จากกรณีนักฟุตบอล “ฮาคีม อัลอาไรบี” ฟีฟ่าสนใจแต่เรื่องเงิน ไม่ใช่ผู้เล่น

ตอนที่นักฟุตบอล “ฮาคีม อัลอาไรบี” ลงเครื่องที่สนามบินกรุงเทพกับภรรยาของเขาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะใช้เวลาฮันนีมูนในคุก หรือกลายเป็นบุคคลสำคัญในการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทย บาห์เรน และออสเตรเลีย – และความสามารถของเจ้าพ่อแห่งโลกฟุตบอลอย่าง “ฟีฟ่า” ในการจัดลำดับความสำคัญของสวัสดิการนักกีฬาเหนือกว่าการเมืองภายในของตนเอง

อัลอาไรบี ผู้ลี้ภัย อายุ 25 ปี และผู้มีถิ่นพำนักถาวรในออสเตรเลีย หนีออกจากบาห์เรนในปี 2557 หลังจากถูกจับกุมและทรมาน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในการประท้วงในปี 2554 ที่รัฐอ่าวแห่งนี้ ผู้พิพากษาชาวบาห์เรนตัดสินลับหลังให้จำคุกอัลอาไรบีถึง 10 ปี

การตัดสินว่าเขามีความผิดนั้นวางอยู่พื้นฐานมาจากการถูกบังคับให้รับสารภาพของ “อีมาด” น้องชายของเขา ซึ่งกล่าวว่าเขาและพี่ชายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ประท้วง 150 คน ที่บุกทำลายสถานีตำรวจ

จุดด่างพร้อยในคดีนี้ของอัยการก็คือ “อัลอาไรบี” กำลังเล่นอยู่ในเกมการแข่งขันฟุตบอลที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ในเวลาที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการโจมตี

อัลอาไรบี กำลังเล่นกับทีมสโมสรออสเตรเลียในช่วงเวลาที่เขาถูกจับกุมในกรุงเทพ รัฐบาลออสเตรเลียซึ่งมีชื่อเสียงในการปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัยต่อหลายๆ คนที่แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ขอลี้ภัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย กระนั้นในกรณีของอัลอาไรบีการอ้างของเขาว่า “กลัวชีวิตจะตกอยู่ในอันตราย” ก็สร้างความน่าเชื่อถือเพียงพอสำหรับรัฐบาลออสเตรเลียที่จะมอบสถานะผู้ลี้ภัยให้เขาในปี 2560

เจ้าหน้าที่ของไทยเข้ามาตรวจค้นอัลอาไรบี ที่สนามบินในกรุงเทพ เพื่อตอบสนองต่อ “หมายแดง” ที่ออกโดยองค์การตำรวจสากล (ซึ่งจะใช้สำหรับการขอความร่วมมือไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ดำเนินการติดตามและจับกุมบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจเข้าข่ายต้องมีการส่งตัวบุคคลผู้นั้นในฐานะของผู้ร้ายข้ามแดน)

บาห์เรนเป็นผู้ชงเรื่องออกหมายแดงให้ตำรวจสากล และเรียกร้องให้ส่งอาราบีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศต้นทางของเขา แม้ว่าเขาจะเดินทางมาประเทศไทยโดยใช้เอกสารการเดินทางผู้ลี้ภัยที่ออกโดยออสเตรเลีย

เรื่องที่ซับซ้อนก็คือความเป็นจริงที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ปี พ.ศ.2494 ซึ่งหมายความว่าในทางเทคนิค ไม่มีหน้าที่ทางกฎหมายระหว่างประเทศเหมือนกัน ในการปกป้องผู้ลี้ภัยที่ออสเตรเลียและผู้ลงนามอื่นๆ

ถึงกระนั้น อัลอาไรบี ก็ยังถูกควบคุมตัวจนกว่าทางการไทยจะตัดสินใจว่าจะส่งทิศทางใด – กลับไปยังบาห์เรนหรือไปยังออสเตรเลีย ในขณะเดียวกันองค์การตำรวจสากลก็ได้ “ยกเลิกหมายแดง” แล้ว ท่ามกลางคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในเบื้องต้น ตามนโยบายขององค์การตำรวจสากลนั้นไม่สามารถออกหมายจับกับผู้ลี้ภัยจากประเทศที่พวกเขาหนีออกมา

ออสเตรเลียเรียกร้องให้ส่ง อัลอาไรบี กลับไปยังดินแดนของตน แต่จนถึงขณะนี้ยังไร้ผล “ฉันไม่ต้องการอยู่ที่นี่” อาไรบีบอกเจ้าหน้าที่หลังจากเขาถูกกักขังในกรุงเทพ “ ฉันเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ฉันกลัวรัฐบาลบาห์เรน …พวกเขาจะฆ่าฉัน ฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ชีวิตของฉันจะจบลงถ้าฉันไปบาห์เรน”

รัฐบาลบาห์เรนบอกกับสื่อการ์เดี้ยนว่า อัลอาไรบีถูกตั้งข้อหา “ก่อการร้าย” แลละการอ้างว่าชีวิตของเขาจะตกอยู่ในอันตราย (หากูกส่งกลับาห์เรน) นั้นไม่มีมูลความจริง “นักเคลื่อนไหวที่อ้างว่าพูดในนามของเขา ชี้ช่องว่าชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายหากเขากลับมา… แต่เขาเพียงถูกตัดสินให้จำคุกเท่านั้น” โฆษกรัฐบาลบาห์เรนกล่าว

ปัญหานี้ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯได้ไปเยี่ยมอาไรบีหลายครั้งตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน และรัฐมนตรีต่างประเทศ นางมาริส เพย์น ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในระหว่างการประชุมแบบตัวต่อตัวกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่กรุงเทพฯ ในต้นเดือนมกราคม

และกรณีที่สองในเดือนที่ผ่านมาซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะบังคับให้คนกลับไปยังประเทศอ่าวที่พวกเขาหนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงมา ก็คือ กรณีของ “ราฮาฟ มูฮัมหมัด อัลกูนูน” วัยรุ่นชาวซาอุดีอาระเบียที่กำลังเดินทางผ่านไทยไปยังออสเตรเลียซึ่งเธอวางแผนที่จะเรียกร้องสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อไปถึงที่นั่น แต่นักการทูตซาอุดิอาระเบียก็สามารถยึดหนังสือเดินทางของเธอในสนามบินกรุงเทพฯ

อัลกูนูน ซึ่งกลัวว่าครอบครัวของเธอจะฆ่าเธอด้วยเหตุออกจากศาสนาอิสลาม ในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้ออกจากประเทศไทยเพื่อไปยังแคนาดาซึ่งเธอได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย แต่อัลอาราบีแม้จะมีสถานะผู้ลี้ภัยอยู่แล้วก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนที่คล้ายคลึงกันจากไทย

บาห์เรนนั้นปรากฏชัดว่ามุ่งมั่นที่จะเห็นความต้องการของตนประสบผล โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่แข็งแกร่งระหว่างประเทศไทยและบาห์เรน

เขียนโดย MATTHEW HALL
แปล/เรียบเรียงจาก foreignpolicy.com