นักการศาสนาและบุคคลสำคัญทางศาสนาอื่นๆ จาก “เฮาซะห์อิลมียะห์ แห่งเมืองนะจาฟ” (Hawza Illmiya) หรือศูนย์กลางการศึกษาศาสนาที่มีชื่อเสียงของมุสลิมชีอะห์ ได้เปิดตัวการสานเสวนาเพื่อการทำงานร่วมกันทางสังคมในอิรัก โครงการความร่วมมือของชุมชนนี้ริเริ่มด้วยการยื่นมือไปยังจังหวัดของมุสลิมซุนนีทางภาคตะวันตกและภาคเหนือซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อยจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายเมื่อเร็วๆ นี้
ในช่วงแรกของการริเริ่มโครงการคณะผู้แทนจากนาจาฟ ได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยอันบาร์ (Anbar) เมื่อวันที่ 10 มกราคม สำหรับการประชุมเพื่อเปิดช่องทางการสื่อสารกับนักวิชาการซุนนีและบุคคลสำคัญทางศาสนาอื่นๆ ศาสตราจารย์ นักศึกษา ปัญญาชน และสมาชิกภาคประชาสังคม
จาวาด อัล-คูอี (Jawad al-Khoei) ผู้ดูแลสถานศึกษาศาสนาดารุลอูลูม (Dar al-Ilm) ในนาจาฟและร่วมก่อตั้งความคิดริเริ่มนี้บอกกับสื่ออัลมอนิเตอร์ในจังหวัดอันบาร์ว่า เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อ “ส่งเสริมแนวคิดของการเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันในหมู่ชาวอิรักทั้งหมด และสนับสนุนค่านิยมการใช้ชีวิตร่วมกัน และการอยู่ร่วมกัน”
คณะผู้แทนที่ไปยังจังหวัดอันบาร์ ประกอบด้วยบุคคลจากส่วนต่างๆ ของสังคมนาจาฟ รวมถึงหน่วยงานทางศาสนา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกูฟะห์ และผู้นำเยาวชนจากองค์กรประชาสังคม (CSOs)
“การริเริ่มนี้จะรวมถึงการเยี่ยมเยียนจังหวัดศอลาฮุดดีนทางตอนเหนือของแบกแดด และโมซูลทางตอนเหนือของอิรัก” อัล-คูอีกล่าว “ ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในท้องถิ่นหลายแห่งในนาจาฟ ที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ รวมถึงโครงการริเริ่มการจัดการวิกฤตของฟินแลนด์ (Finnish Crisis Management Initiative) ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย”
มุสลิมซุนนีซึ่งเป็นประชากรหลักของอิรักในจังหวัดเหล่านี้ – อันบาร์ ศอลาฮุดดีน และโมซูล – ประสบความปวดร้าวจากการแตกแยกทางสังคม เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ของอิรัก หลังจากที่ไอซิสเข้ายึดครองและควบคุมดินแดนของพวกเขาเป็นเวลากว่าสามปี และก่อนช่วงเวลานั้นสังคมก็อยู่ในเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดจากความขัดแย้งทางนิกายระหว่าง “ซุนนีและชีอะห์” ที่เกิดหลังจากการรุกรานของสหรัฐฯในปี 2003 และการยึดครองที่ตามมา ทั้งหมดนี้ได้สร้างความไม่ไว้วางใจอย่างถลำลึกระหว่างซุนนีในจังหวัดเหล่านั้น และชาวอิรักในจังหวัดของชาวชีอะห์ และชาวเคิร์ดในพื้นที่ของชนส่วนน้อย
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการทำงานของสถาบันศาสนาและบุคคลสำคัญในนาจาฟเพื่อเปิดช่องทางการสื่อสาร และส่งเสริมความร่วมมือ ที่มุ่งสร้างความกลมกลืนทางสังคมระหว่างชาวซุนนีในจังหวัดเหล่านี้และพื้นที่อื่นๆ ของอิรัก
ในระหว่างคณะผู้แทนนี้เยือนจังหวัดอันบาร์ อัล-คูอีได้กล่าวกับปัญญาชนและอาจารย์จำนวนมากที่มหาวิทยาลัย อันบาร์ว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเยือนดังกล่าว ในที่สุดก็จะรวมชาวอิรักเข้าด้วยกันจากทุกสาขาอาชีพ ทุกภาคส่วน และจากทั่วทุกนิกาย
“เราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในเขตภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง หรือตะวันตก” อัล-คูอี กล่าว “พวกเขาทุกคนประสบปัญหาเดียวคือการทุจริต การให้บริการที่ไม่ดี และการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียม” เขาเน้นว่าทางออกเดียวสำหรับปัญหาเหล่านี้คือการมุ่งไปสู่การจัดตั้ง “สถานะความเป็นพลเมือง” อัล-คูอียังชี้ด้วยว่า ความคิดริเริ่มของนาจาฟนี้เป็นโครงการทางสังคมวิทยาและวัฒนธรรมที่ปราศจากวาระทางการเมืองใดๆ
อันที่จริงแล้ว ผู้ริรเริ่มโครงการนี้ในหน่วยงานทางศาสนาในนาจาฟคือ แกรนด์ อายะตุลเลาะห์ อะลี ซิสตานี จากคำกล่าวของอัล-คูอี ความคิดริเริ่มนี้วางอยู่บนความต้องการ “รัฐบาลที่ยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงศาสนาหรือนิกาย” “ผู้ปกครองจะต้องไม่ตัดสินตามศาสนาความเชื่อของตน แต่โดยความยุติธรรม” เขากล่าว
ในสุนทรพจน์และแถลงการณ์ที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชน “ซิสตานี” ซึ่งเป็นนักการศาสนาชีอะห์ที่มีอำนาจสูงสุดของอิรัก ได้สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวอิรักบนพื้นฐานของคุณค่าของความเป็นพลเมือง ไม่ใช่ทางความเชื่อหรือชาติพันธุ์ เขาได้เน้นย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งว่า ซุนนี และนิกาย และเชื้อชาติอื่นๆ มีความเท่าเทียมกับชาวชีอะห์ ซึ่งได้รับสิทธิและความรับผิดชอบแบบเดียวกันในการเป็นพลเมือง
ตัวอย่างหนึ่งของแนวคิดของซิสตานีที่ตอกย้ำในสิ่งที่เขากล่าว ก็คือ หลังจากที่นักการศาสนาชาวอิรักบางคนออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ในเดือนธันวาคม ห้ามมิให้ชาวมุสลิมเข้าร่วมในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซิสตานีก็ได้ออกคำตัดสินที่ตรงกันข้าม “เป็นการอนุญาตให้ยื่นไมตรีจิตแสดงความยินดีไปยังผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม รวมถึงชาวยิว และคริสเตียน และอื่นๆ ในช่วงเทศกาลของพวกเขา เช่นคริสต์มาส อีสเตอร์ และปีใหม่” เขาเขียน
บาลากี อะคาเดมี (Balaghi Academy) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาศาสนา กำลังมีส่วนร่วมในการริเริ่มนี้ของนาจาฟ โดยมีผู้อำนวยการคือ ซัยยิด เซด บะรุลอูลูม (Sayyad Zaid Bahr al-Ulum) เป้าหมายหลักของสถาบันนี้คือการโฟกัสไปยังการมีส่วนร่วมระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม สถาบันได้เป็นเจ้าภาพหลายครั้งในการเชิญชาวคริสเตียนและศาสนาอื่นๆ มายังเฮาซะห์นาจาฟ และได้ร่วมมือกับสถาบันที่ไม่ใช่อิสลามเช่นชุมชนคริสเตียน Sant’Egidio เพื่อการเสานเสวนาทางศาสนาต่อไป
ความริเริ่มนี้ของนาจาฟเกิดขึ้นจากการเติบโตของชุมชนขนาดใหญ่ภายในเฮาซะห์อิลมียะห์ที่เรียกร้องให้ปฏิเสธท่าทีหัวรุนแรงทางศาสนา และสนับสนุนการเปิดกว้างทางศาสนา ในความสัมพันธ์ของมนุษย์และรัฐที่มุ่งเน้นความเป็นพลเมืองด้วยความเท่าเทียมกัน พวกเขาคัดค้านการจัดตั้งรัฐทางศาสนาซึ่งบางพรรคการเมืองได้เรียกร้อง
CSO หลายคนได้เข้าร่วมทำงานกับเฮาซะห์ฯ เพื่อส่งเสริมค่านิยมพลเมืองในนาจาฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนโดย “เฮาซะห์อิลมียะห์ แห่งเมืองนะจาฟ”
แปล/เรียบเรียงจาก อัลมอนิเตอร์