้ ตนขอประกาศเว้นวรรค ไม่ร่วมยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมใด ที่จะเกี่ยวกับการเลือกตั้งพื้นที่ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป
“วันนี้บริบทการเมืองเปลี่ยน จากเดิมนักการเมืองต้องเข้าหาประชาชน ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านในพื้นที่ แต่ปัจจุบัน นักการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง ไม่ทำการบ้าน อาศัยชื่อเสียง และกระแสเฉพาะหน้าภายใต้ยุคโซเชียลมีเดีย สื่อสารทางเดียวไปสู่ประชาชนมากกว่าการรับฟัง ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ฟังเสียงจากสาขาพรรค”
“โดยเฉพาะการเสนอบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ปัจจุบันปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ บริหารแบบรวมศูนย์ แม้จะมีสาขาพรรค แต่ไม่ให้น้ำหนักความสำคัญ ไม่ฟังผู้นำชุมชนในเขตเลือกตั้ง คำนึงถึงแต่ความพอใจของผู้บริหารพรรค พรรคการเมืองในปัจจุบันจึงไม่ใช่พรรคของประชาชน”
“โฉมหน้า ส.ส. ในระยะหลัง เป็นผู้แทนของกลุ่มทุน นักธุรกิจการเมือง ผู้รับเหมา ขาดโอกาสที่จะได้คนดีมาเป็นผู้แทน ขาดนักการเมืองมีอุดมการณ์ จริงใจต่อประชาชน ตนออกมาพูดวันนี้ ไม่ต้องการกดดันใดๆ แต่ต้องพูดเพราะรักพรรค ที่ได้ทำงานทุ่มเทชีวิตจิตใจให้มาตลอดไม่แพ้คนอื่น ถ้าวันนี้ตนไม่ออกมาสะท้อนข้อเท็จจริง คงมองหน้าพี่น้องในพื้นที่ไม่ติดแน่นอน” นายสมัย เจริญช่าง กล่าวตามรายงานของข่าวสด
สำหรับเขตคลองสามวา พื้นที่เดิมของนายสมัย พรรคประชาธิปัตย์ได้พิจารณาส่ง นางฮูวัยดียะห์ พิศสุวรรณ อุเซ็ง อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช น้องสาวดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งได้ทิ้งนครศรีธรรมราชมาลงในพื้นที่นี้แทน
ขณะที่แหล่งข่าวจากบุคคลในแวดวงพรรคประชาธิปัตย์บอกกับเดอะพับลิกโพสต์ว่า ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นายสมัย อยู่ในฝั่งสมาชิกพรรคที่สนับสนุน “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” เป็น ““แคนดิเดต” ท้าชิงผู้นำพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมแข่งกับ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อผลสรุปออกมาว่านายอภิสิทธิ์ได้เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย ก็มีการลดบทบาทของสมาชิกที่ออกหน้าหนุนหมอวรงค์ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างนายสมัย เจริญช่าง กับพรรคประชาธิปัตย์ และนำมาสู่การถอนตัวในเวลาต่อมา
นายสมัย เจริญช่าง เป็น อดีต ส.ส.กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก ในปี พ.ศ. 2538 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2539 ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งในการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 จากนั้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. สมัยที่ 3
แต่ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 นายสมัยไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย ในพื้นที่เขตคลองสามวา ไปเพียงไม่กี่ร้อยคะแนน
นอกจากบทบาทในฐานะนักการเมืองมุสลิมชื่อดังแล้ว นายสมัยยังมีบทบาทในองค์บริการกิจการศาสนาอิสลาม เคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และปัจจุบันมีบทบาทอย่างสูงในคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร โดยดำรงตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามฯ ในโควต้ากทม.