วิถีมุสลิม: อิสลามกับวัฒนธรมมลายู

Photo AP


โดย อุสตาซอับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
shukur2003@yahoo.co.uk


 

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์พระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

อิสลามเป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การมอบ การยอมจำนน การยอมแพ้ และการยอมตาม สำหรับความหมายศัพท์ทางวิชาการ  ได้ให้ความหมายของอิสลามไว้ว่า “อิสลามคือการยอมจำนนต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ในคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม ผู้ใดที่ยอมจำนนทั้งกาย วาจา และใจในทุกๆ สิ่งต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) เขาผู้นั้นคือ มุสลิม ผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อเอกองค์อัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา)” ดังที่พระองค์ได้เคยตรัสแก่นบีอิบริฮีม (อะลัยฮิสลาม)

ความว่า “เมื่อครั้งที่ผู้อภิบาลของเรา (อิบรอฮีม) ได้ตรัสแก่เขาว่า เจ้าจงเป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์เถิด เขาก็ตอบว่า ข้าพเจ้าได้เป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์ต่อผู้อภิบาล” (อัลบากอเราะฮฺ : 131)

สำหรับสิ่งที่อิสลามถือว่าสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกและเป็นรากฐานคือ หลักการศรัทธาในพจนานุกรมอาหรับ ได้ให้ความหมายของการศรัทธาไว้ว่า “ศรัทธาแปลว่า เชื่อ ดังที่อัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา)” ได้ตรัสในอัลกุรอานความว่า “และท่านยังไม่ได้เป็นผู้ศรัทธา (ชื่อ) ต่อเรา” (ยูซุฟ:17)

ท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะห์ (ฮ.ศ. 80 – 150) ได้ให้ความหมายของการศรัทธาในหนังสือ al-Fiqh al-Akbar ของท่าน อาลี อัลกอรี  ไว้ว่า “การศรัทธานั้นจะต้องประกอบด้วยการยอมรับและการเชื่อ คือการยอมรับด้วยวาจา และเชื่อด้วยจิตใจ ซึ่งจะต้องอยู่คู่กันขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้”

ท่านเมาดูดีย์  มีทัศนะว่า ความศรัทธาจะต้องเกิดมาจากความรู้ก่อน “ศรัทธาถ้าจะแปลตามตัวอักษรแล้ว แปลว่า รู้ เชื่อ และเชื่อถือโดยไม่มีข้อสงสัย ดังนั้นศรัทธา คือ ความเชื่อที่เกิดขึ้นจากความรู้และความเชื่อถือ ผู้ซึ่งเชื่อถือในเอกภาพของอัลลอฮ เชื่อถือในคุณลักษณะของพระองค์ เชื่อถือในบทบัญญัติของพระองค์ กฎการให้รางวัลและลงโทษของพระองค์แล้วก็จะได้รับขนานนามว่า ผู้ศรัทธา”

หลักศรัทธาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในอิสลาม ผู้ใดปฏิเสธหลักศรัทธาการงานของเขาจะไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮ ในที่สุดเขาจะเป็นผู้ที่ขาดทุนในวันอาคีเราะห์ (โลกหน้า) ดังที่อัลลอฮตรัสไว้ในอัลกุรอาน

ความว่า “และผู้ใดปฏิเสธการศรัทธาดังนั้นการงานของเขาก็ไร้ผลอย่างแน่นอน และเขาจะเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ที่ขาดทุนในวันอาคีเราะห์” (อัลมาอิดะฮฺ: 5)

สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามจะเรียกว่ามุสลิม การจะเป็นมุสลิมที่ศรัทธาและถูกยอมรับจากพระเจ้าและสังคมมุสลิมนั้น ผู้นั้นจะพร้อมที่จะยอมจำนนต่อพระเจ้าที่มีพระนามว่าอัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ในคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม ผู้ใดที่ยอมจำนนทั้งกาย วาจา และใจในทุกๆ สิ่งต่ออัลลอฮ (ซุบหานะฮูวตะอาลา) ทรงสั่งใช้โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิม

สำหรับหลักศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้นประกอบด้วย ๖ ประการด้วยกัน

๑.  การศรัทธาว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้า
๒. การศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์
๓. การศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของพระองค์
๔. การศรัทธาในบรรดาศาสนทูต(รอซูล)ของพระองค์
๕. การศรัทธาในวันสิ้นโลก (อาคิเราะฮ์) หรือวันพิพากษา
๖.  การศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะการณ์ ว่ามาจากอัลลอฮ์ทั้งสิ้น นั่นคือศรัทธาว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดำเนินไปนั้นมาจากการกำหนด และอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ ในทางตรงกันข้ามหากพระองค์ไม่ประสงค์ในสิ่งใดหรือยับยั้งในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นเช่นกัน

ในขณะที่หลักปฏิบัติประกอบด้วยหลักพื้นฐาน ๕ ประการ คือ

๑. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.” ซึ่งแปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพภักดีอย่างเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ.และมุฮัมมัดเป็นศาสนฑูตของพระองค์.

๒. การนมาซหรือละหมาด  วันละ 5 เวลา
๓. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
๔. การจ่ายซะกาตหรือทานบังคับ
๕. การประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮสำหรับผู้ที่มีความสารถ

แต่ทั้งห้าประการนี้ในหมวดการประกอบศาสนกิจ เพราะหลักนิติศาสตร์  แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ

1. หมวดการประกอบศาสนกิจตามที่เกล้ามาแล้ว

2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ) อันหมายถึงบรรดาหลักการเฉพาะ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น การซื้อขาย, การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ การสมรส และการตัดสินข้อพิพาท เป็นต้น

ในส่วนของนักวิชาการ สังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ได้แบ่งหมวดของกฎหมายอิสลาม ออกเป็น 4 หมวด คือ
•    หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ)
•    หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ)
•    หมวดลักษณะอาญา (อัลอุกูบาตฺ)
•    หมวดการสมรส (อัซซะวาจฺญ์) หรือกฎหมายครอบครัว (อะฮฺกาม – อัลอุสเราะฮฺ)

* จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเภทหมวดของกฎหมายอิสลาม มีความครอบคลุมถึง เรื่องราวทางศาสนา และทางโลก ในขณะที่หลักนิติธรรมอิสลาม ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐาน ของการจัดระเบียบ ที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกมิติ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางจิตวิญญาณ, จริยธรรม และวัตถ

หลักพื้นฐาน ๕ ประการเปรียบเสมือนเสาห้าต้นของอิสลาม ซึ่งเสหมือน “บ้าน” หรืออาคารที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญบ้านจะต้องสร้างขึ้นมาจาก “เสา” โดยเสาทั้ง 5 ต้นได้เล่นบทบาทในการค้ำจุนสังคมมุสลิมในมิติที่แตกต่างกัน การปฏิญานตนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเล่นในบทบาทของอุดมการณ์  ตามด้วยการละหมาดวันละ 5 เวลา เข้ามาเล่นบทบาทในสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างสัมพันธ์เริ่มต้นกับอัลลอฮฺ  ในอีกด้านหนึ่งเป็นการก่อร่างชุมชนมุสลิมพื้นฐานโดยมีมัสญิดเป็นศูนย์กลาง ส่วนการจ่ายซะกาตทุกปีเข้ามาเล่นบทบาทการกระจายความมั่งคั่งทางวัตถุและการสถาปนาพื้นฐานความยุติธรรมในสังคม และการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้เข้ามาเล่นบทบาทเป็นโรงเรียนของการฝึกอบรมผู้ศรัทธาในหลากหลายมิติ สำหรับฮัจญ์ที่กำหนดให้ผู้มีความสามารถกระทำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตได้ เข้ามาเล่นบทบาทชุมชนโลกของอุมมะฮฺอิสลามที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ

องค์ประกอบหลักทั้งสองจะต้องสะท้อนจากความบริสุทธิใจซึ่งในศาสนาอิสลามเรียกว่า หลักคุณธรรม (อัลเอียะฮฺซาน)   หลักทั้ง 3 ประการนี้ได้มาจากคำสอนของ ท่านนบีมุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้วัจนะไว้ ความว่า  “ขณะที่เรากำลังอยู่กับท่านศาสนฑูตในวันหนึ่ง มีชายผู้หนึ่งได้ปรากฎกายขึ้น เขาใส่อาภรณ์ที่ขาวสะอาด มีผมดำขลับ โดยที่ไม่มีร่องรอยของการเดินทางปรากฏให้เห็น ไม่มีผู้ใดในหมู่เราที่รู้จักเขา จนกระทั่งเขาเข้ามานั่งเอาเข่าเกยกับเข่า ของท่านนบี และเอามือทั้งสองวางลงบนหน้าตักของท่านนบีแล้วกล่าวว่า”โอ้..มุฮัมหมัด โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัลอิสลาม” ท่านตอบว่า “คือการปฏิญาณตนว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลัลลอฮฺ มูฮำหมัดรอซูลุ้ลลอฮฺ และการดำรงละหมาด การบริจาคซะกาต การถือศิลอดเดือนรอมฎอน และการทำฮัจญ์หากมีความสามารถจะไปได้” ชายผู้นั้นกล่าวว่า “ท่านพูดถูกแล้ว” (ท่านอุมัร) กล่าวว่า เราแปลกใจเหลือเกินที่เขาถามแล้วยืนยันในคำตอบเสียเองเขาถามต่อไปว่า “โปรดบอกฉันเกี่ยวอัลอีหม่าน” ท่านนบีตอบว่า “คือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ, ต่อมาลาอิกะฮฺ, ต่อคัมภีร์, บรรดาศาสนฑูตขอพระองค์, วันอวสาน และศรัทธาในเรื่องการกำหนดความดีและความชั่วของพระองค์” ชายผู้นั้นกล่าวว่า “ท่านพูดถูกแล้ว”เขายังถามต่อไปอีกว่า “โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอัลเอียะฮฺซาน” ท่านนบีตอบว่า “คือการที่ท่านจะต้องสักการะต่ออัลลอฮฺประหนึ่งว่า ได้เห็นพระองค์ แม้ว่าท่านไม่เห็นพระองค์ก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงเห็นท่าน”

หลักทั้ง 3 ประการดังที่กล่าวมา จะต้องสามารถบูรณาการกันได้และเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเชื่อมโยงกันมาตรแม้นผู้ใดผู้หนึ่งปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ ได้อย่างครบถ้วนแต่หลักศรัทธาผิดเพี้ยน ฉะนั้นการปฏิบัติของเขาก็ไร้ผล หรือคนที่หลักศรัทธาถูกแต่ปฏิบัติไม่ถูก ก็ไร้ผลเช่นเดียวกัน หรือคนที่มีหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติสมบูรณ์ แต่ขาดความบริสุทธิ์ใจในความเชื่อหรือในการปฏิบัตินั้น งานของเขาก็ไร้ผลเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างของผู้ที่มีหลักศรัทธาไม่ถูกต้องงานของเขาก็ไร้ผล เช่น คำตัดสินของท่านอิบนุ อุมัร เกี่ยวกับผู้ที่เชื่อเรื่องการกำหนดสภาวะการณ์ ผิดพลาด ดังนี้ “หากว่าคนใดในหมู่พวกเขามีทองประหนึ่งดังภูเขาอุฮุดแล้วเขาก็บริจาคมันไป อัลลอฮฺก็จะไม่รับการบริจาคจากเขาจนกว่าเขาจะศรัทธา ในเรื่องการกำหนดสภาวะการณ์อย่างถูกต้องเสียก่อน”  ตัวอย่างของผู้ที่เชื่อถูกแต่ปฏิบัติไม่ถูก งานของเขาก็ไร้ผลดังนี้

ท่านอิบนุ อุมัรกล่าวว่า “ฉันเคยได้ยินท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า การละหมาดโดยไม่มีน้ำละหมาดนั้น จะไม่ถูกตอบรับ และการบริจาคจากทรัพย์ที่ยักยอกมาจะไม่ถูกตอบรับเช่นเดียวกัน”

ตัวอย่างของผู้ที่เชื่อถูกและปฏิบัติก็ถูกแต่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ (เพื่อพระเจ้าองค์เดียว) งานของเขาก็ไร้ผล ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ว่า”และพวกเขามิได้ถูกใช้เพื่อสิ่งใด นอกจากเพื่อการสักการะต่ออัลลอฮฺอย่างผู้ที่บริสุทธิ์ใจ” (อัล-บัยยินะฮฺ:5)

จากหลักการอิสลามดังกล่าวทำให้ศาสนาอิสสลามคือแนวทางการดำเนินชีวิตหรือธรรมนูญชีวิต (Code of Life) ของมุสลิมทุกคนที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามจนเป็นวิถีวัฒนธรรม  ถึงแม้จะมีกฎหมายของแต่ละประเทศรองรับหรือไม่รวมทั้งประเทศไทย       ดังที่สมบูรณ์ พุทธจักร ให้ทัศนะว่า “ประเทศไทยรู้จักคุ้นเคยกับกฎหมายอิสลามมาช้านานพร้อมๆ กับการเข้ามาของศาสนาอิสลามในประเทศไทย  เมื่อมุสลิมเป็นประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศไทย  ศาสนาอิสลามจึงเป็นศาสนาหนึ่งของประเทศไทย  ดังนั้นกฎหมายอิสลามจึงถือเป็นกฎหมายอีกประเภทหนึ่งของประเทศไทยโดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยึดปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะได้รับการรับรองจากรัฐหรือไม่ก็ตามมุสลิมก็มีความจำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติ ”  ในขณะเดียวกันการจะพัฒนาการเมือง  เศรษฐกิจ สังคม  การศึกษา  ศาสนา วัฒนธรรมในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลาม

วิถีวัฒนธรรมมุสลิมข้างต้นจะต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลามเท่านั้นจึงจะเรียกว่าวัฒนธรรมอิสลาม   ดังนั้นวิถีวัฒนธรรมของมุสลิมจะต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลามซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักสองประการคือคำสั่งของอัลลอ์และแบบฉบับของท่านร่อซู้ลมุฮัมมัด โดยจะต้องผ่านหลักฐานอ้างอิงอัน ประกอบด้วยคัมภีร์อัลกรุอาน อัล สุนนะฮฺ (วัจนศาสดา) อัล อิจมาอฺ(ความเห็นที่เหมือนกัน) อัล กิยาส (การผนวกเหตุการณ์ที่ไม่มีหลักฐานกำหนดบทบัญญัติ)

จะเห็นได้ว่า วิถีของความเป็นมุสลิม จะผูกยึดกับหลักปฏิบัติอย่างแน่นหนา โดยมีพื้นฐานจากหลักความเชื่อทางศาสนาเป็นตัวกำหนด อันแสดงความเป็นอัตลักษณ์มุสลิมอย่างชัดเจน

อัตลักษณ์มุสลิม (Muslim Identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อมุสลิมว่า “มุสลิมคือใคร” ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ระหว่างตัวมุสลิมกับคนอื่น โดยผ่านการมองของมุสลิมและการที่คนอื่นมองมุสลิม อัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) ในตัวมุสลิมและพื้นฐานของการเลือกบางอย่าง นั่นคือมุสลิมจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่มุสลิมเลือก ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ การระบุได้ว่ามุสลิมมีอัตลักษณ์ทีอยู่ภายใต้หลักการอิสลาม และมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่น อื่นที่ไม่ใช่มุสลิม

ฉลาดชาย รมิตานนท์ กล่าวว่าอัตลักษณ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ ตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างของวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่ง และวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคม (social construct) นอกจากนี้วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหรือตายตัว หากแต่มีรูปแบบเป็นวงจรที่เรียกว่า “วงจรแห่งวัฒนธรรม” (circuit of culture) ดังนั้นอัตลักษณ์ทั้งหลายจึงมีกระบวนการถูกผลิต (produced) ให้เกิดขึ้น สามารถถูกบริโภค (consumed) และถูกควบคุมจัดการ (regulated) อยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้น และทั้งนี้ยังมีการสร้างความหมายต่างๆ (creating meanings) ผ่านทางระบบต่างๆ ของการสร้างภาพตัวแทน (symbolic systems of representation) ที่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ทางอัตลักษณ์อันหลากหลายที่สามารถเลือกใช้ หรือนำเอามาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของของแต่ละคน

ประเวศ วะสี (2545) กล่าวว่าวิถีชีวิตชุมชนคือวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ อันประกอบด้วย ความเชื่อร่วมกัน การมีระบบคุณค่าร่วมกัน การทำมาหากิน ภาษา การดูแลรักษาสุขภาพ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ควรสังเกตว่าในขณะวัฒนธรรมเป็นบูรณาการของวิถี ชีวิตทั้งหมด แต่เศรษฐกิจแบบที่เข้าใจกันอย่างปัจจุบัน เป็นเรื่องแยกส่วนที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง

ดังนั้นอัต ลักษณ์นักศึกษามุสลิมอันมีฐานมาจากวัฒนธรรมและวิถีแห่งชุมชน จึงอาจให้นิยามโดยง่ายว่า การแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของนักศึกษามุสลิมโดยมีพื้นฐานอยู่บนวัฒนธรรม ประเพณี อันสืบเนื่องมาจากหลักการแห่งศาสนาอิสลามและวิถีแห่งมุสลิมเป็นตัวกำหนด

แล้วอะไรคือวิถีมุสลิม วิถีมุสลิมเป็นวิถีที่ยึดโยงกับแก่นแกนของอิสลาม 3 ประการ อันได้แก่หลักศรัทธา หลักศาสนบัญญัติ ตลอดจนหลักคุณธรรมจริยธรรม   ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องทำความเข้าใจ การมีศรัทธาในอิสลามนอกจากจะต้องได้รับการยืนยันด้วยวาจา โดยการกล่าวปฏิญาณตนและโดยการปฏิบัติด้วยการนมาซ(ละหมาด) ถือศีลอด จ่ายซะกาต(การจ่ายทานบังคับ) และไปทำฮัจญ์แล้ว ยังต้องแสดงออกในชีวิตประจำวันตามแบบอย่างที่ท่านศาสดามุฮัมมัดปฏิบัติไว้ ให้เป็นแบบอย่างด้วย

อีกทั้งอิสลามสอนว่า มนุษย์ถูกส่งมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้เป็นการชั่วคราวและมีชีวิตที่แตกต่างกัน ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ฐานะและโอกาส ทั้งนี้เพื่อให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน แต่สิ่งที่มนุษย์จะได้รับเหมือนกันคือการทดสอบจากอัลลอฮฺตลอดทั้งชีวิต ว่าเขาจะนึกถึงและศรัทธาต่อพระองค์หรือไม่

ดังที่ อัลซุฮัยลีย ให้ทัศนะว่า หลักฐานที่นักวิชาการส่วนมากเห็นพ้องกัน ซึ่งประกอบด้วยคัมภีร์อัลกรุอาน อัล สุนนะฮฺ (วัจนศาสดา) อัล อิจมาอฺ (ความเห็นที่เหมือนกัน) อัล กิยาส (การผนวกเหตุการณ์ที่ไม่มีหลักฐานกำหนดบทบัญญัติ)

เช่น อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง  นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีให้ทรรศนะ งานบุญและการละเล่นเป็นสิ่งที่คู่กับชุมชนนั้นมาตั้งแต่อดีตเพียงแต่นำหลักศาสนาอิสลามมาบูรณาการ “ในบางกิจกรรมเป็นวิถีดั้งเดิมที่ตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเก่าที่มีอิทธิพลพื้นฐานเป็นของวิถีฮินดู พราหมณ์ และความนิยมในสังคม เช่น

1. งานบุญ  งานแต่งงาน มีกิจกรรมบางประการที่เป็นลักษณะอิทธิพลของฮินดู พราหมณ์ เช่น การทำบายศรี (บูงอซีเระฮฺ Bunga Sirihฺ) การป้อนข้าวเหนียวสี (ขาว แดง เหลือง ที่เรียกว่า Jemput Semangat หรือ Makan Semangat) การแห่ขบวนช้าง ตลอดจนการตกแต่งประดับประดาสถานที่ด้วยดอกไม้และสีสันอย่างสวยงาม ตลอดจนการนั่งเก้าอี้คู่กันเหมือนกับการนั่งบัลลังก์ (เกอราญางัน Kerajangan)ของบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน งานจัดเลี้ยงเนื่องในวันเข้าสุหนัตหรือมาซกยาวี (ขริบปลายหนังอวัยวะเพศชาย) บางครอบครัวจะมีการจัดงานเลี้ยงอาหารใหญ่โต เชิญแขกเหรื่อจำนวนมาก มีการแห่ขบวนช้างและมีการละเล่นบันเทิงหลากชนิด ซึ่งในทัศนะของศาสนาถือเป็นการฟุ่มเฟือย การโอ้อวด และทำให้หลงตัวเอง หลายกิจกรรมได้ถูกล้มเลิกลง คงเหลือเพียงกิจกรรมหลักเท่านั้น

2. งานกินน้ำชา (มาแกแต) เพื่อการกุศลหรือช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น สร้างศาสนสถาน โรงเรียน สถานสาธารณะ หรือการช่วยเหลือความเดือดร้อนเฉพาะบุคคล เป็นต้น ยังคงเป็นวิถีที่ยังคง หาดูได้ในสังคม “ชายแดนใต้”  แต่ก็อาจจะปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย  มีการเลี้ยงโต๊ะจีนบ้างในงานหารายได้ใหญ่ๆ  มีการเปิดบ้านเลี้ยงอาหารวันฮารีรายอในแต่ละที่ก็แตกต่างกัน

3. การละเล่นและการแสดง บางอย่างบางประเภทนอกจากจะเป็นการละเล่นที่ผสมผสานของวัฒนธรรมหลายๆ วัฒนธรรมมาประยุกต์เป็นของท้องถิ่น เช่น บาดิเกฮูลู (ดิเกฮูลู) มโนราห์ มะโย่ง ตตือรี (การแสดงเพื่อการรักษาโรค) การแห่นกในวรรณคดี หนังใหญ่ (วายังชวา วายังมลายู) หนังตะลุง (วายังกูเล็ต) ฯลฯ ปัจจุบันจะยังคงมีการแสดงบ้างแต่ค่อนข้างจะหาชมได้ยากขึ้น การละเล่นหรือการแสดงใดที่ล่อแหลมหรือขัดกับหลักการศาสนาจะถูกละทิ้งไป การขัดหลักศาสนา เช่น มีสตรีแสดงร่วมกับบุรุษ การร้องรำทำเพลงในที่สาธารณะ ผู้ชมผู้ร่วมที่ไม่แบ่งสถานที่ระหว่างชายหญิง เนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องที่เชิญชวนในเรื่องชู้สาว ไม่สุภาพ อิจฉาริษยา ดูถูกศาสนา กล่าวหาใส่ร้ายผู้อื่น ฯลฯ ในหลักการศาสนาต้องการจะปกป้องและป้องกันเรื่องความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแสดงหรือการละเล่นจึงได้กำหนดกรอบให้ปฏิบัติให้ชัดเจน

ตัวตนสังคมมลายูมุสลิมเป็นแบบอย่างหนึ่งในระบบนิเวศของประชาชนในประเทศ ความสวยงามที่มีพื้นฐานทางศาสนายังคงสามารถดำรงรักษาอย่างยาวนาน ถึงแม้จะมีพายุร้ายคลื่นลมแรงถาโถมด้วยความหนักหน่วงหนักหนาและสาหัสสากรรจ์มาโดยตลอดเพียงใดก็ตาม แต่สัจธรรมที่เป็นกรอบของชุมชนยังคงรับภาระหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างดียิ่ง เพียงแต่คนในสังคมประเทศจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด จะแยกแยะสัจธรรมและอวิชชาออกจากกันมากน้อยชัดเจนเช่นใด อย่างไร ระดับการยอมรับในความสวยงามของความหลากหลายของเพื่อนร่วมชาติมากน้อยเพียงใดเท่านั้น”  ที่สังคมมุสลิมในประเทศอื่นก็เช่นกันมีขนบธรรมเนียมประเพณี  แลการละเล่นที่แตกต่างกันตามเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ