หอการค้าไทย จัด10อันดับธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงปี 62 “สุขภาพ-ออนไลน์-ท่องเที่ยว”มาแรงแซงโค้ง “ธุรกิจหัตถกรรม สื่อสิ่งพิมพ์”น่าห่วง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า 10 อันดับธุรกิจเด่น ปี 2562 มีการพิจารณาจากเกณฑ์ด้านยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุน หรือกำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน และพิจารณาจากความต้องการและความสอดคล้องกับกระแสนิยม รวมทั้งสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่จะมีส่วนสนับสนุน และบั่นทอนการดำเนินธุรกิจ พบว่าปี 2562 ธุรกิจดาวรุ่งได้แก่
อันดับที่ 1 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขยับจากอันดับ 3 ในปีที่ผ่านมา ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก และยังมีช่องทางการจำหน่ายจำนวนมาก รวมทั้งต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แม้จะมีความเสี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และร้านค้าต้องมีความน่าเชื่อถือ
อันดับที่ 2 คือ ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงามที่ยังคงอันดับเดิมจากปีที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ของไทยมีคุณภาพและราคาไม่แพง
อันดับที่ 3 คือ ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว ขยับจากอันดับ 4 ในปีที่แล้วตามพฤติกรรมการดูแลผิวพรรณของทุกช่วงวัยเพิ่มขึ้น
อันดับ 4 คือ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงผู้ให้บริการโครงข่าย และธุรกิจขนส่ง และธุรกิจเกม
อันดับ 5 เป็นธุรกิจด้านฟินเทค และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี
อันดับ 6 ธุรกิจทางการท่องเที่ยวโฮสเทล และธุรกิจบนสตรีทฟู้ด
อันดับ 7 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจผู้สูงอายุ และธุรกิจประกันชีวิต
อันดับ 8 ธุรกิจด้านติวเตอร์ สถาบันสอนภาษา โดยเฉพาะจีนและอังกฤษ
อันดับ 9 เป็นธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ
อันดับที่ 10 ธุรกิจคาร์แคร์ และธุรกิจสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณาและบรรจุภัณฑ์
ขณะที่ 10 อันดับดาวร่วงปี 2562 ได้แก่
อันดับ 1 คือ ธุรกิจเช่าหนังสือ ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ไม่มีการปรับตัว
อันดับ 2 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายซีดีและดีวีดี
อันดับ 3 ธุรกิจร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต และธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และวารสาร
อันดับ 4 ธุรกิจทำผลิตภัณฑ์หนัง ฟอกหนัง
อันดับ 5 ธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน
อันดับ 6 ธุรกิจสถานศึกษาเอกชน และธุรกิจพ่อค้าคนกลางทางการเกษตร
อันดับ 7 ธุรกิจของเล่น
อันดับ 8 ธุรกิจผลิตสังกะสี
อันดับ 9 ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม และทำดอกไม้ ใบไม้ประดิษฐ์
อันดับที่ 10 ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ และธุรกิจปาล์มน้ำมัน
ทั้งนี้ การประเมินธุรกิจที่โดดเด่นปีนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 4 – 4.2 แม้จะยังมีผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า แต่จะมีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ที่เม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงมาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ รวมทั้งนโยบายการลงทุนภาครัฐ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากยุค 3.0 ไปสู่ยุค 4.0 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจ จะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง