นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผย การสร้างและเผยแพร่ข่าวเท็จในช่วงที่ประชาชนกำลังทุกข์โศกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากผู้กระทำ IO ต้องการสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนา ยันตนไม่เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวทีวีพูลเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม
แทบจะทุกครั้งที่มีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “นางอังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มักเป็นหนึ่งในบุคคลที่ตกเป็นเป้าของข่าวเท็จ ข่าวปลอม หรือสื่อ IO (Information Operation) ซึ่งคือ ยุทธการทางข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม
และมาครั้งนี้หลังเหตุการณ์ยิงพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป ที่อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ในสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียก็มีการส่งต่อและแพร่กระจายข้อมูล ข่าวเท็จ ข่าวปลอม มากมายที่มุ่งโจมตีนางอังคณา
ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดี (24 ม.ค.) นางอังคณา ได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวตอบโต้การปล่อยข่าวดังกล่าวว่ามิใช่การปล่อย ข่าวเท็จ ข่าวปลอม ธรรมดาๆ แต่เป็น IO แบบไทยๆ
“ขอบคุณมิตรสหายที่ส่งข่าวลักษณะ IO ที่ส่งต่อและแพร่กระจายในสื่อออนไลน์มากมายหลังเหตุการณ์พระภิกษุถูกยิงมรณภาพมาให้ด้วยความห่วงใย ยิ่งอ่านยิ่งประหลาดใจเพราะนี่ไม่ใช่แค่ #ข่าวปลอม หรือ #Fakenews ตามความหมายสากล แต่เป็น IO แบบไทยๆที่เป็นการสร้างข่าวเท็จโดยการตัดแปะเรื่องราวต่างๆมาปะติดปะต่อจนกลายเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะการกล่าวอ้างพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลามเพื่อเหยียดศาสนาอื่น”
นอกจากนั้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังกล่าววถึง “ทีวีพูลออนไลน์” สื่อบันเทิง ที่นำเสนอข่าวในเว็บไซต์ในหัวเรื่อง “อังคณา ติงทหาร กรณีใช้อาวุธปืนเด็ดหัวโจรใต้ แนะควรใช้มาตรการจับกุมจากเบาไปหาหนัก” ซึ่งนางอังคณาระบุว่า ตนไม่เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวทีวีพูลเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม
“และยิ่งอ่านข่าว TVPOOLONLINE ก็ยิ่งงง เพราะเป็นการเอาข่าวที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อนในสถานการณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมาตัดแปะ ทำให้ดูเสมือนเป็นการให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่สำคัญไม่เคยให้สัมภาษณ์นักข่าว TVPOOLONLINE ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆก็ตาม” นางอังคณากล่าว
นางอังคณากล่าวด้วยว่า “การสร้างและเผยแพร่ข่าวเท็จในช่วงที่ประชาชนกำลังทุกข์โศกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากผู้กระทำ IO ต้องการสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนา ใส่ร้ายป้ายสี สร้างข้อมูลเท็จโดยไม่ใส่ใจว่า hate speech ลักษณะนี้อาจทำไปสู่ hate crime ซึ่งจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นจนยากจะแก้ไข”
“ฝากถึงหน่วยงานที่ทำ IO บรรดาผู้รับจ้างทำ IO หรือบรรดาผู้เผยแพร่ต่อโดยไม่ตรวจสอบความจริงว่าหากยังกระทำเช่นนี้ต่อไป สถานการณ์ความรุนแรงใน จชต.อาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และอาจแปรเปลี่ยนจากความไม่เข้าใจกันกลายเป็นการขัดกันทางศาสนาก็ย่อมได้” นางอังคณากล่าว